
หรือนี่คือพฤติกรรม 'Femicide' เหยื่อในเหตุกราดยิงพารากอน 6 ใน 7 คือ ผู้หญิง
หรือนี่คือพฤติกรรม 'Femicide'หลังพบเหยื่อเคราะห์ร้ายในเหตุกราดยิงพารากอน 6 ใน 7 คือ ผู้หญิง ที่ถูกเลือกเพราะพวกเธอเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า
พฤติกรรมการก่อเหตุที่มี 6 ใน 7 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นผู้หญิงอาจจะกำลังสะท้อนถึงพฤติกรรมที่เลือกฆาตกรรมเฉพาะผู้หญิง หรือ "Femicide" หรือไม่ เพราะจากคำบอกเล่าของ รปภ. ประจำห้างพารากอน ระบุว่า พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุเดินไปเรื่อยๆ สบตาเหยื่อก่อนจะลงมือ โดยมีเพียง รปภ.ที่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้นที่เป็นผู้ชาย พฤติกรรมอาจเปลี่ยนจากการกราดยิงที่ไม่ระบุเป้าหมายไปเป็นเจตนาเลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิงแทน
อิตถีฆาต หรือ "Femicide" คือ พฤติกรรมจงใจฆาตกรรมผู้หญิง เพียงเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง เป็นพฤติกรรมที่มีปัจจัยทางเพศเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ หรือเป็นการเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตที่มีแรงจูงใจเกี่ยวกับเพศสภาพ และส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักจะเป็นผู้ชายถือเป็นอาชญากรรมทางเพศที่เลวร้ายอย่างมาก
ข้อมูลที่เกี่ยวกับ "Femicide" มีอยู่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้แน่ชัด แต่ข้อมูลจากการรายงานของ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า ในปี 2560 มีผู้หญิงราว 87,000 คน ถูกฆาตกรรมจากเหตุดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจสำคัญที่นำไปสู่การจงใจฆาตกรรมผู้หญิงมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง ความรุนแรงในครอบครัว บทบาททางเพศแบบเหมารวม ความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ไปจนถึงแรงจูงใจเรื่องความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny)
นอกจากนี้สถิติเหตุกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าตั้งแต่ปี 1996 มือปืน 172 คน เป็นชาย 168 คน และเป็นหญิง 4 คน โดยเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ คือ เหตุกราดยิงไนท์คลับที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ปี 2016 และเหตุกราดยิงโบสต์ในซัตเทอร์แลนด์สปริงส์ รัฐเท็กซัส ปี 2017 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 175 ราย และเหตุสังหารหมูอย่างน้อย 8 ครั้ง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 61 ราย
ข้อมูลข้างต้นเป็นแค่การคาดเดาเท่านั้น ท้ายที่สุดเราไม่อาจจะรู้ หรือสรุปได้ว่าอะไร คือ สิ่งที่ทำให้เด็กอายุ 14 ปี ก่อเหตุความรุนแรงได้ขนาดนี้ แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การดูแล และควบคุม การครอบครองอาวุธปืน และควรมีกฎหมายที่เข้มงวดกับการซื้อ ขายอาวุธปืน บนโลกออนไลน์มากกว่านี้หรือไม่ เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการครอบครองอาวุธมากที่สุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลกประมาณ 10.3 ล้านกระบอก