ข่าว

เปิด 4 ข้อ โทษ 'ประหารชีวิต' ถูกพิจารณายกเว้น 'แอม' อยู่ในข่าย

29 เม.ย. 2566

หากพูดถึงคดี 'แอม ไซยาไนด์' เมื่อศาลตัดสิน อยู่ในข่ายถูกตัดสิน ประหารชีวิต แต่มี 4 ข้อ ที่จะได้รับการพิจารณายกเว้น ซึ่ง แอม อยู่ในเงื่อนไขนั้น

คดี “แอม ไซยาไนด์” กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญระดับโลก ที่แม้กระทั่งสื่อต่างชาติ ต่างให้ความสนใจ ติดตามคดี ที่เข้าข่าย “ฆาตกรรมต่อเนื่อง” ด้วยไซยาไนด์ อย่างใกล้ชิด ความผิดของ “แอม” หากเข้าสู่กระบวนการศาลตัดสินแล้ว ถือเป็นการกระทำความผิดที่มีบทลงโทษขั้นสูงสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา คือการ “ประหารชีวิต”

 

 

 

แต่ในตัวบทกฎหมาย มีข้อยกเว้นสำหรับนักโทษหญิงที่ “ตั้งครรภ์” คมชัดลึก รวบรวมความรู้ ทำผิดแบบไหน ถึงโดนโทษประหารชีวิต, เงื่อนไขแบบไหน ที่อยู่ในข่ายลดโทษ รวมทั้งที่ผ่านมา มีนักโทษหญิง ถูกประหารชีวิต มาแล้วกี่คน

 

นักโทษ

ประวัติ ประหารชีวิต ของไทย

 

โทษประหารชีวิตในประเทศไทย เป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นสูงสุด ตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 54 ชาติ ที่ยังคงโทษประหารชีวิต ทั้งในทางกฎหมาย และในทางปฏิบัติ ส่วนในชาติอาเซียน 10 ประเทศ มีเพียงประเทศกัมพูชา และฟิลิปปินส์ ที่การประหารชีวิตผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าประเทศลาวและบรูไน ไม่ได้ทำการประหารชีวิตมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

 

 

ประเทศไทยยังคงโทษประหารชีวิต แต่ดำเนินการเป็นระยะๆ เท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2478 มีการประหารชีวิตแล้ว 326 คน โดย 319 คนประหารด้วยการยิงเป้า นักโทษรายสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า คือ สุดใจ ชนะ และ 7 คน ประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษ การประหารชีวิตครั้งล่าสุดของไทย ในรอบ 9 ปี เกิดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 คือธีรศักดิ์ หลงจิ

 

นักโทษ

 

กฎหมายอาญาได้กำหนดโทษทางอาญา สำหรับผู้กระทำความผิดไว้ 5 ประการได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน โดยการประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษสูงสุดแก่ผู้กระทำความผิดร้ายแรง กฎหมายไทยอนุญาตให้จัดโทษประหารชีวิตแก่อาชญากรรม 35 รูปแบบ ซึ่งรวมถึง การกบฏ, ฆาตกรรม และการค้ายาเสพติด

ความผิดต้องโทษประหารชีวิต

 

1. ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

  • มาตรา 107 ผู้ใดปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต
  • มาตรา 108 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำนั้น มีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

  • มาตรา 109 ผู้ใดปลงพระชนม์พระราชินี หรือรัชทายาท หรือฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต
  • มาตรา 110 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

2. ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

  • มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
  • มาตรา 122 ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่ออุปการะแก่การดำเนินการรบ หรือการตระเตรียมการรบของข้าศึก ถ้าการอุปการะนั้นเป็นการทำให้ป้อม ค่าย สนามบิน ยานรบ ยานพาหนะ ทางคมนาคม สิ่งที่ใช้ในการสื่อสาร ยุทธภัณฑ์ เสบียงอาหาร อู่เรืออาคาร หรือสิ่ง อื่นใดสำหรับใช้เพื่อการสงคราม ใช้การไม่ได้ หรือตกไปอยู่ในเงื้อมมือ ของข้าศึก ยุยงทหารให้ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ ก่อการกำเริบ หนีราชการหรือละเมิดวินัย กระทำจารกรรม นำ หรือแนะทางให้ข้าศึก หรือกระทำโดยประการอื่นใด ให้ข้าศึกได้เปรียบในการรบผู้กระทำ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
  • มาตรา 124 ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือได้ไป ซึ่งข้อความเอกสารหรือสิ่งใดๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ ที่กระทำเพื่อให้รัฐต่างประเทศได้รับประโยชน์ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
  • มาตรา 127 ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก ถ้าเหตุร้ายเกิดขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี

 

3. ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

  • มาตรา 132 ผู้ใดฆ่าหรือพยายามฆ่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือ จำคุกตลอดชีวิต

 

4. ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

  • มาตรา 135/1 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญา ดังต่อไปนี้
  1. ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
  2. กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
  3. การกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

 

ถ้าการกระทำนั้น ได้กระทำโดยมีความมุ่งหมาย เพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำ หรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลาดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 6 หมื่นบาท ถึง 1 ล้านบาท

 

5. ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

  • มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 4 หมื่นบาท หรือประหารชีวิต
  • มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 4 หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

 

6. ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม

  • มาตรา 201 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการพนักงาน อัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์ สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำ การหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2พันบาท ถึง 4 หมื่นบาท หรือประหารชีวิต
  • มาตรา 202 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการพนักงาน อัยการผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 4หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

 

7. ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

  • มาตรา 218 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย แพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานหรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ เรือกลไฟหรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี
  • มาตรา 224 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 หรือ มาตรา 222 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

ถ้าเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี

 

8. ความผิดเกี่ยวกับเพศ

  • มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8 พันบาท ถึง 4 หมื่นบาท
  • มาตรา 277ทวิ ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 276 วรรคหนึ่ง หรือ มาตรา 277 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
  • มาตรา 277ตรี ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 276 วรรคสาม หรือ มาตรา 277 วรรคสี่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
  • มาตรา 280 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 278 หรือ มาตรา 279 เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
  • มาตรา 283 ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 4 หมื่นบาท

 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 4 หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

 

นักโทษ

 

9. ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

  • มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี
  • มาตรา 289 ผู้ใดฆ่าบุพการี ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุ ที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำ ตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วย หรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการ ที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อ หลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ ต้องระวางโทษประหารชีวิต

 

10. ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

  • มาตรา 313 ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เอาตัวเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไป เอาตัวบุคคลอายุกว่า 15 ปีไป โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจ ด้วยประการอื่นใด หรือหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 3 หมื่นบาท ถึง 4 หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูก หน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังนั้นรับอันตรายสาหัส หรือเป็นการกระทำโดย ทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้นรับอันตราย แก่กาย หรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

ถ้าการกระทำความผิดนั้นเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือผู้ถูกกักขังนั้นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

 

11. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

  • มาตรา 339 ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้อง ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
  • มาตรา 339 ทวิ ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรก หรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
  • มาตรา 340 ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
  • มาตรา 340 ทวิ ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองได้กระทำโดยแสดง ความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึง แก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

 

12. พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (แก้ไขล่าสุด พ.ศ. 2560)

  • มาตรา 65 ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท หรือประหารชีวิต
  • มาตรา 66 ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท หรือประหารชีวิต
  • มาตรา 93 ผูู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังประทุษร้าย ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษ ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทําความผิดตามวรรคสามเป็นเฮโรอีนผู้กระทําต้องระวางโทษเป็นสองเท่า และถ้าเป็นการกระทําต่อหญิงหรือต่อบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผูู้กระทําต้องระวางโทษประหารชีวิต

 

แอม ไซยาไนด์

 

เปิดเหตุผล “แอม” อยู่ในข่ายไม่โดนโทษประหารชีวิต

 

วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246

เมื่อจำเลย สามีภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีดังต่อไปนี้

 

  • เมื่อจำเลยวิกลจริต
  • เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ถ้าต้อจำคุก
  • จำเลยตั้งครรภ์
  • จำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึง 3 ปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น

 

ทั้งนี้ หากว่ากันด้วยความผิด “แอม” อยู่ในข่ายได้รับโทษประหารชีวิต แต่ก็อยู่ในเงื่อนไขลดโทษตามวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ดังนั้น เมื่อโทษของการฆ่าคน คือ ประหารชีวิต แต่หากตั้งครรภ์อยู่ จะต้องรอคลอด ไปจนถึงการเลี้ยงดูบุตร ในเรือนจำ 3 ปี ก่อนจะให้บุตรออกมา จากนั้น ลดโทษจากประหารชีวิต เป็นจำคุกตลอดชีวิต โดยโทษจำคุกตลอดชีวิตในประเทศไทย คือ 50 ปี หากลดโทษอีก 30% ของโทษจริง ก็เท่ากับว่า แอมจะเหลือติดคุก 15-16 ปี

 

รายชื่อผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตในสมัยปัจจุบัน

 

ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ได้เปลี่ยนวิธีประหารชีวิตจากการตัดศีรษะมาเป็นการยิงเป้า และเปลี่ยนเป็นการฉีดสารพิษในปี 2546 มีผู้หญิงถูกประหารชีวิต 3 คน และทั้งหมดถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า

 

  1. ใย สนบำรุง อายุ 62  ปี ถูกประหารชีวิต เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2485  ในข้อหาใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด และปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์
  2. กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน อายุ 51 ปี ถูกประหารชีวิต เมื่อวันที่   13 ม.ค. 2522 ในข้อหาลักพาตัวเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่ และฆ่าคนตายโดยเจตนา           
  3. สมัย ปานอินทร์ อายุ 59 ปี ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2542 ในคดีค้ายาเสพติด