ข่าว

เลวร้ายที่สุดในชีวิต 'ผู้พิการ' โอด 'สายการบิน' ปฏิเสธผู้โดยสาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลวร้ายที่สุดในชีวิต 'ผู้พิการ' เปิดใจถูก 'สายการบิน' 'ปฏิเสธผู้โดยสาร ร้อง 'สภาทนายความ' ช่วยเหลือ ชี้เข้าข่าย 'ละเมิดสิทธิ' คนพิการ

ผู้พิการ ร้องสภาทนายความช่วยเหลือ กรณีถูกสายการบินปฏิเสธ ผู้โดยสาร

วันที่ 18 มี.ค.2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ตัวแทนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล ยื่นหนังสือขอให้ สภาทนายความ ช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณี สายการบินต่างชาติ แห่งหนึ่ง ปฏิเสธ ไม่ให้เดินทาง ด้วยเหตุผลไม่สามารถเดินเองได้

 

โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสัญญา ภัชระสามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล นายวรกร ไหลหรั่งประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านบุคคลพิการ ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส สภาทนายความ และนายสนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ รองประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านบุคคลพิการ ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส สภาทนายความ รับเรื่อง

 

นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวลฯ ได้เรียกร้องให้ สภาทนายความ ดำเนินการด้านกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา และป้องกันมิให้มีการ เลือกปฏิบัติ ต่อ ผู้พิการ หรือข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว

นายกฤษนะ กล่าวว่า วันนี้มาในฐานะตัวแทนภาคี ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวลที่ทำงานเพื่อคนพิการ มาเพื่อขอเป็นธรรม ด้านกฎหมายต่างๆเรื่อง สายการบิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตนถูก ปฏิเสธ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา จะเดินทางไปทำงานที่ จ.พะเยา ต้องขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปเชียงรายแล้วต่อรถยนต์ โดยนัดผู้ใหญ่ อย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัด

 

“วันนั้นได้จอง สายการบิน หนึ่ง ไฟล์ทเช้า เวลา 06.30  ทราบข่าวมาบ้างว่า สายการบิน นี้ ปฏิเสธ ไม่รับ คนพิการ แต่ปกติผมก็เดินทางบ่อยทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่เคยเจอปัญหา วันดังกล่าวมีทีมงาน 5 คน คอยช่วยอำนวยความสะดวก เวลาเดินทาง เมื่อไปถึงเคาน์เตอร์เช็คอินของ สายการบิน ดังกล่าว ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ แจ้งว่าทาง สายการบิน ไม่มีนโยบายบริการดูแล คนพิการ ใช้วีลแชร์ ไม่มีรถเคบินวีลแชร์ รวมทั้งพนักงานบริการ ให้เหตุผลว่าเดินเองไม่ได้

 

“พออธิบายว่ามีงานสำคัญ นัดผู้ใหญ่คนสำคัญไว้แล้ว และมีทีมงานเดินทางไปด้วย ท้ายที่สุดทาง สายการบิน ยืนยันว่าเดินทางไม่ได้ รู้สึกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิต กับการเดินทางด้วยสายการบิน รู้สึกช็อกมาก รู้สึกว่ายังมีการเลือกปฏิบัติกับ คนพิการ อยู่ ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในปัจจุบันอีกแล้ว” นายกฤษณะกล่าว และว่า

นายกรัฐมนตรี มีนโยบายศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) หากมีบุคคลอื่นหรือคนต่างชาติถูก ปฏิเสธ อาจจะทำลายชื่อเสียงของประเทศได้ วันนี้จึงมาขอความช่วยเหลือกับทาง สภาทนายความ ขอความเป็นธรรม เกี่ยวกับการละเมิดเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเรียกร้องไม่ให้เกิดเหตุนี้อีก

 

นอกจากนี้มีผู้พิการใช้วีลแชร์ อีกราย ระบุว่า เคยถูก สายการบิน ดังกล่าว ปฏิเสธ ด้วยเช่นกัน

 

ด้าน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความ เล็งเห็นความสำคัญของ คนพิการ และส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลพิการ ที่ผ่านมา สภาทนายความ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายและปฏิบัติงานทางคดีให้แก่ คนพิการ หรือองค์กรด้าน คนพิการ และจัดอบรมให้ความรู้ทางกฎหมาย รวมถึงพัฒนากฎหมายและนโยบายสาธารณะให้สิทธิคนพิการเป็นจริงตามอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิ คนพิการ (Convention on the Right of People with Disability, CRPD) เป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ส่งเสริมพิทักษ์และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และมีความเสมอภาพ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ สภาทนายความ จะตั้งคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางคดีต่อไป

 

ดร.วิเชียร กล่าวต่อว่า สภาทนายความ จะดูแลข้อกฎหมายให้ คนพิการ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีโอกาสเท่าเทียมหรือมากกว่าคนปกติ หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนในวันนี้ จะช่วยเหลือเต็มที่

 

“ถ้าตามหลักการแล้วทุก สายการบิน ไม่สามารถ ปฏิเสธ คนพิการ ได้ และยังมีอนุสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ส่วนบทลงโทษ สายการบิน นั้น เพราะจะต้องไปดูระเบียบข้อกฎหมายอีกที เบื้องต้นน่าจะผิด ละเมิดสิทธิ เเละเป็นเรื่อง ละเมิดสิทธิ คนพิการ เป็นคดีแพ่ง” นายกสภาทนายความ กล่าว

 

ด้าน นายสนธิพงศ์ รองประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านบุคคลพิการฯ กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ.2550 มีการบัญญัติไว้ว่า กรณีที่มีการทำให้ คนพิการ เสียสิทธิ ได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรม สามารถนำคดีร้องสู่กรรมการส่งเสริมฯ และพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ ให้วินิจฉัยว่า บุคคลนั้นมีการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อ คนพิการ หรือไม่ และมีการบัญญัติไว้อีกด้วยว่า คนพิการ ที่ได้รับความเสียหาย หรือจะได้รับความเสียหาย จะสามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องเป็นความผิดฐานละเมิดได้ และสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ไม่เกิน 4 เท่า ของความเสียหายที่แท้จริง

 

นายสนธิพงศ์ กล่าวด้วยว่า ยังมี ความผิดอาญา พ.ร.บ.การเดินอากาศ บัญญัติไว้ทำนองว่า กรณีที่ ปฏิเสธ รับผู้โดยสาร ที่เป็น คนพิการ ถ้าไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องความปลอดภัย เพราะจะมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท นอกจากนี้ยังมีเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

 

ด้าน นางสุพรณี ผู้ประสบอุบัติเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง เปิดเผยว่า มาให้กำลังใจพวกพี่ๆ คนพิการ ส่วนเรื่องคดีผ่านมา 9 เดือนแล้ว เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.2566 ได้เรียกร้องค่าเสียหายไป ตอนนี้อยู่ระหว่างประกันของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เจรจากับพวกตนอยู่ ต่อรองเรื่องราคา

 

นางสุพรณี กล่าวต่อว่า อยากเรียกร้องหน่วยงานที่เหี่ยวข้อง ให้ช่วยเหลือตามมาตรการให้เร็วขึ้น เพราะตอนนี้ใกล้กำหนดเวลา 1 ปี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ