ข่าว

'บิ๊กโจ๊ก' แถลงปิดคดี โรงงานบังคับใช้แรงงานไม่เป็นธรรม รวบผู้ต้องหา 3 ราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'บิ๊กโจ๊ก' แถลงปิดคดี โรงงานผลิตเสื้อผ้า จ.ตาก บังคับใช้แรงงานไม่เป็นธรรม รวบฝ่ายบริหารเป็นผู้ต้องหา 3 ราย ดำเนินคดีอาญา

'บิ๊กโจ๊ก' พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็กสตรีครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ผอ.ศพดส.ตร.) จัดแถลงกรณี สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ของประเทศอังกฤษ นำเสนอข่าว โรงงานผลิตเสื้อผ้า แห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด บังคับใช้แรงงาน ชาวเมียนมาอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เมื่อปี 2560-2563

 

 

ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. ได้สั่งการให้ สภ.แม่สอด และตำรวจภูธรภาค 6 ดำเนินการสืบสวนจนทราบว่านายจ้างคือ โรงงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใน ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก พร้อมสั่งการตรวจสอบโรงงานแห่งนี้ โดยสัมภาษณ์คัดแยกเหยื่อ 2 ครั้ง เพื่ออำนวยความยุติธรรม

 

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 28-29 ธ.ค. 2565 ทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการคัดแยกเหยื่อ จำนวน 120 คน
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 10 ม.ค. 2566 ทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการคัดแยกเหยื่อ จำนวน 49 คน

 

ทั้ง 2 ครั้ง ไม่ปรากฏความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือการบังคับใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย จากนั้น องค์กรเอกชน (NGO) ร้องขอให้มีการคัดแยกเหยื่อเพิ่ม ทีมสหวิชาชีพจึงดำเนินการ เป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 24-27 ม.ค. 2566 ทำการสัมภาษณ์ ลูกจ้างโรงงานจำนวน 20 ราย ผลการคัดแยก พบการกระทำความผิด คือ

 

  • ป.อาญา ความผิดอาญาฐาน ฉ้อโกง,บัตรอิเล็กทรอนิกส์
  • พรก.บริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว "ยึดเอกสารสำคัญฯ"
  • พรบ.คุ้มครองแรงงาน "ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับความยินยอม"

 

ทั้งนี้ ในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ยังพบความผิดปกติในการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง โดยอดีตผู้จัดการโรงงานและทีมงานนำบัตรเอทีเอ็มของลูกจ้างไปกดเงินสดและทำการหักเงินบางส่วน ก่อนจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง

 

 

เบื้องต้น พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับ ผู้ต้องหา 3 ราย ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้ครบทั้ง 3 ราย

 

นอกจากนี้ ยังได้ออกหมายเรียกให้ กรรมการผู้จัดการ คนที่ 1 มารับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน "เป็นนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป" ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรง พ.ศ. 2541

 

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้กับ บุตรสาว กรรมการผู้จัดการคนที่ 2 มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน "เป็นนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานโดนไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป" ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

 

 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นคดีที่สื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนต่างประเทศ และประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้ได้มีการประชุม เร่งรัด และติดตามการดำเนินคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้ครบทุกราย 

 

 

อีกทั้งได้กำชับชุดพนักงานสอบสวนให้มีความรัดกุมในการรวบรวม พยาน หลักฐาน รวมถึงให้ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบใช้หลักผู้เสียหายเป็นจุดศูนย์กลาง รวมถึง อำนวยความยุติธรรมในการดำเนินคดี

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ