ข่าว

เปิดหลักเกณฑ์ ขอ "รถนำขบวน" จากตำรวจทางหลวง ต้องทำยังไง บุคคลใดมีสิทธิ์บ้าง

22 ม.ค. 2566

เปิดหลักเกณฑ์ ขอ "รถนำขบวน" จาก ตำรวจทางหลวง ต้องทำยังไง บุคคลใดมีสิทธิ์บ้าง หลังโซเชียลถกเถียงหนัก "เที่ยวแบบvvip" ทำแบบนี้ได้จริงหรือ

จากประเด็นคลิปฉาวที่เป็นกระแสร้อนแรงบนโลกโซเชียล กรณีที่ นักท่องเที่ยวจีน โพสต์คลิป "เที่ยวแบบvvip" ได้รับบริการสุดพิเศษ มี "รถนำขบวน" มารับพาไปส่งถึงโรงแรมที่พัทยานั้น

 

 

ล่าสุด ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงกรณีนี้ โดยได้มีคำสั่งย้าย 2 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้มาปฏิบัติหน้าที่ ศปก.บก.จร. และอยู่ระหว่างการพิจารณาลงโทษ

 

ในส่วนของ "รถนำขบวน" นั้น ทาง ตำรวจทางหลวง ได้เคยออกมาบอกถึงขั้นตอนการขอรถนำขบวน ซึ่งมีดังนี้

 

การนำขบวนโดยการร้องขอเป็นครั้งๆ ไป

 

*เป็นกรณีตามความจำเป็นแห่งโอกาสสำหรับบุคคล โดยจะต้องร้องขอและได้รับอนุญาตตามระเบียบ

 

- ขบวนที่มีความจำเป็นต้องใช้ตำรวจนำขบวนเพื่อความปลอดภัยของขบวนหรือความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนตามความจำเป็นแก่กรณี เช่น รถนักเรียน

 

- ขบวนรถซึ่งเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือพิธีการที่มีรถหลายคัน หรือกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนของบุคคลผู้มีหน้าที่ต่างๆ ในทางราชการเพื่อเดินทางไปปฏิบัตืภารกิจสำคัญทางราชการ

 

 

หลักเกณฑ์ในการพิจารณา

 

1. เส้นทางที่จะไปเป็นเส้นทางอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

 

2. มีจำนวนรถในขบวน รถโดยสารไม่ประจำทาง 8 คัน หรือ รถยนต์เก๋ง 10 คัน หรือ รวมกัน 10 คันขึ้นไป

 

3. ต้องมีรถวิทยุตรวจการณ์เพียงพอ ไม่กระทบภารกิจหลักหรือการถวายความปลอดภัยฯ , คำนึงถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในภารกิจประจำด้วย

 

 

เอกสารที่ใช้และเหตุผลประกอบการขอรถนำขบวน

 

- หนังสือจากหน่วยงาน เรียนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง

 

- แสดงเหตุผลความจำเป็น จำนวนรถในขบวน วันเวลาและส้นทาง ต้นทาง-ที่หมาย

 

- ผู้ประสานงานพร้อมหมายเลขโทรศัพท์

 

ตำรวจทางหลวง

 

 

สำหรับการยื่นขออำนวยความสะดวก นักท่องเที่ยว จาก ตำรวจท่องเที่ยว นั้น สามารถทำได้ แต่ต้องมีคำสั่งการขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะต้องเป็นกรณีของคนเจ็บ, คนป่วย, วีไอพี ที่เป็นแขกรัฐบาล หรือเอกชนที่มาความสำคัญ ที่สร้างผลกระทบในความเป็นบวกกับการท่องเที่ยวของประเทศไทย 

 

 

อาจมีกรณีพิเศษได้ เพราะถือว่าเป็นผู้ทำรายได้หลักของประเทศ หรือ วีไอพี ที่เดินทางเข้ามาประชุมในประเทศไทย ซึ่งเมื่อมีรายงานขออนุญาตตามกรณีดังกล่าวแล้ว ทางตำรวจระดับผู้บังคับการหน่วยงานก็สามารถเซ็นต์คำสั่งอนุมัติได้ทันที

 

สำหรับหลักเกณฑ์การใช้ "รถนำขบวน" ของบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง หรือการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทย ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) เสนอ หลักเกณฑ์การใช้รถตำรวจนำขบวนของบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง หรือการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทย ดังนี้ 

 

นอกจากขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีรถนำขบวนเป็นปกติแล้ว บุคคลสำคัญและนักการเมืองตำแหน่ง ที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้ มีดังนี้ 

 

1. กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ใช้รถตำรวจเป็นประจำ มีดังต่อไปนี้

 

- นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา รัฐบุรุษ องคมนตรี 

 

- สมเด็จพระสังฆราช

 

- รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีว่าการทบวง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายบริหาร

 

 

2. กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร ใช้เป็นครั้งคราว มีดังต่อไปนี้

 

- ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ ประมุขรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ และเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

 

- ข้าราชการประจำตั้งแต่ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าขึ้นไป

 

การอนุญาตเป็นครั้งคราว ผู้บังคับการตำรวจจราจรหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจจราจรเป็นผู้พิจารณาอนุญาต

 

 

3. กรณีนอกเขตกรุงเทพมหานคร มีดังต่อไปนี้

 

- บุคคลใช้รถนำประจำ ตามข้อ 1 

 

- บุคคลใช้รถนำเป็นครั้งคราวตามข้อ 2 

 

- การขออนุญาตผู้บังคับการตำรวจทางหลวงหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจทางหลวงเป็นผู้พิจารณาอนุญาต

 

ข้อยกเว้น

 

ในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้ใช้รถนำขบวนฝ่ายทหารเอง แต่วิธีการใช้รถนำของฝ่ายทหารดังกล่าว ให้ใช้หลักเกณฑ์วิธีการใช้รถนำของฝ่ายตำรวจ เช่น การใช้ไฟสัญญาณแสงแดงวับวาบ เสียงไซเรน 

 

บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญและเมื่อผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วยังคงให้ใช้รถตำรวจนำขบวนได้

 

- กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร ประจำ คือ ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

 

- กรณีนอกเขตกรุงเทพมหานคร ใช้ประจำ คือ ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

 

 

การใช้รถนำขบวนของรัฐมนตรี

 

รัฐมนตรีควรพิจารณาใช้รถตำรวจนำขบวนตามความจำเป็นและเร่งด่วนตามภารกิจของทางราชการเป็นกรณี ๆ ไป โดยแจ้งให้ทางฝ่ายที่มีหน้าที่จัดรถตำรวจ
นำขบวนทราบเป็นการล่วงหน้าไม่ควรใช้ในกิจส่วนตัว

 

 

การใช้รถนำขบวนในการรับรองแขกต่างประเทศ

 

การรับรองแขกต่างประเทศที่จะสามารถใช้รถนำขบวนได้ ต้องมีตำแหน่งเทียบเท่ากับตำแหน่งของผู้มีสิทธิใช้รถนำขบวน ทั้งการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540

 

ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้