24 พ.ค. 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) เปิดเผยกรณีช่วงปลายเดือน ต.ค. 2565 มีการเผยแพร่คลิปวิดิโอ นายมนตรี สินทวิชัย อายุ 61 ปี หรือ ครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ลงโทษเด็กในมูลนิธิฯ และให้เด็กทำงานภายในรีสอร์ตจนมีผู้ปกครองและเด็กออกมาร้องทุกข์กับหน่วยงานและขอให้ตำรวจเข้าไปช่วยเหลือ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อัมพวา และ กก.5 บก.ปคม. พร้อมด้วย พม.จว.สมุทรสงคราม และมูลนิธิเส้นด้าย ได้เข้าตรวจสอบที่มูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
จากการสอบปากคำพยานกว่า 100 ปาก ทั้งผู้ปกครอง เด็ก และบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบว่าภายในมูลนิธิดังกล่าว มีเด็กในการดูแลทั้งหมด 58 คน แต่มีเด็ก จำนวน 33 คน ที่ถูกครูยุ่นลงโทษ ด้วยการทุบตีโดยการใช้เหล็ก ไม้ไผ่ เข้าที่ศีรษะ หลายครั้ง รวมถึงมีการ บีบคอ และลากเด็กไปกดน้ำจนสำลักน้ำ รวมถึงยังมีการบังคับเด็กไปทำงานที่รีสอร์ต โดยให้ค่าจ้างเพียงแค่ 40-60 บาทต่อวัน และหากไม่ทำก็จะถูกหักเงินค่าขนมในแต่ละวันนั้น
ทางพนักงานสอบสวน สภ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้แจ้งข้อหา ครูยุ่น 8 ข้อหา เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายเด็ก และความผิดตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ คือ บังคับใช้แรงงานเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และใช้แรงงานเด็กอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเป็นภรรยา และพนักงานในมูลนิธิฯ ซึ่งได้สรุปสำนวนทั้งหมดส่งให้สำนักอัยการไปแล้ว
ส่วนการการเปิดมูลนิธิคุ้มครองเด็กดังกล่าวตำรวจได้ดำเนินคดีกับนายแก้วสรร อติโพธิ ในฐานะประธานกรรมการของมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ในความผิดฐานเป็นพูดได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ ไม่ยื่นขอแต่งตั้งผู้ปกครองสวัสดิกภาพเด็กแต่ยังกระทำการเป็นผู้ปกครองสวัสดิภาพ ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ขัดต่อศีลธรรมอันดี ทอดทิ้งไม่ดูแลเด็กเล็ก เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน
โดยก่อนหน้านี้ทาง จ.สมุทรสงคราม ได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน สั่งปิดชั่วคราวไปแล้ว แต่ทางกระทรวงมหาดไทย เตรียมทำหนังสือยื่นขอปิดมูลนิธิถาวร ให้กับอัยการ ส่งศาลพิจารณาอีกครั้ง
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังระบุอีกว่า การเปิดมูลนิธิในลักษณะนี้ต้องเสนอให้มีการปิดทั้งหมดเพื่อความสงบสุขและเป็นการดูแลเด็กเล็ก และเพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้แก่สถานสงเคราะห์อื่น ๆ หากทำผิดกฎหมายต้องยกเลิก และดำเนินการให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังพบความเกี่ยวกับนำตู้บริจาคที่พบว่าไปเรี่ยไรเงินกว่า 300 จุดทั่วประเทศของมูลนิธิคุ้มครองเด็กทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.เรี่ยไรเงิน เพราะเป็นการตั้งตู้บริจาคโดยมิได้รับอนุญาต และส่งเส้นทางการเงินให้ทางสรรพากรตรวจสอบแล้ว ซึ่งหากตรวจสอบแล้วไม่เข้าข่ายเงินบริจาคก็ต้องเสียภาษี และถ้าเอาไปใช้ส่วนตัวก็ต้องดูว่าจะเข้าความผิดฐานใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง