ข่าว

ศาล 'ยกฟ้อง' ปปป. ชุดจับกุมกับพวกรวม 7 คน อดีตอธิบดีกรมอุทยาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ยกฟ้อง ผบก.ปปป. กันพวกรวม 7 คน ยกพวกบุกจับ อดีตอธิบดีกรมอุทยาน คาห้องทำงาน ชี้กระทำการตามหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน

30 พ.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ อท 27/2566 ระหว่าง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา โจทก์ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน ข้อหา เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ,ความผิดต่อเสรีภาพ,,ทำพยานหลักฐานเท็จฯ , เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษฯ ,บุกรุก,ซ่องโจร   โดยทนายโจทก์ เดินทางมาศาล 

 

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 จำเลยทั้ง 7 คน ร่วมกันวางแผนแบ่งหน้าที่กัน ทำให้จำเลยที่ 7 แอบติดตั้งกล้องบันทึกภาพและเสียงไว้ที่ตัว เข้าไปพบและพูดชักจูงให้โจทก์ตกลงรับเงินหรือกำหนดจำนวนเงินหรือเปอร์เซ็นต์ของเงินเพื่อเรียกรับเอาจากข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาผู้มีตำแหน่งหรือชื่อตามที่จำเลยที่ 7 สนทนาถึงและพยายามส่งมอบซองสีขาว 3 ซอง แก่โจทก์ โดยที่โจทก์ไม่ทราบว่าภายในซองมีเงิน 98,000 บาท บรรจุอยู่ แต่โจทก์ปฏิเสธไม่รับ จำเลยที่ 7 ได้วางซองทั้ง 3 ซองไว้บนโต๊ะทำงานโจทก์แล้วออกจากห้องไป 


 

ทันใดนั้น จำเลยที่ 1-6 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พร้อมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ร่วมกันบุกเข้ามาภายในห้องทำงานของโจทก์ ซึ่งเป็นที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น และหมายจับ แล้วร่วมกันจับกุมโจทก์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.149 และ ม.157 ทั้งที่โจทก์ไม่ได้มีเจตนากระทำความผิดมาก่อนจึงเป็นการที่จำเลยที่ 1-6 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ ม.200 โดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้สนับสนุน และเป็นการที่จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.179,210,310,364 และ 365 

 

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1-6 ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ขณะเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ด้วยการบันทึกวีดิโอเป็นพร้อมเคลื่อนไหวพร้อมเสียง ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของโจทก์และต้องสงวนไว้เป็นข้อราชการที่เป็นความลับ ปล่อยให้มีการนำวีดิโอดังกล่าวเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1-6 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.164  และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ม.79


ศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่มีการเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 7 เข้าร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เกี่ยวกับพฤติการณ์ทุจริตของโจทก์ที่ ป.ป.ช. สืบสวนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เชื่อว่าคดีน่าจะมีมูล แต่ยังปราศจากหลักฐานที่จะดำเนินคดี จึงประสานมายัง บก.ปปป. เพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริง และเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน 

 

 

การที่จำเลยที่ 1-6 วางแผนตรวค้นจับกุมโจทก์ ตามที่ได้ประสานมาจาก ป.ป.ช.จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่  ซึ่งเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของโจทก์ ไม่เป็นการแสวงหารพยานหลักฐานโดยมิชอบ และไม่ใช่เป็นการร่วมกันก่อ หรือพยายามก่อให้โจทก์กระทำความผิด และขณะที่จำเลยที่ 7 เข้าพบโจทก์ที่ห้องทำงานของโจทก์ จำเลยที่ 1-6 และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมหน่วยงานอื่นติดต่อสื่อสารกับจำเลยที่ 7 ผ่านทางแอปฯไลน์โดยการโทรแบบกลุ่ม ทำให้ได้ยินการสนทนาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 7 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกรับเงินและได้ยินจำเลยที่ 7 พูดคำว่า "อุบล" ซึ่งเป็นสัญญาณว่าโจทก์ได้รับเงินที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้แล้ว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เข้าไปยังห้องทำงานของโจทก์ทันที และตรวจค้นจนพบซองบรรจุเงินรวม 98,000 บาท ที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้โจทก์อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของโจทก์ 

 

กรณีนี้จึงเป็นความผิดซึ่งหน้า ซึ่งห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าโจทก์ได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ ทั้งที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ เงินที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน จำเลยที่ 1-6 จึงมีอำนาจตรวจค้นจับกุมโจทก์โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.78(1) และ ม.92(2)(4)  

 

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากที่โจทก์แถลงต่อศาลในชั้นตรวจฟ้องว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1-6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีรายชื่อในบันทึกจับกุมท้ายฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่จะชี้ให้เห็นว่าเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ จำเลยที่ 1-6 กระทำโดยมีเจตนาเพื่อที่จะกลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษตามที่โจทก์อ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157และ 200 ทั้งไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.189 ม210 ,310, 364 และ 365 จำเลยที่ 7 จึงไม่อาจเป็นผู้สนับสนุนและผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1-6 ตามที่โจทก์ฟ้อง


ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.164 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากที่โจทก์แถลงต่อศาลในชั้นตรวจฟ้องว่า นอกจากจำเลยที่ 1-6 แลเจ้าหน้าที่รัฐที่มีชื่ออยุ่ในบันทึกการจับกุมแล้ว ยังมีบุคคลอื่นอีกหลายคนร่วมอยู่ในเหตุการณณ์ขณะจับกุมโจทก์ โดยฝ่ายโจทก์มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯซึ่งมีการบันทึกภาพและเสียง ขณะตรวจค้นจับกุม แต่โจทก์ ไม่ได้ชี้ช่องพยานหลักฐานให้เห็นว่าวิดีโอภาพและเสียงที่ถูกเผยแพร่นั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1-6  กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-6 กระทำความผิดตาม ม.164  ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ม.79 นั้น เมื่อการเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ จำเลยที่ 1-6 เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการทุจริตในวงราชการ 

 

ดังนั้น การจัดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริง ขณะเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ ด้วยการบันทึกวิดีโอเป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียง เป็นพยานหลักฐาน เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดซึ่งมีโทษทางอาญาจึงถือเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  ม.4 (5) มิให้นำ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับแก่การดำเนินงาน ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การกระทำของ จำเลยที่ 1-6 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 


จึงพิพากษายกฟ้อง  

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ