ข่าว

ตร.ยันมีอำนาจจับ"บุหรี่ไฟฟ้า"ผิดกม.ห้ามนำเข้าต่างจากสินค้าหนีภาษี

02 ก.พ. 2566

ผบช.กมค. แจงตร.มีอำนาจจับ"บุหรี่ไฟฟ้า"ผิดเข้าข่ายม.244 - 246 ฐานครอบครองของที่ห้ามนำเข้า ของที่ไม่สามารถเสียภาษี ไม่ใช่ม. 242 ฐานครอบครอง "สินค้าหนีภาษี” ยอมรับตร.บางนายไม่แม่นข้อกฎหมาย เร่งสร้างความเข้าใจ

ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนสนใจต่อกรณีกฎหมายเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า หลังกลุ่มของดาราสาวไต้หวัน ถูกตำรวจไทยรีดไถเงินโดยอ้างว่าพบมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ในขณะที่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่ทราบว่าผิดกฎหมายในประเทศไทยเนื่องจากเห็นว่ามีการวางขายอยู่ทั่วไป 

 

ล่าสุด พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) ชี้แจงกรณีที่ นายเอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จ.เชียงราย อ้างเอกสาร ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคม.) ระบุ การจับกุมผู้ครอบครอง หรือผู้สูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในที่สาธารณะดำเนินคดี จากความผิดในมาตรา 242 และมาตรา 246 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค - พ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งจะต้องคำสั่งจาก “อัยการ” เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย 

 

 

 

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ  ผบช.กมค. ชี้แจงข้อกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า

 

 

กรณีบุหรี่ไฟฟ้ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

1.พ.ร.บ.ศุลกากร เรื่องสินค้าที่เป็นของต้องห้ามนำเข้า

2.พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเกี่ยวกับการสูบในที่สาธารณะ

3.เรื่องการขาย การให้บริการตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องไม่ให้ขายหรือไม่ให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวน้ำยาด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือของคณะกรรมาธิการคณะหนึ่ง ที่ได้ทำหนังสือมาหารือข้อเสนอแนะมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า การจับกุมเกี่ยวกับ เรื่องการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า โดยการจับกุมอ้างตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสินค้าต้องห้ามนำเข้าราชอาณาจักร จึงไม่อาจผ่านพิธีศุลกากร เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเสียภาษีได้

 

ซึ่งตาม มาตรา 242 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดนำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่"  หรือที่เรียกกันว่า "สินค้าหนีภาษี"

 

 

ตร.ยันมีอำนาจจับ"บุหรี่ไฟฟ้า"ผิดกม.ห้ามนำเข้าต่างจากสินค้าหนีภาษี

 

 

ทางกรรมาธิการมีความเห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2557 และปี 2559 ระบุ ให้เป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ฉะนั้น จะไม่สามารถเสียภาษีได้ หากตำรวจรายใดจับกุมและมีการแจ้งข้อหามีไว้ในความครอบครองซึ่ง "สินค้าหนีภาษี" ซึ่งมาตรานี้บังคับไม่ได้ แต่ผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความผิดฐาน รับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงข้อกำจัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ยอมรับว่า ตำรวจบางนายอาจไม่มีความแม่นยำ อาจแจ้งข้อหาผิดพลาด จนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องหรืออาจนำไปสู่การยกฟ้องในชั้นศาลได้ ในส่วนนี้ได้รับมาเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายให้ถูกต้อง ส่วนการดำเนินการตามกฏหมายตำรวจสามารถ อาศัยอำนาจตามกฏหมายในส่วนนี้สามารถ ดำเนินการได้

 

กรรมาธิการได้ทำหนังสือส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายในส่วนนี้ ซึ่งจะได้ทำหนังสือเวียนให้ทราบและกำชับอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อกฎหมายที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมาตราใดบ้าง 

 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงธันวาคม ได้มีหนังสือมาถึงตร. อ้างถึงมาตรา 242 ทางสำนักงานกฎหมายและคดี แม้จะมีความเห็นว่าสามารถดำเนินการตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 ได้ จึงได้ทำหนังสือถึงกรมศุลกากร เพื่อสอบความเห็นของกรมศุลกากรว่า แม้ว่าจะมีประกาศห้ามของกระทรวงพาณิชย์ ยังสามารถดำเนินการตามมาตรา 242 ด้วยได้หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากจับกุมแล้ว ตามขั้นตอนตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้กับพนักงานสอบสวน มีความเห็นส่งไปยังศาลเพื่อพิจารณาต่อไป บางกรณีหากผู้เสียหายยินยอมเสียค่าปรับ และเข้าข่ายมีความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร พนักงานสอบสวนก็จะส่งไปยังกรมศุลกากรให้พิจารณาอัตราโทษปรับต่อไป