ข่าว

'DSI' ส่งฟ้อง 'แม่มณี' กับพวก 31 คน ตุ๋นลงทุนแชร์สูญ 227 ล้าน ขอศาลสั่งชดใช้

"ดีเอสไอ" หอบสำนวนกว่า 50,000 แผ่น สั่งฟ้อง "แม่มณี" กับพวกรวม 31 ราย ชักชวนลงทุน มูลค่าความเสียหายกว่า 227 ล้านบาท ขอศาลสั่งชดใช้

28 ก.ย.2566 กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ "ดีเอสไอ" นำเอกสารสำนวนกว่า 50,000 แผ่น สั่งฟ้อง น.ส.วันทนีย์ (สงวนนามสกุล) หรือ แม่มณี กับพวกรวม 31 ราย ฐานความผิด "ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน" และร้องขอต่อศาลให้เรียกทรัพย์สินและเงินต้นหรือราคาแทนผู้เสียหายจากผู้ต้องหาทั้ง 31 ราย 

 

ทั้งนี้ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ  ทำการสอบสวนคดีพิเศษที่ 9/2563 กรณี น.ส.วันทนีย์  (สงวนนามสกุล) หรือ แม่มณี กับพวกรวม 31 ราย ร่วมกัน หลอกลวงผู้อื่นด้วยการโฆษณาในสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ชื่อ "มณีรัตน์ สุรางค์มธุรสธรรมสว่างกุล"  "Nadear Wanthanee" "มั่งมี ศรีสุข บารมี เพิ่มพูน" และ "ฝากยอดต่ออนาคต" โดยการโพสต์ข้อความและถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊กว่ารับฝากเงิน ออมเงิน วงละ 1,000 บาท ตกลงจะให้ผลตอบแทนร้อยละ 93 ต่อเดือนของเงินลงทุน ระยะเวลาฝาก 1 เดือน จ่ายคืนทั้งต้นและดอก โดยมีรูปแบบการลงทุน คือ ชักชวนให้นำเงินมาออมไว้กับแม่มณี เสนอให้ผลตอบแทน 93 เปอร์เซ็นต์ เมื่อครบกำหนด 1 เดือน

 

ดีเอสไอ นำเอกสารส่งฟ้องแม่มณีกับพวก หลอกลงทุนแชร์แม่มณี

 

 

นอกจากนี้ยังมีการประกาศให้ลงทุน และให้ผลตอบแทนอีกหลายอัตรา ซึ่งคิดผลตอบแทนที่เสนอให้เป็นอัตราตั้งแต่ร้อยละ 1,116 บาท จนถึง 3,040.45 บาท ต่อปี ซึ่งถือว่าเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งทั้งหมดกระทำไปเพื่อจูงใจให้ประชาชนเกิดความสนใจและมีความมั่นใจในการนำเงินมาร่วมลงทุนกับพวกตนเอง

 

โดยกลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้นำเงินที่ลงทุนไปใช้ในการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะนำรายได้ตามที่ได้ประกาศไปนำมาจ่ายให้กับผู้ลงทุนได้ แต่ทำไปเพื่อนำเงินของผู้หลงเชื่อลงทุนรายใหม่ ๆ และรายเก่า ๆ ที่ลงทุนซ้ำมาหมุนเวียนจ่ายให้กับผู้ลงทุนรายก่อน ๆ หรือผู้ลงทุนรายปัจจุบันที่ครบกำหนดรับเงินปันผลและเงินลงทุนคืนในแต่ละวัน


 

ดีเอสไอ นำเอกสารส่งฟ้องแม่มณีกับพวก หลอกลงทุนแชร์แม่มณี

 

 

โดยการชักชวนนี้ทำให้ประชาชนหลายพันคน รวมทั้งผู้ร่วมลงทุนในคดีนี้จำนวน 1,133 ราย หลงเชื่อส่งมอบเงินลงทุนไปยังกลุ่มผู้ต้องหากับพวก ทำให้ประชาชนทั่วไป สูญเสียเงินที่ลงทุนไปและได้รับ ความเสียหายเท่าจำนวนที่ไม่ได้รับกลับ จำนวน 227,452,365.05 บาท (สองร้อยยี่สิบเจ็ดล้านสี่แสนห้าหมื่นสองพันสามร้อยหกสิบห้าบาทห้าสตางค์)

 

การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหา จำนวน 31 ราย ในความผิดฐาน "ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน"  ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 มาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83

 

และขอให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้เรียกทรัพย์สินและเงินต้นหรือราคาแทนผู้เสียหาย จากผู้ต้องหาทั้ง 31 ราย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 9

 

โดย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้มอบหมายให้ นางนันท์นภัส เกยุราพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ 1 และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 133 แฟ้ม จำนวน 50,857 แผ่น พร้อมตัวผู้ต้องหา ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ในวันที่ 27 ก.ย. 2566 เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

 

 

ข่าวยอดนิยม