ข่าว

"บิ๊กโจ๊ก" ลุยจับ​​"เรือประมง" ใช้อวนผิดกฎหมายหาปลา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กโจ๊ก" ผู้ช่วย ผบ.ตร. ออกปฏิบัติการ “Air Land Sea” ลุยจับ "เรือประมง" ใช้อวนผิดกฎหมายหาปลา เบื้องต้นดำเนินคดีเรือ 8 ลำ

จากกรณีที่คณะทำงานติดตามสถานการณ์ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมง และแรงงานในภาคประมงฯ ได้ออกปฏิบัติการ “Air Land Sea” ตรวจสอบการทำประมงโดยผิดกฎหมายของ "เรือประมง" ซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจพบ "เรือประมง" ดัดแปลงอวนลาก ทำให้ตาอวนมีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถดักจับปลาขนาดเล็กได้ ซึ่งการใช้อวนขนาดดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย 

 

ล่าสุดวันนี้ (17 สิงหาคม 2565) มีรายงานว่า จากกรณีดังกล่าว พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. , รอง ผอ.ศพดส.ตร. , รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมด้วย พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1 ร่วมกับ กรมเจ้าท่า กรมประมง ศรชล. ตำรวจน้ำ พร้อมชุดปฏิบัติการคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพ ฯ ออกตรวจสอบ "เรือประมง" อวนลากคู่ที่ ท่าเรือคณาศรีนุวัติ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และ ท่าเทียบเรือศาลเจ้าปุ้นเถ้ากง ถ.เจษฎาวิถี ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบ เรือที่ใช้อวนมีลักษณะผิดไปจากเงื่อนไขในใบอนุญาตทั้งหมด 8 ลำ โดยพบที่ จ.สมุทรสาคร จำนวน 4 ลำ ประกอบด้วย เรือ ฮ.ธวัชชัยนาวี 3 , ฮ.ธวัชชัยนาวี 4 , ฮ.สินธุ์ชัยนาวี 8 และ ฮ.สินธุ์ชัยนาวี 9 ส่วนที่ จ.ชลบุรี พบอีกจำนวน 4 ลำ ประกอบด้วย เรือ ส.ตะวัน 17, ส.ตะวัน 18, ส.ตะวัน 23 และ ส.ตะวัน 24 

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศไทย ยังคงมีการตรวจสอบการทำประมงของ "เรือประมง" ไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทำความเข้าใจกับชาวประมงให้สามารถทำการประมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นการบังคับใช้กฎหมายประมง ซึ่งจากปฏิบัติการของคณะทำงานดังกล่าว ยังตรวจพบ "เรือประมง" ที่ยังฝ่าฝืนลักลอบใช้อวนตาถี่ ในการทำประมง หวังจะให้ได้ปลามากที่สุด แต่แท้จริงแล้วการใช้อวนตาถี่จะเป็นการทำลายทรัพยากร ไม่ปล่อยให้ปลาขนาดเล็กเติบโต เมื่อตรวจพบความผิดดังกล่าว จึงต้องมีการดำเนินคดีโดยเด็ดขาด เพื่อให้การทำประมงของไทยเป็นไปตามกฎหมายและหลักสากล เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

 

"บิ๊กโจ๊ก" ลุยจับ​​"เรือประมง" ใช้อวนผิดกฎหมายหาปลา

 

 

สำหรับ "เรือประมง" ทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีฐาน ดัดแปลงเครื่องมือประมงให้ผิดไปจากลักษณะของเครื่องมือที่ระบุไว้ในใบอนุญาต  ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 42 และ มาตรา 132 มีโทษปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ ซึ่งพบว่ามีเพียง 131 ลำ ที่จะถูกตรวจสอบ จาก 10,0000 ลำ เทียบเป็น 1.31 %

 

 

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ