
'สงกรานต์' เล่นน้ำไม่ประมาท 'ตำรวจ' เตือน 8 สิ่งต้องระวัง
'สงกรานต์' เล่นน้ำไม่ประมาท 'สำนักงานตำรวจแห่งชาติ' เตือน 8 สิ่งต้องระวัง เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นทั้ง ผู้ต้องหา และ เหยื่อ
วันที่ 12 เม.ย.2567 พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร.) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงเทศกาล สงกรานต์ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับ 8 สิ่งต้องระวัง ในช่วงเทศกาล สงกรานต์ ดังนี้
- สภาพของคนและยานพาหนะในการเดินทาง ก่อนเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ ศึกษาเส้นทางในการเดินทาง รวมถึงตำแหน่งสถานีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในเส้นทาง และควรตรวจเช็คสภาพรถให้มีความพร้อมในการขับขี่
- การขับขี่รถจักรยานยนต์ ควรสวมใส่หมวกนิรภัยตลอดเวลา ทั้งคนขับและคนซ้อน เมื่อขับขี่มาถึงบริเวณที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ ควรขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ ไม่เบรกกะทันหัน เพราะอาจทำให้รถจักรยานยนต์เสียหลัก หรือรถที่ขับขี่ตามหลังหยุดไม่ทัน และควรใช้มือทั้งสองข้างจับแฮนด์รถจักรยานยนต์ไว้ให้มั่น
- ไม่ขับขี่ขณะเมาสุรา หากขับขี่ขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุจนผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- ไม่โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมข้อความชักชวน เข้าข่ายผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ โทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ไม่โพสต์ภาพวาบหวิวหรือภาพลามก เข้าข่ายผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีลักษณะอันลามก โทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การถูกทำอนาจารหรือคุกคามทางเพศ จากผู้ไม่หวังดี อาจอาศัยจังหวะที่คนหนาแน่น โดยเฉพาะผู้ที่แต่งกายวาบหวิว จะต้องระวังตัวเป็นพิเศษ
- การถูกลักทรัพย์ กรณีเดินทางกลับต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีคนอาศัยอยู่ที่บ้าน ควรที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือเข้าร่วมโครงการ “ฝากบ้าน 4.0” เพื่อยกระดับความปลอดภัย นอกจากนี้ ไม่ควรนำทรัพย์สินมีค่าติดตัวไป เล่นน้ำ สงกรานต์ เพราะเป้าหมายของมิจฉาชีพ
- อุบัติเหตุจากการเล่นน้ำ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำท้ายรถกระบะ ว่ายน้ำในลำคลอง การสาดน้ำหรือฉีดน้ำใส่รถจักรยานยนต์ ล้วนแต่นำมาสู่อุบัติเหตุ อาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ จึงควรใช้ความระมัดระวัง และดูแลบุตรหลานตลอดเวลา
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุ หรือ ขอความช่วยเหลือ สามารถโทรศัพท์มาที่ สายด่วน 191 หรือสายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 หรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง