ข่าว

หมายจับ 9 นายทุนใหญ่-บริษัท ‘คดีตีนไก่เถื่อน' พบจ่ายส่วย5หน่วยและสื่อด้วย

หมายจับ 9 นายทุนใหญ่-บริษัท ‘คดีตีนไก่เถื่อน' พบจ่ายส่วย5หน่วยและสื่อด้วย

28 ก.พ. 2567

DSI ออกหมายจับ 9 นายทุนใหญ่-บริษัท ‘คดีตีนไก่เถื่อน' พบ ‘จ่ายส่วย’ เจ้าหน้าที่รัฐถึง 5 หน่วย รวมถึงสื่อมวลชนด้วย

วันที่ 29 ก.พ.2567 พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน คดีหมูเถื่อน และ คดีตีนไก่เถื่อน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 คณะพนักงานสอบสวนได้แสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมสำหรับประกอบสำนวนคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือ คดีตีนไก่ สวมสิทธิ โดยได้เข้าตรวจค้น 2 บริษัท ในจ.นนทบุรี  เปิดเป็นโรงงานแช่เนื้อสัตว์และชิ้นส่วนสัตว์ขนาดใหญ่ ประเภทหมู ไก่ และวัว ทั้งยังอยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากร

 

โดยการเข้าตรวจค้น สามารถตรวจยึด อาทิ ซากสัตว์ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรับขนสินค้าระหว่างประเทศ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ สมุดบัญชีธนาคาร ใบถอนเงิน-ฝากเงิน เอกสารการโอนเงินระหว่างประเทศ เอกสารทางการเงิน เป็นต้น

 

เป็นเหตุให้มีการขยายผล ขอศาลอาญาออก หมายจับ รวม 9 หมาย แก่บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ และบางส่วนรับหน้าที่เป็นนอมินี 5 ราย ประกอบด้วย นายประกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ แห่งหนึ่ง น.ส.ชนิสรา กรรมการผู้จัดการผู้จัดการ บริษัท เดียวกัน นายกิตติ นายภูวดล  นายพลภัทร รวมทั้งหมายจับ นิติบุคคล 4 หมาย 4 บริษัท

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า  ส่วนสาเหตุที่ออกหมายจับเนื่องมาจากทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์ 90 ตู้ ที่ตกค้างอยู่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยเกี่ยวข้องในจำนวน 25 ตู้ ภายในบรรจุสินค้าแช่แข็งประเภทหมูและไก่ โดยสินค้านำเข้ามาในเขตปลอดอากร จากนั้นมีการอำพรางขายกระจายทั่วประเทศไทย

 

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับบุคคลในหมายจับนั้น ถือเป็นนายทุนรายใหญ่ และใหญ่กว่า เฮียเก้า ผู้ต้องหา คดีตีนไก่สวมสิทธิ เนื่องจากกลุ่มคนตามหมายจับมีการ จ่ายส่วย ให้บุคคลที่ถูกระบุว่า “เฮียเก้า” โดยการจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร ยอดเงินเดือนละ 400,000 บาท พบรายการจ่ายเงินเพียง 2 เดือนในห้วงปี  2565 และที่สำคัญชิ้นส่วนสุกรครึ่งประเทศอยู่ที่โรงงานดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ ดีเอสไอ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 3 ราย คือ นายประกร มีพฤติการณ์รับรู้การ จ่ายส่วย ต่าง ๆ น.ส.ชนิสรา และนายพลภัทร พฤติการณ์เป็นคน จ่ายส่วย รายเดือนและรายตู้ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ คือ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์  ทั้งนี้ ผู้ต้องหาที่เหลืออีก 2 ราย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ อยู่ระหว่างติดตามจับกุม

 

นอกจากนี้ จากการตรวจค้นบริษัทฯ เรายังพบเอกสารจดบันทึกรายการจ่ายเงิน หรือบัญชี จ่ายส่วย บัญชีธนาคาร ซึ่งพบผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งนายตำรวจ ทหาร ปลัด เจ้าหน้าที่ของรัฐ และสื่อมวลชนบริเวณจังหวัดชายแดน ที่บริษัทมีการส่งสินค้าข้ามแดนและรับสินค้าข้ามแดนอีกด้วย โดยจะเชิญบุคคลที่อยู่ในบัญชีส่วยทั้งหมดมาสอบปากคำในฐานะพยานต่อไป

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ฐานกระทำความผิดโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 มาตรา 244 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 ฐานฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 ประกอบมาตรา 60 มาตรา 61 ฐานเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ประกอบมาตรา 83