ปอศ. ลุยจับแก๊ง 'โกงบัตรเครดิต' รูดซื้อไอโฟน ไปขายแลกเงินเสียหายกว่า 30 ล้าน
"ปอศ." บุกรวบแก๊ง "โกงเงินบัตรเครดิต" รูดซื้อไอโฟนขายแลกเงิน เสียหายกว่า 30 ล้านบาท เข้าค้นหลายจุด ใน จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.สระบุรี และกรุงเทพฯ จับ 11 ผู้ต้องหา ยึดของกลางเพียบ ทั้งหมดยังให้การปฏิเสธ
29 พ.ย. 2566 พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) สั่งการ พ.ต.อ.เมฆพิศาล ศรีภิรมย์ ผกก.5 บก.ปอศ. กระจายกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมายหลายแห่งในพื้นที่ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.สระบุรี และกรุงเทพฯ เพื่อกวาดล้างแก๊งโกงวงเงินบัตรเครดิต จับกุมผู้ต้องหาได้ 11 ราย ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกง ,ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยประการที่น่าจะรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี"
พร้อมของกลาง บัตรเครดิต 49 ใบ โน๊ตบุ๊ก 2 เครื่อง โทรศัพท์ยี่ห้อแอปเปิ้ล รุ่น I phone 46 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่นๆ อีก 3 เครื่อง สมุดบัญชี 11 เล่ม, สำเนาบัตรนักศึกษา 20 ใบ ซิมการ์ด 136 ชิ้น ไอแพด 10 เครื่อง , เงินสด 62,000 บาท , สร้อยคอสีทอง 1 เส้น , สร้อยข้อมือสีทอง 1 เส้น แหวนสีทอง 1 วง , รถยนต์ MG สีเทา 1 คัน และ รถยนต์ เบนซ์ สีขาว 1 คัน
แฉกลโกงบัตรเครดิต
สืบเนื่องจากเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา มีบริษัทให้บริการบัตรเครดิตแห่งหนึ่ง ตรวจสอบพบการทำธุรกรรมน่าสงสัยของกลุ่มลูกค้าที่มีวงเงินบัตรเครดิตไม่เกิน 25,000 บาท หลังพบว่ามีการทำทีโอนเงินสดเข้ามาเพื่อเพิ่มวงเงินในบัตรเครดิตของตนเอง จำนวน 1.9 ล้านบาท
จากนั้นก็จะโทรไปขอยกเลิกรายการ และขอรับเงินคืนกับทางคอลเซ็นเตอร์ อ้างว่าโอนเงินผิด แต่ในระหว่างที่บริษัทฯ กำลังดำเนินการโอนเงินคืนกลับให้ ลูกค้ากลุ่มนี้กลับฉวยโอกาสที่บริษัทฯ ยังไม่ตัดยอดวงเงิน 1.9 ล้านในบัตรเครดิต หรือ ยอดวงเงินคงค้าง รีบนำบัตรไปใช้ซื้อโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านร้านค้าออนไลน์จำนวนหลายรายการจนครบวงเงินในทันที
อีกทั้งยังพบว่า หลังได้รับเงินคืนจากทางบริษัทแล้วนั้น กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ก็จะเร่งถอนเงินสดออกจากระบบในทันที จากพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายกับทางบริษัทเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท
แกะรอยตามล่าแก๊งโกงบัตรเครดิต
หลังทราบเรื่องเจ้าหน้าที่จึงแกะรอยสืบหาเบาะแส จนทราบว่า กลุ่มลูกค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มขบวนการเดียวกัน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ อาทิ กลุ่มนายทุน กลุ่มนายหน้าคอยชักชวนบุคคลอื่นมาเปิดบัญชีธนาคาร และสมัครบัตรเครดิต กลุ่มคนที่หวังผลประโยชน์ และเจ้าของบัตรเครดิตที่ถูกชักชวน โดยอาศัยช่องว่างของระบบที่สามารถนำวงเงินคงค้างไปใช้ได้
จากนั้นก็จะนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างๆ แล้วนำไปขายต่อให้กับร้านโทรศัพท์ ก่อนนำเงินที่ได้มาแบ่งกัน
หลังสืบทราบจึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับ และนำมาสู่การจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย แบ่งเป็นกลุ่มนายหน้า 4 ราย กลุ่มเจ้าของบัตรเครดิต 4 ราย และกลุ่มนายทุน 3 ราย
จากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย ให้การปฏิเสธ จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป