ข่าว

ปมร้อน ถอนหมายจับ 'สว.ทรงเอ' อดีตผู้การสันติบาล มอง เคลียร์ชุดสอบสวน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตผู้การสันติบาล มองปมร้อน ถอนหมายจับ 'สว.ทรงเอ' ย้ายชุดสืบสวน เคลียร์คนรู้เห็น ด้าน รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แจงไม่ทำงานล่าช้า

รายการ คมชัดลึก เนชั่นทีวี ยังคงเกาะติดประเด็นร้อนเรื่องราวของ สว.ทรงกับการออกและถอนหมายจับ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีการพูดคุยกันในประเด็น ถอนหมายจับ สว. เพราะไม่ปรึกษา “อธิบดี”?

พูดคุยกันในประเด็น ถอนหมายจับ สว. เพราะไม่ปรึกษา “อธิบดี”?
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในมุมของศาล ตามจดหมายที่เผยแพร่ออกมา ลงวันที่ 28ก.พ. เป็นประเด็นที่ศาลถูกทางสภาชี้แล้วว่า มีผู้เกี่ยวข้องในการประพฤติมิชอบ ทำโดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมจำนวนกี่คน เป็นการทำให้ปรากฏในข้อความหรือเนื้อความในสาระการแก้ข้อต่างจากเอกสารที่หลุดมารอบแรกของตำรวจ

 พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

เป็นการเขียนเนื้อความที่อิงกับกฎหมาย เพื่อให้เห็นกระบวนการในขั้นตอนนั้น ให้ทราบว่าทำไมต้องถอนหมายจับ โดยมีหลักการและเหตุผลตามตัวหนังสือที่ปรากฎ การที่ปล่อยให้หลุดออกมา เพื่อให้สังคมได้อ่านเนื้อความและมีความเห็นที่แตกต่าง ฝ่ายนักกฎหมายก็ว่าชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายประชาชนก็มองว่าจะชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร ในเมื่อไปยุ่งเกี่ยวกับตำรวจในการจะจับกุมคนร้ายที่ทำผิดกฎหมาย การเข้าใจตรงนี้ต่างบริบทกัน ระหว่างผู้ที่ถูกกล่าวหา แต่ก็ต้องไปต่อสู้ตามกระบวนการเพราะยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 
 

ต่อคำถามในรายการที่ว่า มีระเบียบข้อบังคับอะไรบ้างไหม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อจะทำการออกหมายจับบุคคลสำคัญทางการเมือง จะต้องขอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาก่อน  ตอบว่า สมัยที่ยังรับราชการอยู่ หมายจับส่วนใหญ่จะออกมาจากฝ่ายกฎหมาย ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มี สมัยยังเป็นกรมตำรวจก็มี ถ้าจะมีการออกหมายจับผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ โดยหลักการจะต้องมีการรายงานและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ แต่บางกรณีอาจจะไม่ต้องแจ้งให้ทราบ ถ้าเป็นกรณีเร่งด่วนหรือเป็นกรณีที่ส่อเจตนาว่าจะหลบหนี เป็นคดีสำคัญ สามารถมารายงานทีหลังได้ ไม่ได้มีความผิดที่รุนแรง แต่ก็จะมีคำสั่งเป็นตัวหนังสือจากตัวผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะเรียกว่าข้อสั่งการ ซึ่งจะอิงตามระเบียบของ ตร. ซึ่งจะมีระเบียบเกี่ยวกับคดี ให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติและเป็นคำสั่งย่อย

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตอบคำถามในรายการ ถ้านับเฉพาะอัยการมีระเบียบอะไรหรือไม่ หากจะต้องทำคดีที่เกี่ยวกับบุคคลสำคัญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งได้ระบุว่า จะใช้คำว่าคดีสำคัญ ไม่ได้ใช้ว่าบุคคลสำคัญ คดีที่ประชาชนมีระเบียบการดำเนินคดีอาญา เมื่อรับสำนวนแล้วให้รายงานถึงอัยการสูงสุด อาจจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานคนเดียว มีระเบียบภายในกำกับ การไม่ปฏิบัติตามระเบียบภายในต่างๆอาจจะเป็นละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้ ในส่วนของศาลตามคำชี้แจงของรองอธิบดีศาลอาญา 

รับทราบว่ามีระเบียบแต่ไม่ทราบในรายละเอียด เพราะเป็นหน่วยงานคนละส่วนกัน สำหรับประเด็นเรื่องการถอนหมายจับ ที่มีการระบุว่าเป็นเรื่องปกติ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบว่า จะไม่ค่อยพบหรืออาจจะมีเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นข่าว ส่วนสถานะของคดีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายจะเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด เป็นเจ้าหน้าที่สอบสวนรับผิดชอบ ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยได้แต่งตั้ง ให้ พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

พูดคุยกันในประเด็น ถอนหมายจับ สว. เพราะไม่ปรึกษา “อธิบดี”?

และมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวน ขณะนี้ได้มีการแบ่งสำนวนการสอบสวนออกเป็น 2 สำนวน ซึ่ง นายโกศลวัฒน์ ได้อธิบายว่า การแบ่งออกเป็น 2 สำนวนนั้น สำนวนแรกเป็นการจับกุม ทุน มิน ลัต และมีการจับหลายคน มีระยะเวลาตามกฎหมาย ต้องทำให้ทัน ถ้าทำไม่เสร็จในระยะเวลาฝากขังก็ต้องมีการปล่อยตัว ชุดแรกได้มีการฟ้องไปแล้ว โดยกองคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุด นัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 15 -16 , 23, 27-28  มี ทุน มิน ลัต ลูกเขย ของ สว.ทรงเอ และพวก 


คำถามสำคัญทำไมยังไม่สามารถออกหมายเรียก หมายจับ สว.ทรงเอ ได้ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบว่า ชุดที่2ในคดี พนักงานสอบสวนได้ทำเรื่องถึงอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ม.ค.อัยการสูงสุดรับเป็นคดีนอกราชอาณาจักร วันที่ 26ม.ค. ถึงวันนี้ระยะเวลาแค่เดือนเศษ และมีการร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ที่ถูกกล่าวหาเข้ามาด้วย กระบวนการพยานหลักฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้จะมีการเชื่อมโยงหลักฐาน ผู้ต้องหาในคดี แต่การกระทำของแต่ละคนจะต่างกัน ในวิธีการพิจารณาคดีความอาญา ต้องให้มีการสอบสวนทั้ง2ฝ่ายเพื่อให้ได้ความจริง ทำให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม4ประเด็น ถึงขณะนี้ทำเสร็จไป3ประเด็นแล้ว

 


ประเด็นรองที่ร้อนแรงไม่แพ้กันในเรื่องของการออกหมายจับ โดยผู้พิพากษาเวร ในวันที่ 3 ต.ค.2565 ก็ใช้เอกสารหลักฐานที่ระบุว่าต้องมีการแปลจากภาษาอื่นนับพันแผ่น ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่ใช้ในขณะนี้ และได้ถูกถอนหมายจับซึ่งไม่ใช่เรื่องพยานหลักฐาน แต่เป็นเรื่องของการไม่รายงานผู้บังคับบัญชา นายโกศลวัฒน์ อธิบายว่า ในส่วนของการทำงานของอัยการถือว่าไม่ล่าช้าเพราะใช้เวลาเพียงเดือนเศษ และตั้งรองอธิบดีฝ่ายอัยการสอบสวน เข้าไปช่วยทำงานกับชุดทำงานสอบสวน


การขออกหมายจับที่เกิดขึ้นหากลำดับตามกฎหมาย ในความเป็นจริงแล้วหน่วยไหนจะเป็นผู้ดำเนินการการออกหมายจับ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องไปถึงกองบัญชาคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ต.สุพิศาล บอกว่า คดียาเสพติดเป็นความผิดตามพ.ร.บ.มีเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายโดยทั่วไปทั่วประเทศ กรณีกองกำกับการสืบสวน 2 เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการสืบสวน ที่เมื่อคดีที่เป็นคดียาเสพและมีบุคคลสำคัญเกี่ยวข้องรวมทั้งเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จะเป็นคดีที่เป็นความลับพอสมควร เป็นการสืบสวนต่อเนื่อง
 

สมัยก่อนตำรวจออกหมายจับเองได้ สมัยนี้ต้องร้องขอจากศาล ซึ่งเจ้าพนักงานสอบสวน สามารถร้องขอออกหมายจับต่อศาลได้ ซึ่งตามกฎหมายชุดสอบสวนมีอำนาจร้องขอได้ ถ้าไม่มีอำนาจจะขออกหมายจับตั้งแต่แรกไม่ได้ จากนั้นจะส่งสำนวนให้กับทางตำรวจปราบปรามยาเสพติดที่เป็นเจ้าของพื้นที่นั้นๆ ในการสอบคดี


ขณะที่การถูกย้ายของหัวหน้าชุดสอบสวนคดี จากสารวัตรของกองกำกับการสืบสวน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล กับ สารวัตรสืบสวน สน.พญาไท ในทางการรับราชการถือว่าตกต่ำลงหรือสูงขึ้น พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า ก็ถือว่าตกต่ำลงนิดหน่อย เพราะสารวัตรในกอง บก.สืบสวน มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตนครบาลกว้างขวางกว่า ส่วนสารวัตรสืบสวน สน.พญาไท ก็รับผิดชอบในพื้นที่ตามกำหนดเท่านั้นเอง ซึ่งถูกมองได้ว่าเป็นการลดตำแหน่งลง และเป็นการจัดการคนที่รู้เรื่องราวในการสอบสวนออกจากระบบทั้งหมด คนที่เข้ามารับงานต่อ ก็จะไม่รู้การเชื่อมโยงของหลักฐานต่างๆในคดี

พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 บช.ปส.

ด้าน พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 บช.ปส. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ชี้แจงในเรื่องการตัง้ข้อสังเกตถึงความล่าช้าของการออกหมายเรียกว่า จะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน ในระหว่างนี้ตามการรายงานข่าวแล้วว่า คดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตามความเห็นของท่านอัยการสูงสุด เมื่อวันที่26ม.ค.ที่ผ่านมา และพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมทำงานกับพนักงานสอบสวนก็ทำงานร่วมกัน ซึ่งไม่มีความล่าล้าหรือนิ่งนอนใจ มีพยานหลักฐานที่จะต้องรวบรวมเพื่อพิสูจน์ทราบการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา การสอบสวนตาม ป.วิอาญา มาตรา 131

 

ระบุชัดเจนให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชิ้น ที่สามารถกระทำได้ ซึ่งต้องทำการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่มีการเกี่ยงงอนใดๆทั้งสิ้น และถามกลับว่าทำไมต้องรีบ แล้วพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ไม่เพียงพอ พอสำนวนขึ้นสู่กระบวนการชั้นต่อไป ผู้ต้องหาหลุดคดีขึ้นมา ความรับผิดชอบจะอยู่ที่ใคร คดีนี้ไม่ได้ขาดอายุความภายในวันสองวัน หรือเดือนสองเดือน ในเรื่องของการออกหมายจับก่อนหน้า ไม่ขอไปก้าวล่วงดุลยพินิจของผู้พิพากษา

 

แต่การออกหมายเรียกนั้น จะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ ในตอนนี้ไม่มีธงวางไปในทิศทางไหนว่าจะออกหมายเรียกหรือออกหมายจับ ถ้าผิดยังไงก็ต้องจับกุม ถ้าไม่ผิดก็ไม่ดำเนินการทั้งออกหมายจับหรือหมายเรียก แต่ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ผิด จะทำงานให้ตรงไปตรงมาให้ดีที่สุด 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ