ข่าว

เตือน เกิด"อุบัติเหตุ" เปลี่ยนตัวคนขับ โทษหนักกว่าที่คิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตร.เตือน เกิด"อุบัติเหตุ" แล้วหลอกเจ้าหน้าที่ "เปลี่ยนตัวคนขับ" หนีเป่า"เมาไม่ขับ" หรือ หวังหลอกประกัน โทษหนักกว่าที่คิด

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในห้วงที่ผ่านมา "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" พบว่า มีหลายกรณี เมื่อมี"อุบัติเหตุ" รถชนเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ก็ตาม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบภายหลังว่า ผู้ที่แสดงตัวเป็นผู้ขับขี่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นคนละคนกับผู้ขับขี่ในขณะที่เกิด"อุบัติเหตุ" ซึ่งจากการตรวจสอบมักจะพบว่า เหตุที่มีการเปลี่ยนตัวคนขับ มักจะมีเหตุมาจาก ผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ผู้ขับขี่ขับขี่ขณะเมาสุรา รถคันที่ขับขี่ทำประกันภัยประเภทระบุชื่อคนขับ หรืออาจเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ไม่อยากให้ตนเองตกเป็นผู้ต้องหาจากการทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ที่คิดจะหลอกลวงเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนที่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ อ้างว่าตนเอง หรือบุคคลอื่น เป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะในขณะเกิดโดยไม่เป็นความจริง เพราะความผิดของท่านจะไม่ได้เพียงข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา 137 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 172 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือ ประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และยังต้องรับโทษในฐานะผู้ขับขี่ หากอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากความประมาท หรือเกิดจากการขับขี่ในขณะเมาสุรา เพราะถือเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน อีกทั้งในบางกรณี การเปลี่ยนตัวผู้ขับขี่อาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยฟ้องร้องค่าสินไหมทดแทนที่ชดใช้ให้กับคู่กรณี คืนจากเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่อีกด้วย

"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" จึงขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ว่าอย่าคิดที่จะเปลี่ยนตัวคนขับเป็นอันขาด ไม่ว่าตนเองจะเป็นฝ่ายผิด หรือฝ่ายถูกก็ตาม เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย และสุดท้ายนี้หากพี่น้องประชาชนพบเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนน สามารถโทรศัพท์แจ้งเหตุได้ที่ โทรศัพท์สายด่วน 191 และสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

logoline