ข่าว

ธาริต ขึ้นศาลฟังคำพิพากษา ยื่นคำร้อง เปลี่ยนองค์คณะพิจารณาคดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธาริต เพ็งดิษฐ์ เดินทางขึ้นศาลรับฟังคำพิพากษายื่นคำร้องอ้างคณะพิจารณาเป็นกปปส. ร้องประธานศาลฎีกาพิจารณา ระบุถูกกลั่นแกล้ง

 ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ศาลนัดฟังคำสั่ง หรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.)

ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวน คดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ

จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวก แจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ธาริต ขึ้นศาลฟังคำพิพากษา ยื่นคำร้อง เปลี่ยนองค์คณะพิจารณาคดี

ก่อนขึ้นรับฟังคำพิจารณาคดี นายธาริต ได้อ่านชี้คำชี้แจง มีใจความว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ศาลอาญาได้นัดอ่านในเช้าวันนี้

จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมาก ดังที่ข้าพเจ้าได้แถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา  เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญมาก 3 ประการ คือ

 1. จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่านายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ
             
 2. ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับพิพากษาว่าเขาเป็นผู้สมควรตาย

3. นายธาริต ฯ กับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา


เนื้อหาหนังสือชี้แจง ระบุต่อไปอีกว่า มีจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตัวข้าพเจ้าเองกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุด
              

อย่างไรก็ดี เนื้อหาหนังสือชี้แจงของนายธาริต ยังกล่าวอ้างอีกว่า  มีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่งรวมถึงอดีตประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นองค์คณะและหรือเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีนายสุเทพ ฯ โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นหัวหน้าหรือประธานกลุ่ม กปปส. โดยเป็นฝักไฝ่และเป็นฝ่ายเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ นายสุเทพ ฯ กับพวก กปปส. ก็ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าต่อศาลอาญาคดีทุจริตกลางเป็นอีกคดีหนึ่งว่าที่ข้าพเจ้าดำเนินคดีกับนายสุเทพ ฯ และกลุ่ม กปปส. จนศาลอาญาลงโทษจำคุกไปมากว่า 10 คนนั้น เป็นเพราะถูกข้าพเจ้ากลั่นแกล้ง จึงน่าเชื่อว่าการทำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จะไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ก่อนให่สัมภาษณ์สื่อมวลชน นายธาริต ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาโดยขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกา 

เพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ข้าพเจ้าพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และตนเอง
              

รวมทั้ง นายธาริตระบุอีกว่า ได้มีการยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้บรรดาคำร้องที่สำคัญที่ได้มีการยื่นไว้ในคดีนี้คือคำร้องของญาติผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และคำร้องของตัวเอง ขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 157 และมาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับลงโทษในคดีนี้ไม่ได้


ด้าน นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความที่ได้รับอำนาจจาก สุเทพ ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมฟังคำพิพากษา ว่า กรณีที่ ธาริต แถลงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เป็นคนละประเด็นกับคดีดังกล่าว ศาลได้ระบุไว้แล้วว่าเหตุการณ์ปี 53 ในสำนวนระบุไว้ว่ามีอาวุธและความร้ายแรง และเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายนปี 2553 เราก็เห็นอยู่แล้วมีกองกำลังใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่ทหาร และพอเปลี่ยนรัฐบาลกระทำสำนวนว่าการชุมนุมของ นปช. และไม่มีอาวุธ ส่วนเหตุที่มีการตายเกิดขึ้น อ้างว่า อภิสิทธิ์ และ สุเทพ สั่งให้นำทหารออกมา ซึ่งตรงนี้ศาลอุทธรณ์ได้ระบุไว้ว่า การทำสำนวนในตอนแรกมีการสั่งฟ้องข้อหาก่อการร้ายกับกลุ่ม นปช. ซึ่งเห็นอยู่แล้วว่า อภิสิทธิ์ กับ สุเทพ ไม่มีความผิด แต่ตอนหลังกลับคำในสำนวน ซึ่งพฤติกรรมสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่ตรงนี้

ส่วนการแถลงข่าวของ ธาริต ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นและคิดว่าไม่เกี่ยวกับคดีดังกล่าว แม้เป็นเรื่องที่พูดอาจจะมีต้นสายปลายเหตุมาจากการชุมนุมครั้งเดียวกัน และไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรถึงออกมาพูด 

ส่วนกรณีที่ ธาริต อ้างว่าการรับสารภาพในครั้งนั้นเป็นการรับสารภาพแบบมีเงื่อนไข ซึ่งข้อเท็จจริง ในศาลว่าอย่างไรนั้น  สวัสดิ์ ทนายความของสุเทพ ยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะ ธาริต รับสารภาพและพร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้กับ อภิสิทธิ์ ซึ่งทางโจทก์ยื่นฟ้องก็ได้โต้แย้งไปแล้วว่าล่วงเลยเวลาในการรับสารภาพ รวมถึงเงินจำนวนดังกล่าว นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพไม่ขอรับเงินดังกล่าวด้วย

ส่วนกรณีที่ศาลจะเห็นว่าศาลจะมองว่าผิดหรือไม่ ตนไม่กังวลเพราะศาลมีมาตรฐานอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่า ธาริต พูดไม่ตรงใช่หรือไม่ สวัสดิ์ ทนายความ มองว่า เท่าที่ตนดูมันไม่มีเงื่อนไขในการขอรับสารภาพ เพียงแต่ยื่นหลักฐาน และมีคำรับสารภาพด้วย ส่วนตรงหรือไม่ตนไม่สามารถตอบแทนนายธาริตได้

และหลังจากที่ ธาริต ออกมาแถลง นายสุเทพ ก็ไม่ได้มีการมาพูดหรือโต้แย้งอะไร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ