ข่าว

'มูลนิธิกระจกเงา' วอนสังคมอย่ารีบพิพากษาคดี 'น้องต่อ' รอพยานหลักฐานครบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ขอสังคมอย่าเพิ่งรีบพิพากษา พ่อ-แม่ 'น้องต่อ' ขอให้รอพยานหลักฐานให้ครบ และขอฝากไปยังหน่วยงานรัฐที่ใช้กฏหมาย อย่านำเอาข้อมูลส่วนตัวที่เกิดเหตุมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะเป็นการสร้างผลกระทบต่อผู้เสียหายหรือผู้ต้องสงสัย

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ตามคดี 'น้องต่อ' มาตั้งแต่วันแรกๆ เปิดเผยถึงคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา พ่อของน้องต่อได้ติดต่อมูลนิธิกระจกเงาผ่านข้อความในเฟสบุ๊กว่าลูกได้หายตัวไป หลังจากนั้นทีมงานก็รับเรื่องและได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อขอดูเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านพนักงานสอบสวน ฝ่ายสืบสวน สายตรวจตำบลที่เป็นคนรับเรื่องมาคนแรก ก็ได้มีประเมินร่วมกันว่า เด็กได้หายตัวไปจริง 

 

 

โดยปกติเวลามี เด็กเล็ก หายเราจะประเมินเรื่องการแย่งการปกครองบุตรก่อนเป็นอันดับแรกว่าลักษณะครอบครัวทั้งสองฝ่ายมีใคร อยากนำตัวเด็กไปเลี้ยงหรือไม่ หลังการตรวจสอบพบว่าไม่มีใครอยากนำตัวเด็กไปเลี้ยง ไม่มีการแย่งการปกครองบุตรกัน

 

ลำดับต่อมาประเมินเรื่องการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ว่าเด็กไปประสบเหตุที่แหล่งน้ำที่รกร้างแต่ด้วยกายภาพของเด็ก 8 เดือนยังเดินไม่ได้คลานได้อย่างเดียว ซึ่งการที่เด็กจะคลานออกจากบ้านไประยะทางไม่น่าไกลนัก ซึ่งน่าจะเจอตัวไปนานแล้ว 

 

 

คราวนี้ก็ประเมินว่าน่าจะเกิดเหตุร้ายหรือมีคนพาเด็กไป ทาง มูลนิธิกระจกเงา จึงตัดสินใจลงพื้นที่วันเกิดเหตุเลย จึงมาถึงที่เกิดเหตุเวลา 22.00 น. ก็มาดูข้อเท็จจริง หรือ บริบทในพื้นที่ก็ทำการประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่พบน้องต่อ

 

 

มีการพบเบาะแสเพิ่มเติมหรือไม่ นายเอกลักษณ์ ระบุว่า เรามีการทำงานอยู่ 3 ส่วน คือ กระบวนการสืบสวนสอบสวน กระบวนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล เด็กหาย เพราะว่ามีสื่อมวลชนลงมาติดจามจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลของน้องได้เผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ และก็มีกระบวนการลงพื้นที่ค้นหาในจุดรกร้าง แหล่งน้ำและบริเวณที่เราสงสัยว่าอาจจะมีการนำเด็กไปซุกซ่อน ไปอำพรางลักษณะของการเอาเด็กไปวางเอาไว้ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่พบเบาะแสใด 

 

 

อย่างไรก็ตามมีประชาชนจำนวนนึงที่มีการส่งเบาะแสเป็นภาพเด็กเข้ามา เวลาไปสถานที่สาธารณะ เวลาผู้หญิงอุ้มเด็ก คนอุ้มเด็ก ก็มีการสงสัยว่าเป็นน้องต่อ ก็มีการส่งภาพมา 2 ราย มูลนิธิกระจกเงาก็ส่งรูปให้กับครอบครัวตรวจสอบ แต่ก็ยืนยันว่าลักษณะคล้ายกัน แต่ก็ไม่ใช่คนเดียวกัน

 

น้องต่อ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าพบความผิดปกติในการตามหาเด็กหรือไม่ นายเอกลักษณ์ ระบุว่า ถ้าประเมินถึงเรื่องการแจ้งเหตุ โดยพ่อของ 'น้องต่อ' ได้แจ้งเหตุตอนบ่ายสามโมง เป็นการส่งข้อความเข้ามาโดยตรงทางมูลนิธิกระจกเงาก็ได้มีการสอบถามว่า รู้รายละเอียดของเราและมาแจ้งที่เราได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นหน่วยงานตามหาคนหาย

 

 

หลังจากที่ลูกเค้าหายไปตอนเช้าพ่อของเขาได้ไปโพสต์ในกลุ่มเฟสบุ๊กเป็นกลุ่มของอำเภอบางเลน พื้นที่เกิดเหตุ ว่าเกิดเหตุลูกหายไป ซึ่งมีคอมเม้นได้แนะนำควรจะแจ้งที่มูลนิธิกระจกเหงาทำให้พ่อของน้องต่อติดต่อเข้ามาตามที่มีคนแนะนำ 

 

 

ถ้าถามว่า เป็นการแจ้งเหตุที่รวดเร็วหรือไม่ นายเอกลักษณ์ ระบุว่า ดูจากลำดับเหตุการณ์ถ้าพ่อของเด็กมีการให้ข้อมูลเป็นจริง ว่า เด็กหาย ไปตอนเช้าและมีการไปแจ้งสายตรวจตำบล หลังจากนั้นสายตรวจตำบลแนะนำว่า ถ้าเด็กหายแบบนี้ให้ไปแจ้งความที่โรงพัก หลังจากแจ้งความโรงพัก เขาก็พยายามค้นหารอบบ้าน ไม่เจอก็ไปโพสต์ในกรุ๊ปแฟนเพจของบางเลนและมาแจ้งที่กระจกเงาไทม์ไลน์มันก็ ค่อนข้างรวดเร็ว

 

 

ส่วนเด็กจะมีโอกาสรอดหรือไม่ นายเอกลักษณ์ ระบุว่า เวลาเราตามหาเด็กขายก็จะประเมินว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่เสมอ แต่ว่าในแนวทางการทำงานเชิงสืบสวนสอบสวน มันก็ถูกตั้งไว้โดยทุกประเด็นและคำตอบที่จะตอบแล้วคออกมาถ้าเราไปดูสถิติเด็กหายประวัติ คดีต่างๆ กรณี เด็กเล็ก หาย ถ้าเป็นกรณีเอาตัวไป จากการสร้างสถานการณ์ การทะเลาะเบาะแว้งหรือว่าคนภายในรู้เห็น ถ้าเด็กมีชีวิตอยู่ส่วนใหญ่จะได้ตัวเด็กกลับคืนมา ภายในระยะเวลาไม่นาน 

 

 

ส่วนกรณีที่ไม่พบเด็กก็ต้องไปเทียบกับหลายๆกรณีที่เด็กเล็กหายตัวไปและยังไม่เจอ หลายกรณีก็เป็นการพบศพเด็กในภายหลังแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกกรณีจะเหมือนกัน เพียงเป็นแค่บทเรียนและกรณีศึกษาที่ผ่านมา 

 

 

นายเอกลักษณ์ ระบุว่า ตอนนี้ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นมันผสมกัน บางเรื่องข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏหรือข้อเท็จจริงมีบางส่วนแต่ถูกวิเคราะห์ ถูกแสดงความคิดเห็นมันกลายเป็นความคิดเห็นมันเป็นใหญ่ที่สุด กระบวนการในการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งความสนใจของประชาชน ก็ไปมุ่งโฟกัสที่พฤติกรรมของผู้ปกครอง 

 

 

ซึ่งพฤติกรรมของผู้ปกครองก็ต้องดูว่า นี่คือเด็กวัยรุ่นอายุ 19 และ 17 ปี ดังนั้นชีวิตของคนในสังคม ชีวิตตอนวัยรุ่นทุกคนก็มีวัย คึกคะนอง ทุกคนมีด้านมืดมีสิ่งที่อาจจะผิดจารีตประเพณี บ้าง แต่ว่าท้ายสุดแล้วพฤติกรรมอดีตที่ผ่านมาหรือพฤติกรรมปัจุจบันบ้างทีมันเป็นแค่ข้อมูลประกอบนะว่าคนนี้มีความเป็นมาอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าเขาเคยทำผิดเรื่องนี้ และจะเป็นผู้ก่อเหตุลักพาตัวเด็ก ทุกวันนี้มันจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมแล้วก็ ถ้าเรายังไม่มีพยานหลักฐานทุกคน ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ 

 

 

ซึ่งการถูกพิพากษาในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากเพราะว่า มีหลายกรณีมากอย่างเช่นเมื่อสี่ปีที่แล้ว มีกรณีเด็กขายที่ไร่อ้อยอายุสองขวบ จ.สุพรรณบุรี เคสนี้คล้ายกับเคสน้องต่อ คือว่า แม่ถูกขุดคุ้ยประวัติว่ามีสามีมากี่คน ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเด็กคนนั้นไม่ใช่ลูกของสามีปัจจุบัน และมีข้อสังเกตว่าทำไมแม่ไม่ร้องไห้เลย ทำไมแม่กินข้าวได้ ลูกหายทั้งคน จึงทำให้แม่นั้นได้ถูกพิพากษาในโลกสังคมออนไลน์ไปแล้วว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการหายตัวไปของเด็ก ปรากฎต่อมาภายหลังพบศพเด็ก ตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดได้ก็คือ คนที่มีอาการทางจิตเวชที่พาเด็กไปเล่นและเด็กจมน้ำเสียชีวิต 

 

 

ส่วนอีกเคสที่มีเด็กเล็กหายที่ จ.เพชรบุรี เด็กเล็ก หายไปจากหน้าบ้าน เคสนี้แม่เด็กถูกตั้งข้อสังเกตในโลกออนไลน์ว่า แม่มีสีหน้าเรียบเฉย ไม่ค่อยให้ความร่วมมือก็ได้มีการไล่ไปดูกล้องวงจรปิดว่าแม่ไปไหนมาบ้าง ซึ่งพบว่าแม่ไปร้านสะดวกซื้อ ทำให้คนที่เข้าไปร้านสะดวกซื้อช่วงเวลาเดียวกับแม่ถูกตั้งข้อสังเกตหมดว่าเป็นแก๊งลักเด็ก หรือ รู้เห็นเป็นใจกับแม่เด็ก

 

 

สุดท้ายไปเด็กจมน้ำหน้าบ้าน โดยพบศพเด็กลอยน้ำห่างไป 10 กิโลเมตร โดยวันนั้น เขื่อนเปิด ทำให้น้ำในคลองชลประทานไหลเชี่ยวมาก ทำให้ร่างลอยไปไกล ซึ่งคดีนี้ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดว่า เมื่อเราพิพากษาคนไปแล้ว คนนั้นกลายเป็นจำเลยของสังคมเลย แต่พอข้อเท็จจริงปรากฏออกมาภายหลัง ไม่มีใครไปกล่าวคำขอโทษเค้า ที่ไปกล่าวว่าร้ายเขาในโลกออนไลน์

 

 

ดังนั้นปัจจุบันเราควรจะเดินด้วยข้อเท็จจริง มากกว่า ข้อคิดเห็นในขนาดเดียวกันข้อมูลส่วนตัว จำนวนมากมันไม่ควรถูกเปิดเผยโดย โดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กรณีของ 'น้องต่อ' เรื่องการตรวจ DNA หลักฐานการสืบสวนสอบสวนข้อความแชทต่างๆ ซึ่งมันเป็นข้อมูลส่วนตัว ไม่ควรที่จะนำพวกนี้มาเปิดเผยต่อสาธารณะ 

 

 

ทั้งนี้ นายเอกลักษ์ ระบุว่า ขอฝากไปยังหน่วยงานรัฐที่ใช้กฏหมาย ว่าความสามารถในการสืบสวนสอบสวน อยู่ที่พยานหลักฐานไม่ใช่การนำเอาข้อมูลส่วนตัว ส่วนบุคคลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ถือเป็นการสร้างผลกระทบต่อตัวผู้เสียหาย หรือผู้สงสัยก็ตาม เพราะยังไงเค้าก็ยังมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ