โฆษก ตร. ยัน "ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์" ของจริง สแกนจ่ายได้ แสดงที่ค้างเก่าด้วย
โฆษก ตร. ยืนยัน "ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์" ของจริง สแกนจ่ายได้ทันที แสดงของเก่าที่ค้างด้วย ย้ำ มี 3 รูปแบบ เริ่มใช้ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
จากกรณีที่ บุคคลมีชื่อเสียงในโซเชียลรายหนึ่ง โพสภาพถ่าย "ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์" โดยระบุข้อความว่า “ใบสั่งแบบนี้ มันจะไปติดที่ หน้าต่างรถ อย่า scanจ่ายเด็ดขาด มันของปลอม เพื่อนเพิ่งได้ รับมา" จากนั้นมีชาวโซเชียลต่างแชร์ และแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก ในทิศทางที่วิพากษ์วิจารณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ล่าสุดวันนี้ (4 ธันวาคม 2565) เวลาประมาณ 18.00 น. พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ใบสั่งของตำรวจจราจร มีอยู่ 3 รูปแบบ โดย "ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์" เป็นรูปแบบใหม่ ส่วนกรณีดราม่านั่น ตนเองได้สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ทราบว่า เจ้าหน้าที่ที่ออกใบสั่ง คือ ตำรวจ สน.บางยี่ขัน ซึ่งเป็นใบสั่งจริง โดย สำนักงานตำรวจแห่งช่าติ ต้องการพัฒนา ระบบเทคโนโลยี เพื่อสร้างมาตรฐาน ในกระบวนการ ออกใบสั่ง ให้มีมาตรฐาน เป็นสากล โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งจะป้องกัน และ ลดอุบัติเหตุ บนท้องถนนได้
ตำรวจจะพิมพ์ "ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์" ได้ทันที ต่อเมื่อ พบการกระทำความผิด หรือ พบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า เป็นรูปแบบเดียวกับใบสั่ง ที่ต้องจดบันทึกด้วยลายมือ เช่น ขับรถย้อนศร ไม่สวมหมวกกันน็อค ขับรถไม่รัดเข็มขัดนิรภัย จอดในที่ห้ามจอด เป็นต้น
"ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์" ออกผ่าน เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลแบบพกพา ที่มีการติดตั้งแอปพลิเคชั่น ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชื่อว่า Police Ticket Management (หรือ PTM)
ส่วนข้อมูล ที่ระบุใน "ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์" เบื้องต้นจะมี ข้อหา และ อัตราค่าปรับตามเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ ในระเบียบ ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างชัดเจน ในใบสั่งทุกใบ โดยจะเชื่อมโยง กับระบบ สารสนเทศของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบบ real time รวมถึงจะ แสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น วัน เวลา และ สถานที่ที่ทำผิด ข้อมูลทะเบียนรถ ข้อมูลใบขับขี่ ในกรณีพบตัวผู้ทำผิด ชื่อตำรวจ และ หน่วยงาน ที่ออกใบสั่ง นอกจากนี้ ส่วนท้ายของใบสั่ง จะมี QR Code ในการชำระค่าปรับ อำนวยความสะดวกให้ ประชาชน ผ่านระบบ mobile banking และ QR Code สำหรับตรวจสอบ ใบสั่งที่ค้างชำระ โดยตรวจผ่านเว็บไซต์ E-ticket
พล.ต.ต.อาชยน ยังเปิดเผยอีกว่า ส่วนใบสั่งตำรวจจราจร มีอยู่ 3 รูปแบบ ดังนี้
1.ใบสั่ง รูปแบบจดบันทึก หรือเขียนด้วยลายมือ
2.ใบสั่ง สำหรับ ส่งทางไปรษณีย์ กรณีที่ถูกตรวจจับ โดยกล้อง หรือ อุปกรณ์
3. "ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์"
ทั้งนี้ รูปแบบของใบสั่งนั้น เป็นไปตามประกาศ ตร. เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ซึ่งประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564