ข่าว

เปิดขั้นตอนขอ 'ใบอนุญาต' ก่อสร้าง 'โกดังเก็บพลุ' ห่างชุมชนอย่างน้อย 500 เมตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดขั้นตอนขอ 'ใบอนุญาต' ก่อสร้าง 'โกดังเก็บพลุ' ดอกไม้ไฟ 5 หน่วยงานเกี่ยวข้อง ใบอนุญาตปีต่อปี อาคารเป็นเอกเทศ 1 ชั้น ห่างชุมชนอย่างน้อย 500 เมตร ส่วนพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องแจ้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า "โกดังพลุบ้านมูโนะ"ผิดชัดไม่เข้าเงื่อนไขสักข้อ

 

3 ส.ค. 2566 เหตุการณ์โกดัง "พลุระเบิด" กลางตลาดบ้านมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ยังไม่จบง่ายๆ เมื่อเกิดความสูญเสียมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์ รวมทั้งมีการเปิดเผยขบวนการส่ง "จ่ายส่วย" ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการลักลอบเก็บพลุ ดอกไม้ไฟ จำนวนมหาศาลใจกลางตลาดแห่งนี้

 

กระทั่งนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่อทางอาชญากรรม ออกโรงนำหลักฐานร้องขอให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจ ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนการ "จ่ายส่วย" และขอให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบการทุจริต 5 หน่วยงาน
 

 

ทั้งนี้ 5 หน่วยงานที่ "อัจฉริยะ" กล่าวถึงคือ กระทรวงกลาโหม , กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงแรงงาน , กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ดูแลรับผิดชอบการอนุญาตดำเนินกิจการขายพลุ 

 

 

 

"คมชัดลึก" เปิดขั้นตอนการขอ "ใบอนุญาต" ตั้งโรงงานหรือ "โกดังเก็บพลุ"  ประทัด ดอกไม้ไฟ โดยมีราชกิจจานุเบกษา ประกาศร่วมระหว่างกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงหลักเกณฑ์การควบคุมและการกํากับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง 

 

 

 

การขออนุญาตนั้น ทางผู้ประกอบการ จะต้องไปทำเรื่องขอ "ใบอนุญาต" สร้าง "โกดังเก็บพลุ" จากอำเภอ ซึ่งนายอำเภอจะเป็นผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต และใบอนุญาต จะมีอายุเพียง 1 ปี  ซึ่งเท่ากับว่าผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตปีต่อปี และในรายละเอียดจะต้องมีการแจ้งชนิดของพลุ วัตถุที่เป็นส่วนประกอบ จำนวน ปริมาณอย่างละเอียด เนื่องจากถือเป็นวัตถุอันตราย

 

 

 

หลังจากนั้น ต้องไปทำเรื่องแจ้งเทศบาล หรือ อบต. ซึ่งจะดูและเรื่อง พ.ร.บ.การสาธารณสุข กรณีกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ส่วน อุตสาหกรรมจังหวัด จะดูแล พ.ร.บ.วัตถุอันตราย หลังจากผู้ประกอบการแจ้งแล้วจะต้องมีเจ้าหน้าไปตรวจสอบ "โกดังเก็บพลุ" การครอบครองวัตถุอันตราย

 

 

 

ทั้งนี้สำหรับพื้นที่ 4 จังหวังชายแดนใต้ คือ สงขลา ยะละ ปัตตานี และนราธิวาส จะต้องแจ้งหน่วยงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าด้วยในการสร้าง "โกดังเก็บพลุ" เนื่องจากเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก

 

โกดังเก็บพลุ ตลาดบ้านมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

 

 

 

อย่างไรก็ตามการจะได้รับ "ใบอนุญาต" โกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน คือ มีรั้วห่างจากอาคารอย่างน้อย 20 เมตร และต้องเตรียมพื้นที่ไว้เผื่อกรณีที่ชุมชนขยายตัวเข้ามาใกล้โรงงานห้ามเข้าใกล้ในรัศมี 100-500 เมตร ขึ้นอยู่กับปริมาณดอกไม้ไฟหรือพลุในโกดัง

 

 

 

ส่วนตัวอาคาร "โกดังเก็บพลุ" ต้องเป็นเอกเทศ 1 ชั้น ไม่มีชั้นลอย ไม่มีชั้นใต้ดิน ก่อสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ มีสายล่อฟ้า หลังคารองรับแรงอัดระเบิด และต้องมีการระบายความร้อนควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียล และต้องมีเครื่องดับเพลิงเคมี 2 เครื่องต่อ 100 ตารางเมตร 

 

 

 

เมื่อตรวจสอบ "โกดังเก็บพลุ" บ้านมูโนะ เป็นที่ชัดเจนว่าโกดังแห่งนี้ไม่เข้าเงื่อนไขเลยสักข้อ ไม่ได้มีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่ระบุไว้ เพียงแต่มีการขออนุญาตสร้างโกดังเพื่อเก็บสินค้าเบ็ดเตร็ด เท่านั้น


ดังนั้นชัดเจนว่า "โกดังเก็บพลุ" แห่งนี้ไม่มี "ใบอนุญาต" ก่อสร้างโกดัง แม้ว่าจะขออนุญาต แต่ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้เนื่องจากตั้งอยู่ในชุมชน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จนนำมาสู่การ "จ่ายส่วย" โกดังพลุระเบิด บ้านมูโนะ จ.นราธิวาส

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ