ผบ.ตร. ติวเข้ม 'พ.ร.บ.อุ้มหาย' เปิด 4 แนวทางปฎิบัติ ใช้ทันที
ผบ.ตร.น้อมรับคำสั่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ติวเข้มกำชับแนวทางการปฏิบัติ 'พ.ร.บ.อุ้มหาย' บังคับใช้ทันที เน้นย้ำ การบันทึกภาพ-เสียง ขณะจับ ควบคุมตัว
จากมติศาลศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 ตีตก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายอุ้มหายฯ “พ.ร.บ.อุ้มหาย” ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้น จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป คือวันที่ 22 ก.พ. 2566 แก้ไขเป็น ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่งมีผลให้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ทันที
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังหน่วยปฏิบัติทุกหน่วยทั่วประเทศ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ “พ.ร.บ. อุ้มหาย”
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ผบ.ตร. กล่าวว่า หลังรับทราบจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตำรวจจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ.2566 หรือ “พ.ร.บ. อุ้มหาย” ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา จะได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
โดยได้กำชับการปฏิบัติตามแนวทางกฎหมายให้ได้มากที่สุด แม้ว่าขณะนี้ ตำรวจจะขาดแคลนอุปกรณ์ อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดหา แต่ก็เน้นย้ำให้หน่วยบริหารจัดการตามที่มีอยู่เดิม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เบื้องต้น ตำรวจมีกล้องติดตัวเดิม 120,597 ตัว กำลังพลตำรวจที่จะใช้ 160,000 นาย อยู่ระหว่างจัดหาอีกราวๆ 37,000 ตัว โดยได้เร่งให้ทางสำนักงานส่งกำลังบำรุง รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์เครื่องบันทึกภาพและเสียง และเร่งให้ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) รับผิดชอบจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลการบันทึกภาพและเสียง คาดว่าจะเสร็จสิ้น และส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ประมาณต้นเดือน ก.ย. 2566
ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม การแจ้งการควบคุมตัวและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566 ซึ่งจะต้องออกโดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ ตร.ได้แก้ปัญหา โดยจะออกแนวทางให้ตำรวจปฏิบัติไปพลางก่อน จึงได้สั่งการ เน้นย้ำข้าราชการตำรวจ ให้การดำเนินการเกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียงในขณะทำการจับและควบคุม และการแจ้งเรื่องการจับและควบคุม เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ฯ ดังนี้
- ให้หัวหน้าหน่วยงานบริหารจัดการอุปกรณ์กล้องบันทึกภาพและเสียงที่มีอยู่เดิม ให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน (ส.) ฝ่ายป้องกันปราบปราม (ป.) และฝ่ายจราจร (จร.) หรือเจ้าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่จับ และควบคุมตัวเป็นหลักก่อน และหากไม่เพียงพอให้จัดให้กับเจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ประจำวันก่อน
- การบันทึกภาพและเสียง ตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบ บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป โดยให้ใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงที่รัฐจัดหาให้ หรือในกรณีจำเป็นอาจใช้อุปกรณ์อื่นใดที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์และเสียงได้ชัดเจนเพียงพอ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในตามแบบบันทึกการควบคุมตัว ที่ ตร.ได้ดำเนินการทำเป็นแนวทางการปฏิบัติ
- การแจ้งการควบคุมตัวไปยังพนักงานอัยการ และนายอำเภอท้องที่ที่มีการจับกุม หรือผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ ตาม ม.22 วรรคสอง เบื้องต้นให้ใช้วิธีประสานแจ้งไปยังศูนย์รับแจ้งของสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมการปกครอง ซึ่งได้แจ้งแนวทางไปยังหน่วยแล้ว พร้อมให้จัดทำสมุดคุมการแจ้ง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ ชื่อผู้ต้องหา, ข้อหา, เจ้าหน้าที่ผู้แจ้ง - ผู้รับแจ้งพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ วัน เวลาที่แจ้ง
- การจัดเก็บบันทึกข้อมูลภาพและเสียง ในเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบในการจับและควบคุมตัว บันทึกข้อมูลภาพและเสียงลงในเครื่องคอมพิวเตอร์หน่วยงานของตนเองไปพลางก่อน โดยในการเก็บข้อมูลให้จัดทำให้ปรากฎชื่อและนามสกุลของผู้ถูกจับ พร้อมทั้งหมายเลขประจำวันไว้ด้วย
ส่วนการจัดเก็บในระบบภาพรวมตำรวจขณะนี้ สทส. อยู่ระหว่างการจัดหาระบบจัดเก็บข้อมูลภาพและเสียงในระบบ CRIMES ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 2566
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ได้เรียกประชุมกำชับข้าราชการตำรวจในการปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหาย แม้ว่าขณะนี้ ตำรวจจะขาดแคลนอุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกภาพและเสียง รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูล แต่ได้แจ้งแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาให้หน่วยไปเบื้องต้นแล้ว โดยให้ตำรวจใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำสั่งการ ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบ ให้ทำความเข้าใจหลักกฎหมาย วิธีการ ขั้นตอนการปฏิบัติ และทราบแนวทางปฏิบัติ ที่ ตร. กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรค1
ทำให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ.2566 ไม่มีผลบังคับใช้มาแต่ต้น ซึ่งมีผลให้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ทันที