ข่าว

คดี "ฮั้วประมูล"โรงพักทดแทน มหากาพย์แห่งคดีทุจริต ตราบาปรัฐบาล"อภิสิทธิ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหากาพย์ คดี"ฮั้วประมูล"ก่อสร้างโรงพักทดแทน ถือเป็น"ตราบาป" ในยุค "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"นั่งเก้าอี้นายกฯ โดยวันนี้ "ศาลฎีกานักการเมือง" นัดพิพากษา " สุเทพ เทือกสุบรรณ" พร้อมพวกรวม 6 คน ทีมข่าว"คมชัดลึกออนไลน์" ขอนำรายละเอียดแห่งคดีมาให้ทุกคนติดตามกัน

คดีทุจริตก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือ"โรงพักทดแทน" จำนวน 396 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็น"แผลทางการเมือง" ยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั่งเก้าอี้"นายกรัฐมนตรี" โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.และแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งในขณะนั้นเป็น"รองนายกรัฐมนตรี" เป็นผู้ถูกกล่าวหาคนสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้อนุมัติโครงการนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ด้วยวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,848 ล้านบาท

 

"คดีทุจริตโรงพักทดแทน" ปรากฎเป็นข่าวขึ้นครั้งแรกในปี 2555 เมื่อ นายชูวิทย์ กลมวิศิษฐ์ ส.ส.พรรครักประเทศไทย ในขณะนั้น อภิปรายถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ต่อรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นคือ"พรรคเพื่อไทย" จนนำไปสู่ดำเนินการส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI รวบรวมพยานหลักฐาน และเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนในที่สุด

 

โครงการก่อสร้าง"โรงพักทดแทน" เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมีนาคม 2554 แต่เมื่อใกล้สิ้นสุดสัญญาในปี 2556 การก่อสร้างโรงพักกลับไม่คืบหน้า เมื่อผู้รับเหมาทยอยทิ้งงาน โรงพักหลายแห่งสร้างไม่เสร็จ ขณะที่บ้างพื้นที่ว่างเปล่าไร้การก่อสร้างใดๆ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละพื้นที่ ต้องหาที่ทำงานชั่วคราว ด้วยการยืมสถานที่ของหน่วยงานอื่น ยืมพื้นที่วัด หรือแม้กระทั่งเช่าสถานที่ทำงาน 

สาเหตุหลักเกิดจาก การทำ"สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง" โครงการโรงพักทดแทน 396 แห่ง ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจัดจ้าง จากเดิมที่ให้จัดจ้างเป็นรายภาค เปลี่ยนเป็นจัดจ้างรวมกันที่ส่วนกลางในครั้งเดียว จนนำมาสู่การดำเนินการกล่าวหา นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าช่วยเหลือเอื้อผลประโยชน์ให้กับ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับ"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"

 
กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ในยุค นายธาริต เพ็งดิษฐ์ นั่งเก้าอี้อธิบดีฯ เริ่มดำเนินการสอบสวน คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน มาตั้งแต่ปี 2555 ต่อมาในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ส่งสำนวนการสอบสวน และ ป.ป.ช.ก็รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาโดยมี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ในเดือนพฤษภาคม 2558 โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายสุเทพ ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายต่อ สตช.และทางราชการอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ นายกฯ รอดพ้นข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่พบพยานหลักฐานว่าเป็นผู้อนุมัติสั่งการ
 

ป.ป.ช.ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีนานกว่า 5 ปี กระทั่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 นายสุเทพ กับพวกอีก 17 คน ก็ถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาในคดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน นอกจากนี้ ยังดำเนินคดีกับ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทได้รับจัดจ้างดำเนินการก่อสร้างโรงพัก ทั้ง 396 แห่ง ในข้อหาฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วง  และข้อหาฮั้วประมูลโครงการฯ อย่างไรก็ตาม อัยการคดีพิเศษมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท พีซีซีฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 เนื่องจากเห็นว่าผู้รับเหมาช่วงที่ได้เข้าร้องทุกข์ต่อ DSI ว่าไม่ได้รับเงินค่าจ้าง และเงินค่าดำเนินการต่างๆ จากบริษัท พีซีซีฯ นั้นเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง แต่ไม่ได้เป็นการหลอกลวง

 

ส่วนข้อหา"ฮั้วประมูล" อัยการฯเห็นว่า การประมูลด้วยวิธี e-Auction ของ สตช เป็นการประมูลอย่างถูกต้อง และมีการแข่งขันราคาหลายครั้ง ส่วนที่ระบุว่า บริษัท พีซีซีฯ เสนอราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ก็ไม่ปรากฏว่าการเสนอราคาต่ำมากจนเกินไป และไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ของกระทรวงการคลังอีกด้วย

 

ต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วม"ฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทน" และ "โครงการก่อสร้างอาคารที่พัก" ในวันนี้ ช่วงเวลา 09.00 น. ณ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ผลสรุปจะลงเอยอย่างไร เราคงต้องรอลุ้นกัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ