ข่าว

เปิดพฤติกรรม 'แอม' ทำไมเข้าข่าย 'ฆาตกรต่อเนื่อง' หญิง รายแรกของไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักอาชญาวิทยา วิเคราะห์ พฤติกรรม 'แอม' ไซยาไนด์ ทำไมเข้าข่าย 'ฆาตกรต่อเนื่อง' หญิง ผิดปกติทางจิต หรือ ต่อต้านทางสังคม

หากพูดถึง “ฆาตกรต่อเนื่อง” ระดับตำนานของโลก ชื่อของ Jack the Ripper ฆาตกรต่อเนื่องชาย ย่านลอนดอน ขึ้นแท่น โดยเขามักจะฆ่าโสเภณี ด้วยการปาดคอ และคว้านท้อง เอาอวัยวะภายในออกไป แต่สำหรับฆาตกรต่อเนื่องของไทย ชื่อของ “ซีอุย แซ่อึ๊ง” ก็ถูกนึกถึงได้เป็นรายแรกเช่นกัน

 

 

แต่การตายของเหยื่อ ที่เข้าสู่รายที่ 13 ของ “แอม” กำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เพราะที่ผ่านมา คดีฆาตกรรม ที่เข้าข่าย “ฆาตกรต่อเนื่อง” มักเกิดจากผู้ก่อเหตุที่เป็นผู้ชาย และ รูปแบบการก่อเหตุ มีความรุนแรง แต่การตายเหยื่อของแอม พบ “ไซยาไนด์” ซึ่งเป็น ยาพิษ อยู่ในร่างกาย ลักษณะเดียวกัน จะถือเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” หญิง รายแรกของประเทศไทยหรือไม่

 

ไซยาไนด์

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานคณะกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมมองกับ คมชัดลึก ว่า  หลายเคสของผู้เสียชีวิตที่เป็นข่าว มีความเชื่อมโยงกัน คนที่ใกล้ตัว เสียชีวิตทั้งหมด และใช้รูปแบบ ด้วยการชักชวนกินข้าว, ยืมเงิน หรือ ชวนเล่นแชร์ เพราะฉะนั้น เคสของ “แอม” มีแนวโน้มใกล้เคียง “ฆาตกรต่อเนื่อง” แต่ต้องดูการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ และผลชันสูตรศพของผู้เสียชีวิตรายอื่น เพื่อหาความเชื่อมโยงกัน

 

คำนิยาม “ฆาตกรต่อเนื่อง”

 

  1. ผู้กระทำความผิดคนเดียวกัน
  2. มีเหยื่อตั้งแต่ 3 รายขึ้นไป ถูกฆาตกรรม
  3. เวลาที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน
  4. รูปแบบการก่อเหตุคล้ายกัน

กฤษณพงค์ พูตระกูล

รูปแบบการก่อเหตุที่เปลี่ยนไป

 

ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ในอดีต ต่างประเทศ อย่างเคสที่โด่งดัง คือ Jack the Ripper จะกระทำต่อเหยื่อแบบรุนแรง ทำลายศพ ชำแหละศพ แต่ต่อมามีวิวัฒนาการมากขึ้น รูปแบบการก่อคดีอาชญากรรมเปลี่ยนไป โดยพบว่า ผู้ก่อเหตุ จะไม่ใช่พวกมีความผิดปกติทางจิต แต่อาจจะมีปัญหาเรื่อง การต่อต้านสังคม บางรายมีปัญหาประสงค์ต่อทรัพย์สิน

 

รูปแบบการก่อเหตุของ “แอม”

 

เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นผู้หญิง การจะเอาทรัพย์สินจากผู้อื่น ด้วยการประทุษร้าย จึงเป็นเรื่องยาก กรณีของแอม จึงน่าจะเกิดการศึกษา เรียนรู้ด้วยตัวเอง ว่าถ้าใช้รูปแบบการก่อเหตุในลักษณะนี้ จะทำให้เหยื่อเสียชีวิตได้ และทำให้การพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต เป็นเรื่องยาก เพราะแพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุการตายแบบกว้างๆ ว่า ระบบหัวใจล้มเหลว ญาติไม่ติดใจการเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ก่อเหตุรายนี้ รู้ช่องโหว่ เพราะการตายที่ผิดธรรมชาติ จะต้องมีการผ่าพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญ แอมจึงอาศัยการตีสนิท ให้เหยื่อไว้เนื้อเชื่อใจ และก่อเหตุ 

 

แอม คดีสาวไซยาไนด์

 

ดร.กฤษณพงค์ ไม่เชื่อว่า แอมจะมีปัญหาทางจิต หรือเป็นคนวิกลจริต เพราะคนที่จะทำเรื่องนี้ได้ ต้องมีกระบวนการความคิดเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่เลือกเหยื่อ ตีสนิท วางแผน ชวนเล่นแชร์ ชักชวนร่วมปล่อยเงินกู้ด้วยกัน ซึ่งคนวิกลจริต ทำแบบนี้ไม่ได้

 

แรงจูงใจ

 

"ทฤษฎีการกดดันทางสังคม เพราะพื้นฐานของมนุษย์ มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากมีชีวิตที่สุขสบาย แต่หลายคนไม่สามารถทำอาชีพที่สุจริต คนบางคนมีความกดดัน จึงเลือกใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง โดยที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีความผิดปกติทางจิต แต่สมัยก่อน คนเกิดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ คนร้ายเองมีการปรับตัวเรียนรู้ในการก่อเหตุ" ดร.กฤษณพงค์ อธิบาย

 

งานวิจัยตอกย้ำ

 

อย่างไรก็ตาม จากรายงานวิจัย ชื่อ ความแตกต่างทางเพศของฆาตกรต่อเนื่อง ตีพิมพ์ปี 2019 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่าฆาตรกรต่อเนื่องหญิง มักจะหวังในทรัพย์ โดยมากจะพบว่า เหยื่อมักเป็นคนใกล้ตัว คนใกล้ชิด หรือกระทั่งคนรักที่รู้จักกันดี และมักจะฆ่าคนที่สู้ไม่ได้มากกว่าฆาตรกรชาย เช่น ผู้ป่วย หรือเด็ก แต่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการฆ่า และเลือกใช้การวางยาพิษมากกว่า โดยแรงจูงใจจากผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะ มรดก เงินประกัน ทรัพย์สิน เป็นต้น

 

 

โดยฆาตรกรชาย 85% ฆ่าคนแปลกหน้า ส่วนฆาตรกรหญิง 58% ฆ่าญาติ หรือมีความสัมพันธ์ในครอบครัว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ