ข่าว

ศาลอาญา ไม่ให้ประกัน ‘ตะวัน-แฟรงค์’ เจ้าตัวเตรียมอดข้าว อดน้ำ ประท้วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญา ไม่ให้ประกัน ‘ตะวัน-แฟรงค์’ คดี ม.116 - พ.ร.บ.คอมฯ ชี้โทษสูง ไม่ยำเกรงกฎหมาย ด้าน ‘ตะวัน-แฟรงค์’ เตรียมอดข้าว อดน้ำ ประท้วง

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 67 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ดินแดน ยื่นคำร้อง ฝากขัง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 22ปี  หรือตะวัน นักเคลื่อนไหวอิสระ และ  นายณัฐนนท์ หรือแฟรงค์ อายุ 23 ปี ผู้ต้องหาที่ 1-2 ผู้ต้องหา ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ,

 

ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาและร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ , ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มาขออำนาจศาลฝากขัง

 

คำร้องระบุพฤติการณ์ สรุปว่า วันที่ 4 ก.พ.67  เวลา18.20น. นายณัฐนนท์หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ สีขาว โดยมี น.ส.ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้โดยสารนั่งอยู่บริเวณด้านหน้าข้างคนขับ เมื่อมาถึงบริเวณทางร่วมเข้าต่างระดับมักกะสัน แขวงสามเสนใน มี พ.ต.ท.ชญานิน พันธ์ภักดี สว.งานศูนย์ควบคุมจราจรทางด่วน 2 กก.2 บก.จร. เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย สั่งให้หยุดรถที่มาจากทางร่วมเป็นการชั่วคราวเพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยต่อขบวนเสด็จที่กำลังจะผ่าน

ในเวลาต่อมาปรากฏว่า นายณัฐนนท์ หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาที่ 2 พยายามขับรถมาที่ด้านหน้า แต่ไม่สามารถขับผ่านไปได้เนื่องจาก พ.ต.ท.ชญานินและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติอยู่ในบริเวณนั้นได้ใช้สัญญาณมือให้หยุดจราจร ผู้ต้องหาที่2 จึงได้บีบแตรส่งเสียงดังดังต่อเนื่องยาวประมาณ 1 นาที ในลักษณะถึงแสดงถึงความไม่พอใจ

 

ในขณะเดียวกัน น.ส.ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 ส่งเสียงตะโกนออกมา จากนั้นเมื่อขบวนเสด็จผ่านพ้นไปแล้วจึงได้เปิดการจราจรให้รถยนต์วิ่งผ่านไปได้ตามปกติ แต่ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวขับรถออกไปด้วยความเร็ว จนประชิดรถปิดท้ายขบวนเสด็จที่บริเวณทางลงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่รถปิดท้ายขบวนจึงได้สกัดกั้นรถของกลุ่มผู้ต้องหา เมื่อหยุดรถคันดังกล่าวแล้ว จึงเข้าพูดคุยแต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาที่1 ได้ถือโทรศัพท์มือถือลักษณะขึ้นมาถ่ายทอดออกอากาศสดผ่านทางช่องเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า "Tawan Tantawan" ในลักษณะตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ขณะเดียวกันผู้ต้องหาที่ 2 ได้บีบแตรส่งเสียงดังต่อเนื่องลากยาวในลักษณะที่แสดงถึงความไม่พอใจ ส่งเสียงดังรบกวน ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน สัญจรผ่านไปมาที่บริเวณนั้น และกล่าวดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง อันเป็นการประทุษร้ายต่อเกียรติศักดิ์ศรีข้าราชการตำรวจ

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อหาผู้ต้องหาที่1 ว่า  "ร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ" และกล่าวหา ผู้ต้องหาที่ 2 "ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ร่วมกันกระทำด้วยประการใด อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะและใช้เสียงสัญญาณ เสียงยาวหรือช้ำโดยไม่มีเหตุอันควร" ให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ต่อมา พ.ต.ท.สรัล.สุรเดชานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรอง ผกก.สส.สน.ดินแดง ได้สืบสวนหาพยานหลักฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปรากฏ พบว่าในการไลฟ์สดของ น.ส.ทานตะวัน ผู้ต้องหาที่ 1 บัญชี  "Tawan Tantawan" เป็นบัญชีเฟซบุ๊กสาธารณะ มีผู้ติดตามมากกว่า 37,000 คน มีประชาชนทั่วไปเข้ามาแสดงความคิดเห็นถกเถียงกันเป็นวงกว้าง ทั้งในทางที่ "เห็นชอบด้วย" และ ไม่เห็นชอบด้วย"สร้างประเด็นให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ.67 พ.ต.ท.สรัล กับพวก ยังได้ตรวจสอบพบว่าเฟซบุ๊กส่วนตัวของน.ส.ทานตะวัน มีการโพสต์ภาพคลิปเหตุการณ์จากกล้องหน้ารถ คันที่ใช้ขับขี่ในวันเกิดเหตุ

 

ต่อมาวันที่ 13 ก.พ. 67 พนักงานสอบสวน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่2 และเวลา 16.45น. ตำรวจชุดจับกุม เข้าจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 คน บริเวณทางเดินเท้าหน้าศาลอาญา นำส่งพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ดำเนินคดี

 

ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน โดยประสงค์ให้การในชั้นศาลเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน

 

เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานอีก 7 ปาก เป็นพยานชุดจับกุมและประจักษ์พยาน , รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2  ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงขอหมายขังผู้ต้องหาที่1-2 ระหว่างการสอบสวนกำหนด 12 วันตั้งแต่วันที่ 14-25 ก.พ.67

 

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านหากผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงประกอบกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เป็นการกระทำโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวไป เกรงว่าอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก แต่ถ้าหากศาลเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน พนักงานสอบสวนขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดในขณะนี้อีก

 

ทั้งนี้จากข้อมูลและประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวก พบว่าเมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว มีการกลับมากระทำความผิดลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก หากไม่มีการควบคุมกำหนดมาตรการบังคับหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เคร่งครัด เป็นการยากในการควบคุมดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภาพลักษณ์ภายในประเทศ

 

ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้

 

วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ตำรวจสน.พระราชวัง ได้นำตัว นายนภสินธุ์ หรือสายน้ำ อายุ19 ปี  นักศึกษา มาฝากขังครั้งแรก 12 วัน ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหายทำลายทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาณฯ โดยศาลอนุญาตฝากขังได้

 

ต่อมาในช่วงเย็น นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว นายนภสินธุ์ ตีราคาประกัน 3.5 หมื่นบาท โดยกำหนดเงื่อนไขก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องในคดีอีก

 

ในส่วนของ น.ส.ทานตะวัน และ นายณัฐนนท์ หรือแฟรงค์ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหามีลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม หากให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายลักษณะเดียวกันนี้หรือประการอื่นอีกทั้งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง ส่วนจะยื่นประกันซ้ำหรือไม่ต้องปรึกษาผู้ต้องหาอีกครั้ง ในส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอถอนประกัน ทราบจากข่าวผู้ต้องหายังมีคดีอื่นในศาลอาญา เเละศาลอาญากรุงเทพใต้ฯ

 

จริงเเล้วตะวันจะไม่ยื่นประกันในคดีนี้ด้วยซ้ำ ตนเป็นคนขอร้องว่าต้องไปเรียนหนังสือและมีเรื่องหลายเรื่องควรจะหาทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยวิธีการอื่นดีกว่าคือตัวเขาเอง เขาไม่ได้หนักใจเรื่องประกันตัว เพราะเขาเองมีความตั้งใจที่จะไม่ประกันตัวอยู่แล้ว เเต่เห็นว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรควรจะออกมาต่อสู้คดีเพราะการที่ไปถูกขังในเรือนจำมาต่อสู้คดีไม่ได้

 

ทั้งนี้ น.ส.ทานตะวัน ได้ฝากข้อความเป็นลายมือถึงผู้สื่อข่าวความว่า “นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวเข้าเรือนจำ เราไม่เหลืออะไรนอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้ หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลืออยู่สู้ต่อไป หนูและแฟรงค์จะอดอาหารและน้ำประท้วงเพื่อ 3 ข้อเรียกร้องโดยจะไม่ยื่นประกันตัว 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2. ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก และ 3. ประเทศไทยไม่ควรเป็นคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชน”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ