ข่าว

ถีบลงเขา เผาถังแดง...อุดมคติที่แตกขั้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่านไป 44 ปี แม้ภาพเรื่องราวคดีถังแดงจะค่อยๆ ลบเลือนไป แต่ในความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคนยังกระจ่างชัด ถึงความไม่เท่าเทียมและความต่างทางอุดมคติ จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่าง "รัฐกับประชาชน" กลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เลือ

 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2508 ณ บ้านเกาะหลุง หมู่ 1 ต.ลำสินธุ์ กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เป็นทั้งเรื่องราว ตำนาน และคำกล่าวขานมาจนถึงปัจจุบัน "อุทัย บุญคำ" ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง หนึ่งในชาวบ้านที่ต้องหลบหนีออกจากบ้านเคยอยู่อู่เคยนอน ระหกระเหินเข้าป่าจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับภาครัฐ ยังจำภาพเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี วันนี้เขาจะมาเล่าเรื่องเหล่านั้นให้ฟัง

 ปี 2508 ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างภาครัฐกับประชาชนในหมู่บ้านเกาะหลุงเริ่มบ่มเพาะและก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ต.ลำสินธุ์ อันมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน เกี่ยวพันกับเจ้าเมืองพัทลุงและชาวกงหรา ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรพึ่งพาธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็มีการติดต่อสื่อสารกับผู้คนภายนอกชุมชน มีการนำสินค้าไปซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่น นำลางสาดไปแลกข้าว หาของป่าไปวางขาย เป็นต้น

 แต่แล้วจู่ๆ บ้านเมืองที่เคยเงียบสงบก็แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีโจรผู้ร้ายชุกชุม มีบ่อนการพนันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หญิงสาวหลายคนถูกฉุดคร่าข่มขืน ไม่เว้นเมียเขาหรือลูกใคร ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์กลายเป็นสิ่งล่อใจให้คนภายนอกเข้ามาครอบครองแสวงหาประโยชน์ อบายมุขและสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาถึงหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามกฎหมายกลับเข้าไม่ถึง ชาวบ้านไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร หวังพึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ บางคนถึงกับเลี้ยงโจรไว้เอง ปัญหาที่รุมเร้าบีบคั้นให้พวกเขารวมตัวกันลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนสวัสดิภาพของตัวเองและครอบครัว

 "เมื่อความรุนแรงเริ่มก่อตัวมากขึ้น ชาวบ้านรวมตัวจับอาวุธขึ้นสู้กับโจร แทนที่ภาครัฐจะเห็นใจกลับมองเราด้วยสายตาหวาดระแวง เริ่มส่งเจ้าหน้าที่มาเรียกตัวชาวบ้านแกนนำไปสอบปากคำ แรกๆ สอบเสร็จก็ปล่อยตัวกลับ พอระยะหลังๆ เริ่มมีการกักขังทำร้ายร่างกาย โดยใช้ถังแดงเป็นเครื่องมือในการทรมานและสอบสวนอย่างทารุณ" อุทัยเท้าความหลัง

 การทรมานอย่างทารุณมีสารพัดวิธี แต่ที่ถูกกล่าวขานและกลายเป็นตำนานคดีถังแดง คือ การใช้ผ้าปิดตานำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินต่ำก่อนจะถีบลงมา หากคนไหนไม่ตอบคำถามหรือได้รับคำตอบไม่เป็นที่พอใจก็จะจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์อีกครั้งแล้วถีบลงมาอีก ไม่ว่าจะเป็นหรือตายจะถูกนำไปยัดใส่ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตรแล้วจุดไฟเผาอย่างโหดเหี้ยม

 เมื่อความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนขยายวง เลยกลายเป็นช่องทางให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเข้ามาแสวงหาความร่วมมือจากชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านขาดที่พึ่งก็หันหลังให้รัฐเข้าป่าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ความรุนแรงครั้งใหญ่ก็อุบัติขึ้นระหว่างปี 2510-2515 เมื่อภาครัฐเริ่มกวาดล้างอย่างจริงจัง ผู้ชายไม่ว่าวัยไหนหนีออกจากหมู่บ้านเข้าป่า ผู้หญิงที่พอมีกำลังวังชาก็ทิ้งบ้านช่องห้องหอตามติดกันไป เพราะเมื่อขาดหัวหน้าครอบครัวซึ่งเป็นกำลังหลัก เจ้านายหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็จะเข้ามาจับไปบีบคั้นเอาความจริง

 "ผัวหายไปไหน"
 "พ่อหายไปเมื่อไหร่"
 "ลูกชายไปอยู่ไหน"
 ฯลฯ

 คำถามเหล่านี้ประเดประดังเข้าใส่ไม่หยุดหย่อน เมื่อตอบไม่ได้ก็ถูกทำร้ายบ้างข่มขืนบ้าง สุดท้ายเลยต้องหนีตามกันไปหมด หมู่บ้านที่เคยเต็มไปด้วยชีวิตและเสียงหัวเราะ บัดนี้เหลือแต่ความว่างเปล่าวังเวง นานไปก็รกร้างไปตามกาลเวลา ความรู้สึกเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มมากขึ้น เหมือนการเติมเชื้อฟืนใส่กองไฟที่ลุกโชน

 "ตอนนั้นผมอายุได้ 14-15 ปีก็ต้องหนีเข้าป่า ทั้งลูกเล็กเด็กแดงมารวมตัวกันอยู่ในป่าหมด ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน แต่ทุกข์หนักเสียมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อผู้ชายที่เป็นกำลังหลักเริ่มหายตัวไป หายไปเพราะอยู่ดีๆ พวกเจ้านายก็มาพาเขาไปแล้วก็หายสาบสูญ พอออกไปตามหาก็พบบางคนกำลังหุงข้าวให้เจ้านายกิน หาบน้ำให้เจ้านายใช้ หรือบางรายกลายเป็นศพไปก็เยอะ ความรู้สึกมันเจ็บปวดมาก มันบอกไม่ถูกว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา"

 ปี 2516-2517 สถานการณ์เริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทางการส่งกำลังเข้าปราบปรามอย่างหนัก ทั้งกวาดล้างจับกุม ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมว่า บุคคลในครอบครัวสูญหาย บางรายมีหลักฐานว่าถูกฆาตกรรม แล้วนำศพใส่ถังน้ำมัน 200 ลิตรจุดไฟเผากลายเป็นเถ้าถ่าน มีข้อมูลว่าช่วงนั้นมีคนหายสาบสูญไปถึง 3,008 ราย เฉพาะ ต.ลำสินธุ์ กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง สูญหายไปราว 200 ชีวิต

 "สาเหตุที่ชาวบ้านเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็พราะถูกรัฐกลั่นแกล้งจึงต้องลุกขึ้นสู้ อีกอย่างชาวบ้านก็เปรียบไม่ผิดอะไรกับอยู่ระหว่างเขาควาย ไม่เข้าร่วมกับภาครัฐก็ถูกฆ่า ไม่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ก็ถูกยิง ทำให้หันมาดูแลกันเอง" อุทัยเล่า

 อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายลงในปี 2529 เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาด้วยการชูนโยบายการเมืองนำการทหาร และเข้าไปพัฒนาชุมชนจนหลายคนกลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในเวลาต่อมา 

 "การเมืองนำการทหาร"

 ปี 2529 หลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างรัฐกับประชาชนเริ่มคลี่คลาย มีหน่วยงานสันตินิมิตรเข้ามาฟื้นฟูสภาพจิตใจชาวบ้านพื้นที่สีแดง หลังจากนั้นก็มีหน่วยงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้ามาตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตประจำหมู่บ้าน แม้ช่วงแรกๆ จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มดีขึ้น จนทุกวันนี้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้
 วันนี้คดีถังแดงแผ่นดินเลือดในอดีตได้กลายเป็น "อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง" ตั้งอยู่บนผืนดินที่ซื้อจากเงินบริจาคของชาวบ้าน บนเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน กลายเป็นสถานศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและวิถีชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การจัดการที่เข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายสินธุ์แพรทอง มีโฮมสเตย์ไว้ต้อนรับบุคคลภายนอกที่จะไปเรียนรู้วัฒนธรรมและการต่อสู้ ณ ที่แห่งนี้ด้วย
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ