19 พ.ย. 2566 ตำรวจไซเบอร์ นำโดย พ.ต.อ.ศาตรา สุขานุศาสตร์ ผกก.1 บก.สอท.2 พร้อมด้วย พ.ต.ท.เอกรินทร์ สนนาค สว.กก.1 บก.สอท.2 นำหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี พร้อมกำลัง เข้าจับกุม 6 ผู้ต้องหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์, ร่วมกัน ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ, ร่วมกันเข้าถึง โดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกัน, ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกัน, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ, ร่วมกันโดยทุจริตหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และ ร่วมกันฟอกเงิน”
โดยผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ประกอบด้วย นายชโนทัย (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี, น.ส.ทิวาคอง (สงวนนามสกุล) อายุ 49 ปี, น.ส.จารุวรรณ (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี, นายสุริยา (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี, นายศรัญญู (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี และ น.ส.กานดา (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ผู้เสียหาย อายุ 68 ปี เป็นภรรยาของนายแพทย์ เกษียณราชการรายหนึ่ง ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์มือถือ จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ธนาคาร แจ้งกับผู้เสียหายว่ารัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน ที่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก โดยจะมีการแจกเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน และสอบถามว่าผู้เสียหายสะดวกเงินรับผ่านทางช่องทางใด ระหว่างติดต่อที่ธนาคารด้วยตัวเอง หรือจะรับผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งผู้เสียหายเลือกรับผ่านแอปพลิเคชัน
คนร้ายจึงได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนในไลน์ ในชื่อของธนาคารจากหมายเลขมือถือ จากนั้นมีการสอบถาม ยืนยันชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ของผู้เสียหาย และมีการแนะนำโดยมีการพูดคุยทางโทรศัพท์ว่า ให้ทำธุรกรรมผ่านทางลิงก์เว็บไซต์ ซึ่งหน้าเว็บเพจมีลักษณะคล้ายแอปพลิเคชันถุงเงิน จากนั้นให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูล ชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด อีเมล สแกนใบหน้ายืนยันตัวตน และกดรับรหัส OTP
แต่เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้ว คนร้ายแจ้งกลับมาว่าว่าข้อมูลของผู้เสียหายไม่ผ่านจะต้องทำการเปลี่ยนธนาคาร และให้กรอกข้อมูลชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด อีเมล สแกนใบหน้ายืนยันตัวตน และกดรับรหัส OTP อีกครั้ง เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จเรียบร้อย คนร้ายก็แจ้งอีกว่า ข้อมูลของผู้เสียหายไม่ผ่านอีก จะต้องทำการเปลี่ยนธนาคารอีกครั้ง และให้กรอกข้อมูลชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด อีเมล สแกนใบหน้ายืนยันตัวตน และกดรับรหัส OTP อีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งก็มีการแจ้งกลับมาว่าข้อมูลของผู้เสียหายไม่ผ่านอีก แต่ครั้งนี้ผู้เสียหายเริ่มเอะใจรู้ตัวว่าถูกหลอก จึงแจ้งกลับไปว่าไม่ขอรับเงิน 5,000 บาทแล้ว
ระหว่างนั้นโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายมีอาการค้าง ใช้งานไม่ได้ และไม่ปรากฏการแจ้งเตือนใดๆ ทางผู้เสียหายจึงรีบกดวางสายและเข้าตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ พบว่ามีการออกจากระบบและมีข้อความจาก 2 ธนาคาร ว่ามีการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบผ่านอุปกรณ์เครื่องอื่น และมีเงินถูกโอนออกจากบัญชีของผู้เสียหาย โดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมการโอนเงินเป็นจำนวน 4 ครั้ง ภายในเวลา 30 นาที จนหมดเกลี้ยงบัญชี รวมเป็นเงินกว่า 1.5 ล้านบาท ผู้เสียหายจึงได้แจ้งความผ่านระบบออนไลน์ ให้ดำเนินคดีกับคนร้าย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.1 บก.สอท.2 แกะรอยเส้นทางการเงิน พบความเชื่อมโยงและผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการของเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้ทั้งหมด 15 คน จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับไปแล้ว 12 คน อยู่ระหว่างขออนุมัติหมายจับเพิ่มอีก 3 คน ติดตามจับกุมได้แล้ว 6 คน โดยมีชาวจีนที่เตรียมออกหมายจับเป็นตัวการสำคัญระดับสั่งการและผู้ต้องหาชาวกัมพูชา ทำหน้าที่คอยกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็ม ที่ออกหมายจับไปแล้วอยู่ระหว่างติดตามตัว
จากการสอบสวนกลุ่มผู้ต้องให้การรับสารภาพว่า ได้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนนำมาขายให้กับผู้รับซื้อในราคาบัญชีละ 300-1,000 บาท โดยไม่รู้ว่าผู้รับซื้อจะนำไปใช้ในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก่อนควบคุมตัวนำส่ง พนักงานสอบสวน บก.สอท.2 ดำเนินคดีต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง