ข่าว

เปิดคู่มือ 'ผู้ต้องขัง' ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดคู่มือ 'ผู้ต้องขัง' ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ต้องเป็นโรงพยาบาลรัฐ อันดับแรก หากเครื่องมือไม่พร้อมส่งต่อโรงพยาบาลเอกชน เมื่อการพ้นขีดอันตราย ต้องนำกลับรักษาตัวโรงพยาบาลรัฐ

 

24 ส.ค. 2566 หลังจากที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับไทย เพื่อมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยศาลสั่งจำคุก 8 ปี จากนั้นถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

 

แต่อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ทันข้ามคืน นายทักษิณ ถูกนำตัวส่งรพ.ตำรวจ  กลางดึก เนื่องจากอาการป่วยกำเริบมีความดันขึ้นสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

 

ขั้นตอนการนำผู้ต้องขังป่วย กรมราชทัณฑ์ มีคู่มือหลักเกณฑ์ ดังนี้

 

เมื่อหากผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยขณะถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น แต่เมื่ออาการเจ็บป่วยทวีความรุนแรงขึ้น จนกระทั่งเกินขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แล้ว ทางกรมราชทัณฑ์ ก็จะมีการพิจารณาถึงอาการดังกล่าว และส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก

 

 

 

โดยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพาบาลภายนอกนั้นจะพิจารณาให้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลของรัฐเป็นอันดับแรก แต่หากมีเหตุจำเป็นอันใด อาทิ ผู้ต้องขังบุคคลนั้น ๆ อยู่ในภาวะวิกฤต ประกอบกับโรงพยาบาลของรัฐอยูห่างไกลจากบริเวณเรือนจำ หรือโรงพยาบาลของรัฐขาดแคลนเครื่องมือในการรักษา จึงสามารถอนุโลมนำตัวผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ถึงความจำเป็นของอาการเจ็บป่วยดังกล่าวก่อน

 

 

 

จากคู่มือการควบคุมผู้ต้องขังป่วยที่ได้รับการอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ได้มีการให้คำจำกัดความของอาการป่วยไว้ว่า ผู้ต้องขังป่วย หมายถึง ผู้ต้องขังโดยทั่วไปที่มีอาการเจ็บป่วย ทั้งการเจ็บป่วยด้านร่างกาย หรือการเจ็บป่วยทางจิตใจก็ตาม และยังรวมไปถึงผู้ต้องขังที่ติดฝิ่น กัญชา สิ่งเสพติดฝิ่นซึ่งมีอาการร้ายแรง หรือหญิงมีครรภ์ หรือแม้กระทั่งหญิง ผู้มีลูกอ่อน ซึ่งจัดเป็นผู้เจ็บป่วยโดยอนุโลม

 

 

 

วิธีพิจารณานำผู้ต้องขังป่วย รักษาภายนอกเรือนจำ

 

เมื่อผู้ต้องขังบุคคลนั้น ๆ มีอาการเจ็บป่วยที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการเป็น "ผู้ต้องขังป่วย" ต่อมาจึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ โดยกระบวนการพิจารณาเป็นดังนี้

1. ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแลอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังจำเป็นต้องพิจารณาในแต่ละกรณีการเจ็บป่วย ซึ่งต้องเป็นอาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเท่านั้นจึงจะได้รับการอนุญาต โดยจะพิจารณาให้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลของรัฐเป็นอันดับแรก

 

 

 

เว้นแต่ว่าอาการดังกล่าวจะได้รับการวินิจฉัยและลงความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าจำเป็นต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเอกชนโดยเฉพาะ ด้วยเหตุที่โรงพยาบาลของรัฐบางแห่งอาจไม่สามารถให้การรักษาได้ จากความไม่พร้อมของเครื่องมือ หรืออาจเป็นเพราะเรือนจำที่ผู้ต้องขังถูกคุมขังอยู่นั้นห่างไกลจากโรงพยาบาลของรัฐ

 

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ต้องขังบุคคลนั้น ๆ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ และเมื่ออาการเจ็บป่วยดังกล่าวอยู่สภาวะพ้นขีดอันตรายจึงค่อยนำตัวส่งโรงพยาบาลของรัฐต่อไป

 

 

 

2. อธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนให้อำนาจตัวแทนพิจารณาถึงอาการเจ็บป่วยในกรณีดังกล่าว ซึ่งสามารถมอบอำนาจให้ได้ทั้งผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน / สถานกักกันและสถานกักขัง ซึ่งสังกัดราชการบริหารส่วนกลาง

 

 

 

การปฏิบัติราชการแทนนั้นครอบคลุมเพียงการพิจารณาให้ผู้ต้องขังป่วยออกไปตรวจรักษาและ / หรืออยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ และทัณฑสถานส่วนเรือนจำ / ทัณฑสถาน กล่าวคือ พิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นในด้านการรักษาอาการเจ็บป่วย ภายใต้การตรวจสอบของพัศดี

 

 

 

3. การขออนุญาตย้ายผู้ต้องขังป่วยไปคุมขังยังเรือนจำ หรือทัณฑสถานที่มีโรงพยาบาล และแพทย์เฉพาะโรค เพื่อการบำบัดรักษานั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ในการพิจารณาอนุญาต

 

 

 

4. การย้ายผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ป่วยทางจิตให้ดำเนินการเหมือนผู้ต้องขังที่ป่วยโรคทางกาย

 

 

 

5. การย้ายผู้ต้องขังโรคจิตที่อยู่ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องถือเป็นอำนาจของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 โดยให้เรือนจำที่จะส่งตัวผู้ต้องขังประสานงานกับเรือนจำที่รับย้าย ซึ่งเป็นเรือนจำที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลที่รับตรวจรักษาอาการทางจิตและจะสามารถย้ายผู้ต้องขังได้โดยไม่ต้องขออนุญาตกรมราชทัณฑ์

 

 

 

เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วให้รายงานต่อกรมราชทัณฑ์ เพื่อแจ้งให้ทราบ ในส่วนของการควบคุมให้เป็นหน้าที่ของเรือนจำที่รับย้าย และหากรักษาจนอาการจิตทุเลาลงแล้วให้เรือนจำผู้รับย้ายแจ้งเรือนจำที่ส่งผู้ต้องขังมา เพื่อรับตัวผู้ต้องขังกลับและดำเนินการแจ้งศาลต่อไป

 

 

 

ข้อมูลจาก : เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ