ข่าว

ย้อนเส้นทาง 'หมูเถื่อน' สะเทือน DSI หายนะประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สรุปเส้นทาง 'หมูเถื่อน' สะเทือน DSI ภัยร้ายที่ต้องจัดการ ก่อนนำไปสู่ หายนะประเทศ เรื่องของ หมู ที่ไม่หมู อีกต่อไป

ปัญหา “หมูเถื่อน” สั่นสะเทือนถึงดีเอสไอ หลังนายกเศรษฐา ฉุนจัด สั่งแก้ปัญหาหลายรอบ แต่ล่าช้า ไม่เป็นผล จนคาดว่า เป็นที่มา คำสั่งเด้ง อธิบดี DSI “พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล” คมชัดลึก พาย้อนเส้นทาง “หมูเถื่อน” บทพิสูจน์การทำงานของรัฐบาล เพื่อสาวถึงต้นตอรายใหญ่ ปิดจ๊อบขบวนการได้หรือไม่ ก่อนนำไปสู่หายนะประเทศ

ลับลอบนำเข้าหมูเถื่อน

เปิดไทม์ไลน์เส้นทาง “หมูเถื่อน” สะเทือนดีเอสไอ

 

 

ปัญหาหมูเถื่อนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนายกฯเศรษฐา แต่เป็นปัญหาสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน จากการที่ผลผลิตหมูภายในประเทศลดลง จนไม่เพียงพอต่อการบริโภค นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในปี 2564

 

 

โดยจำนวนหมูในปี 2564 คือ 19.28 ล้านตัว ปี 2565 ลงลดอีกเหลือ 15.51 ล้านตัว ขณะเนื้อหมูที่ต้องใช้บริโภคในประเทศคือปีละ 18 ล้านตัว ทำให้ปี 2565 ขาดแคลนหมู 2.49 ล้านตัว

 

 

เมื่อหมูมีน้อย กำลังการผลิตกับความต้องการของประชาชนไม่สัมพันธ์กัน ทำให้เนื้อหมูมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ คนบางกลุ่มจึงสบโอกาสนำเนื้อหมูผิดกฎหมาย ซึ่งมีราคาถูกกว่า เข้ามาในประเทศ หรือเรียกว่า “หมูเถื่อน”

ย้อนเส้นทาง \'หมูเถื่อน\' สะเทือน DSI หายนะประเทศ

นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 ที่ดีเอสไอ (DSI) รับคดี “หมูเถื่อน” จากกรมศุลกากร มาดำเนินการสืบสวน-สอบสวนเชิงลึก เพื่อหาตัวผู้กระทำผิด นำไปสู่การจับกุมหมูเถื่อน 161 ตู้ ในเดือน ก.ค. 2566 ที่มีทั้งที่ดิน รถยนต์ เงินฝากในบัญชีธนาคาร มูลค่ารวม 53 ล้านบาท

 

 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีการจับกุมการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ก่อนหน้านี้ คดีหมูเถื่อน มีการพาดพิงนักการเมือง ชื่อย่อ ป, ผ, ช, ในพื้นที่ จ.นครปฐม, สุพรรณบุรี, ราชบุรี อยู่เบื้องหลังการนำเข้าและการค้าหมูเถื่อน ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อจริงให้สังคมรับทราบ จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของ DSI ที่ต้องตีแผ่ให้ชัดเจนเอาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย สร้างความโปร่งใสในการดำเนินคดีและกระบวนการยุติธรรมของไทย

จับหมูเถื่อน

 

ข้อสั่งการนายกฯ แก้ปัญหา “หมูเถื่อน” ชนวนเดือด

 

12 ต.ค. 2566

  • นายกฯเศรษฐา แจงที่รัฐสภา ประสานอธิบดีกรมศุลกากร เชิญเจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลและพยายามให้มีแผนจัดการ “หมูเถื่อน” โดยเร็ว

 

15 ต.ค. 2566

  • นายกฯเศรษฐา เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหา การลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์ โดยสั่งเร่งรัดติดตามการดำเนินคดี ยึดทรัพย์ ผู้กระทำความผิด และสนับสนุนการกระทำความผิด

 

23 ต.ค. 2566

  • นายกฯเศรษฐา สั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามหมูเถื่อน โดยให้ ธ.ก.ส. และกรมปศุสัตว์ ช่วยให้ทุนกับผู้ค้าสุกรรายกลางและรายย่อย

 

12 พ.ย. 2566

  • ก่อนเดินทางไปประชุมเอเปค นายกฯเศรษฐา ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามปัญหา “หมูเถื่อน” สอบถามความคืบหน้าข้อสั่งการ กลางสนามบินสุวรรณภูมิ จนถึงขนาดนายกฯ ฟิวส์ขาด ฉุนใส่ “อธิบดี DSI”

 

“ผมเชิญท่านมาพบ ท่านมาที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วรอบหนึ่ง ทำไมช้าจัง จัดการให้มันเร็วๆ หน่อยได้ไหม มันจับมาได้ตั้งเยอะแยะแล้ว ทำไมไม่สั่งการสักทีหนึ่ง ผมสั่งการไปแล้วก็ไม่ทำ ไม่หาตัวรายใหญ่ เข้าถึงตัวไม่ได้สักที ตอนนี้มีกี่ราย ตอนนี้จับมามี 10 รายแล้วใช่ไหม” นายกฯฉุน

นายกฯฉุนแก้ปัญหาหมูเถื่อนล่าช้า

หลังจากนั้น ในวันที่ 14 พ.ย. 2566 ดีเอสไอ คุมตัว 2 พ่อลูก กลุ่มนายทุนผู้สั่งการนำเข้าหมูเถื่อน ที่ถูกออกหมายจับ ในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร และ ข้อหานำเข้าส่งออกสัตว์ หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เข้าสอบปากคำ หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ

 

 

ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ให้ข้อมูลว่า นำเข้าหมูเถื่อนมาตั้งแต่ปี 2564 เมื่อสินค้ามาถึงไทย ต้องเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ หากไม่เคลียร์จะไม่ได้ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยค่าใช้จ่ายที่เช่าวางตู้คอนเทนเนอร์ วันละ 3,000 บาท/วัน ดังนั้น ชิปปิ้งเอกชนก็ต้องนำเงินที่ได้รับจากนายทุน ไปเคลียร์กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

 

 

นอกจากนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ยังให้การยอมรับว่า ขายหมูเถื่อนให้ศูนย์กระจายสินค้าแบบขายส่งขนาดใหญ่ของประเทศรายหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้พบเอกสารการสำแดงเท็จส่วนหนึ่งจากกรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมศุลกากร จนทราบว่า บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ตกเป็นผู้เสียหาย หรือเป็นผู้เข้าร่วมขบวนการหมูเถื่อน

 

 

27 พ.ย. 2566 ดีเอสไอ เริ่มปฎิบัติการ ขออำนาจหมายศาล เข้าตรวจค้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และขอเอกสารการซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าว เพื่อหาหลักฐานนำมาประกอบสำนวน และเร่งติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีหมูเถื่อน ซึ่งบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้อง

 

 

ปฎิบัติการเด้งฟ้าผ่า อธิบดี DSI

 

 

28 พ.ย. 2566 มีคำสั่งเด้ง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล จากตำแหน่ง “อธิบดี DSI”  โดยให้ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม จากคำสั่งเด้งครั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่า “หมูเถื่อน” พ่นพิษแล้ว แต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ออกตัวว่า คำสั่งย้ายไม่เกี่ยวกับคดี “หมูเถื่อน” แต่เป็นการให้มาช่วยขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญ

สถิติการจับกุมหมูเถื่อน

 

สถิติการจับกุม “หมูเถื่อน”

 

สำหรับสถิติการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน พบว่า ภายใน 1 ปี มีการจับกุมเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า

 

  • ปีงบประมาณ 2564 จับกุมได้เพียง 14 ราย น้ำหนัก 236,177 กิโลกรัม
  • ปีงบประมาณ​ 2565 จับกุมได้ 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม
  • ปีงบประมาณ​ 2566 จับกุมได้ 181 ราย น้ำหนักรวม 4,772,073 กิโลกรัม
  • รวมทั้ง 3 ปี มีหมูเถื่อนที่เข้าไทย 5,439,910 กิโลกรัม หรือ 5,439 ตัน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ