ข่าว

โฆษกอัยการ แจงปมตีกลับสำนวน 'กราดยิงพารากอน' ชี้ เยาวชน 14 ยังสู้คดีไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โฆษกอัยการ แจงเหตุตีกลับสำนวน "กราดยิงพารากอน" ชี้ แพทย์ยืนยัน "เยาวชน 14" ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เหตุ “ไม่มีความเข้าใจ ตระหนักรู้เรื่องของข้อกล่าวหา“ หลังหมดเวลาผัดฟ้อง 31 ธ.ค. ทางแพทย์อาจขอตัวรักษาต่อได้

29 ธ.ค. 2566 นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณี อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว ส่งคืนสำนวนของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ซึ่งกล่าวหาว่า เยาวชนอายุ 14 ปี ตกเป็นผู้ต้องหา ในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาอื่นๆ รวม 5 ข้อหา แต่เมื่อรายงานของแพทย์ในการตรวจรักษาผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยืนยันว่ายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงต้องตีกลับสำสวนไปให้ทางพนักงานสอบสวน


 

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

 

 

โฆษกอัยการสูงสุด ระบุว่า เมื่อคืนสำนวนไปแล้ว ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 14 เนื่องจากกระบวนการใดๆ ที่พนักงานสอบสวน ดำเนินการไปโดยไม่ยึดหลักกฎหมายดังกล่าวก็ต้อง ถือว่าเป็นกระบวนการสอบสวนที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

 

ซึ่งคดีนี้เมื่อได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน นางศจีมาศ บัวรอด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีและคณะทำงานอัยการได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยังมีอาการป่วยอยู่ และเป็นคนไข้ของสถาบันกัลยาราชนครินทร์ มาโดยตลอดโดยมีใบรับรองประเมินผลการตรวจรักษายืนยันว่าผู้ต้องหายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ 

 

เมื่อข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันเช่นนี้ การพิจารณาของพนักงานอัยการไม่มีประเด็นอื่นนอกจากคืนสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนรอกระบวนการ บำบัดรักษาจากคุณหมอที่ประเมิน ตรวจผู้ต้องหาว่าอยู่ในภาวะปกติ และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ภายในอายุความ 20 ปี


 

โฆษก อสส. แจงปมตีกลับสำนวนคดี กราดยิงพารากอน

 

 

เมื่อการสอบสวนชอบด้วยกฏหมายและทำการสอบสวนเสร็จแล้วค่อยส่งสำนวนให้ พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายอีกครั้ง จากการประสานกับแพทย์ ทราบเบื้องต้นว่าช่วง ม.ค.ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการตรวจรักษาจะมีการประชุมเพื่อประเมินอาการของผู้ต้องหาอีกครั้ง แต่การควบคุมตัวตามกฎหมายจะครบกำหนดระยะผัดฟ้องครั้งสุดท้าย ในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 นี้

 

อย่างไรก็ตาม ทางแพทย์และคณะกรรมการตรวจรักษาผู้ต้องหา จะมีการเดินทางไปพบผู้ปกครองของผู้ต้องหา และจะมีการแจ้งว่าเด็กยังมีอาการ ป่วยอยู่ทางทีมที่บำบัดรักษาจะขอรับตัวไปบำบัดรักษาต่อ หากผู้ปกครองเข้าใจและอนุญาต ถ้าคุณหมอก็จะรับตัว ผู้ต้องหากลับไปเป็นคนไข้เพื่อรักษาต่อตามปกติ แต่ สมมติว่า ผู้ปกครองไม่ยอมและไม่อนุญาต หากทางคณะกรรมการของแพทย์ประเมินแล้วว่าจำเป็นจะต้องดูแล ผู้ต้องหาเพื่อป้องกันอันตราย สำหรับตัวผู้ต้องหาเอง และสังคม  

 

อาจจะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 บังคับ ที่จะเอาตัวผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อ ซึ่งระยะเวลาการควบคุมตัวของ แพทย์ผู้รักษา มีกรอบกฎหมายชัดเจนอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 จะมีการแจ้งผลการตรวจรักษาให้กับพนักงานสอบสวน ทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ต้องหาจะหายและสามารถต่อสู้คดีได้ เพราะเราไม่สามารถจะนำคนป่วยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แต่ถ้าหายป่วยเเล้วก็ได้ไม่ต้องรอ 180 วัน ทีมแพทย์ที่รักษาสามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อดำเนินการสอบสวนได้ทันที

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ