ข่าว

จุดสังเกตไม่ตกเป็นเหยื่อ 'แก็งคอลเซ็นเตอร์' หลอกโหลดแอปฯดูดเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตำรวจเผย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างกรมที่ดิน หลอกดูดเงินพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ-เอกชน ลักลอบนำข้อมูลไปขายตลาดมืด ชี้จุดสังเกตไม่ตกเป็นเหยื่อหลอกโหลดแอปฯดูดเงิน

 

16 ส.ค. 2566 พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล และพ.ต.อ.ชัยณรงค์ บุญด้วง รอง ผบก.ภ.จว.สระแก้ว ร่วมกันแถลงข่าวเตือนภัยกรณีที่มีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หลอกให้เยื่ออัพเดตข้อมูลการชำระภาษีที่ดิน มีเหยื่อหลงเชื่อจนสูญเงินในบัญชีกว่าล้านบาท

 

พล.ต.ต.ชูศักดิ์  ขนาดนิด  ผบก.ตอท.  เปิดเผยว่า กรณีนี้ได้มีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หาเหยื่อแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หลอกให้อัพเดทข้อมูลการชำระภาษีที่ดิน  จากนั้นคนร้ายได้ให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนไลน์  และให้กดลิงก์เข้าเว็บไซต์กรมที่ดินปลอม

 

ต่อมาให้กดดาวน์โหลดที่ข้อความโฆษณา(Banner) ตรากรมที่ดิน  เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อ คนร้ายได้ให้เหยื่อดำเนินการตามขั้นตอน  โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและปกป้องข้อมูลของเหยื่อ และให้เหยื่อยืนยันตัวตน โดยให้เหยื่อกรอกข้อมูลรหัสส่วนตัวที่ตั้งขึ้นสำหรับเข้าแอปพลิเคชัน เป็นตัวเลข จำนวน 6 ตัว จำนวน 2 ครั้ง เพราะจะใช้รหัสนี้ทุกครั้งในการเข้าแอปพลิเคชัน (ทำให้เหยื่อหลงไปตั้งรหัสซ้ำกับแอปพลิเคชันธนาคารจริงหรือตั้งรหัสแอปพลิเคชันธนาคารตรงกับ วันเดือนปีเกิด หรือเลขโทรศัพท์ หรือบัตรประชาชน) แล้วให้กดยินยอมที่หน้าจอ 3 จุด 

 

ตำรวจเตือนวิธีป้องกันไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

 

 

จากนั้นหน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อปรากฏการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยคนร้ายได้ชวนเหยื่อคุยและบอกให้รอจนครบ 100% ระหว่างชวนคุยนั้น คนร้ายจะนำรหัสที่ได้ หรือหมายเลขโทรศัพท์ หรือวันเดือนปีเกิดกดเข้าแอปธนาคาร หรือหลอกให้เหยื่อกดเข้าแอปธนาคารด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อจะได้เห็นเลขรหัส จากนั้นคนร้ายได้หลอกให้เหยื่อสแกนใบหน้าโดยอ้างว่ายืนยันข้อมูลบุคคลและอัพเดทข้อมูลในกรมที่ดิน แต่ความจริงเป็นการปรับยอดการโอนในแอปให้สูงขึ้นหรือโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง แล้วคนร้ายก็จะโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อออกไป  รวมทั้งได้ทำรายการถอนเงินสดจากบัตรเครดิตมาใส่ในบัญชีธนาคาร แล้วถอนเงินออกไปจนหมด

 

 

 

จุดสังเกต
1. ของปลอม
1.1 ไลน์เป็นชื่อบัญชีส่วนบุคคล และจะไม่ขอเพิ่มเพื่อนโดยเจ้าหน้าที่
1.2 นามสกุลของโดเมนของเว็บไซต์ มักลงท้ายด้วย .cc และไม่ได้ให้โหลดผ่าน Google Play (ให้กด 3 จุดด้านล่างขวา และบอกให้กดโหลด "ช่องทางอื่น" หรือ "chrome")
1.3 ไม่สามารถกดเมนูปุ่มใดๆได้ ยกเว้นปุ่มเมนูที่คนร้ายบอก
2. ของจริง
2.1 ไลน์เป็นชื่อ Smart Lands ซึ่งเป็นบัญชีทางการ (Official) ไม่สามารถโทรคุยกับคนทั่วไปได้
2.2 แอปพลิเคชันของจริงจะโหลดได้จาก Google Play หรือ App store เท่านั้น
2.3 สามารถกดเมนูเพื่อเข้าไปยังหน้าจอต่างๆได้ตามปกติ

 

 

 

วิธีป้องกัน
1. หาช่องทางตัดสาย แล้ว "เช็ค ก่อน เชื่อ" คือโทรหาเบอร์ call center หน่วยงานที่คนร้ายแอบอ้างก่อนว่า "จริงหรือไม่" กรมที่ดินเบอร์ สายด่วนกรมที่ดิน หมายเลข 02-141-5555 หรือ กรมพัฒนาธุรกิจ เบอร์  1570, 02 528 7600 หรือ หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เบอร์ 1129 และ การไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130 ซึ่งเป็น ซึ่งเป็น 3 แอป ยอดนิยมในการหลอก เพื่อสอบถามว่ามีจริงหรือไม่  หรือโทรมาที่ 1441 ก่อนดำเนินการใดๆ  
2. ไม่กดลิงก์ใน SMS หรือไลน์แปลกปลอม ที่เราไม่รู้จักตัวจริงหรือไลน์ทางการของหน่วยงานนั้นมาก่อน และที่สำคัญ อย่าติดตั้งแอปพลิเคชัน ใดๆ ตามคำแนะนำเป็นอันขาด หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play หรือ Apple Store โดยเข้าไปค้นหา "ชื่อ" ด้วยตนเอง ห้ามบันทึกลิงก์(Copy) จากคนที่เราไม่รู้จักให้มาแล้วนำไปวางในช่องเว็บเบราว์เซอร์เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชัน

 

ตำรวจเตือนวิธีป้องกันไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

 

 

ด้าน พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 กล่าวว่า สำหรับกรณีแก๊งค์มิจฉาชีพแอบอ้างกรมที่ดินนี้ มีผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้โอนเงินในวันเดียวกัน ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันอีก 2 ราย รวมเป็น 3 ราย ซึ่งได้ประสานทางตำรวจสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล นครบาล9 และสถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว  เบื้องต้น พบว่าทั้ง 3 กรณีเป็นกลุ่มเดียวกัน มีรายชื่อบัญชีม้าแถวที่ 1-6 เหมือนกัน ขณะนี้สามารถอายัดบัญชีม้าได้ทั้งหมด 6 แถว รวม 24 บัญชี หลังจากนี้จะออกหมายเรียกและหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 10 ราย รวมทั้งจะสอบสวนข้อมูลจากทางกรมที่ดินว่ามีข้อมูลเหล่านี้หลุดออกมาได้อย่างไร

 

 

 

ขณะที่ พล.ต.อ.สมพงษ์  ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า สำหรับกรณีดังกล่าว ทางอธิบดีกรมที่ดินได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาการควบคุมหรือเปิดเผยข้อมูลต่างๆให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น  โดยจากคดีที่ผ่านมา พบว่ามีพนักงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลข้อมูลเป็นผู้นำข้อมูลไปขายในตลาดมืด เนื่องจากติดหนี้พนันออนไลน์ จึงอยากขอให้หน่วยงานต่างๆมีมาตรการดูแลความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนให้รัดกุมยิ่งขึ้น 

 

 

 

ทั้งนี้ คนร้ายคอลเซ็นเตอร์มีการเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างต่อเนื่องอีกทั้งยังมีการติดตามมาตรการและนโยบายต่างๆจากภาครัฐเพื่อนำไปใช้สร้างความเชื่อถือให้เหยื่อตายใจ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามสืบสวนติดตามจับกุมมาโดยตลอด แต่มักจะหยุดที่กลุ่มบัญชีม้าซึ่งกลุ่มคนร้ายใช้วิธีว่าจ้างชาวบ้านหรือประชาชนในชนบทเปิดบัญชีให้ ส่วนบัญชีม้าแถวถัดไปมักถูกแปลงเงินเป็นสกุลดิจิทัลเพื่อโอนออกนอกประเทศทำให้การสืบสวนติดตามทำได้ยาก หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจจะมีการหารือกับภาคการเงินการธนาคารเกี่ยวกับมาตรการหน่วงเวลาในการโอนเงินสกุลดิจิทัลออกนอกประเทศ เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์

 

 

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน   จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันยังมีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างกรมที่ดิน ตั้งแต่เดือน มี.ค.2566 ถึงปัจจุบัน มีกว่า 800 เคส โดยเฉพาะเดือน ก.ค.2566 ที่ผ่านมา มีการหลอกหลวงโดยวิธีการดังกล่าวมากถึง 190 เคส เพื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์เพื่อโอนเงินออกไป และยังมีภัยออนไลน์ที่คนร้ายได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก

 

 

 

และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่  สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebookhttps://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์  หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ