ข่าว

คุก33ปี!พยายามฆ่าปลดหนี้

คุก33ปี!พยายามฆ่าปลดหนี้

29 เม.ย. 2558

ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษจากจำคุกตลอดชีวิต เหลือคุก 33 ปี 4 เดือน 'อดีตทหารสิบเอก - เมีย' พยายามฆ่า ซุกระเบิดแสวงเครื่องท้ายเก๋ง หวังปลดหนี้ 3.8 ล้าน

 
                           29 เม.ย. 58  เมื่อเวลา 10.00 น.  ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.2462/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 และนางสุดใจ เกษกาญจนานุช ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หรือ เต้ย ดิษเจริญ อายุ 35 ปี ทหารประจำการสังกัด กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และ น.ส.เบญจทิพย์ หรือ เบญญทิพย์ หรือ อ้อม เดโชชัย หรือ ดิษฐ์เจริญ อายุ 38 ปี เป็นจำเลยที่ 1 - 2 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กระทำการให้เกิดการระเบิดจนเกิดอันตราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 , 289 , 221 , 222 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490
 
                           ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 52 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 52 จำเลยทั้งสอง ร่วมกันมีวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง ที่นำเอาลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ M26 มาเป็นวัตถุระเบิดหลัก โดยประกอบเข้ากับวงจรรถบังคับวิทยุที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าติดตั้งอยู่ด้วย และมีสายไฟฟ้าเชื่อมต่อเข้ากับเชื้อปะทุไฟฟ้าของลูกระเบิด โดยใช้วงจรรถบังคับวิทยุเป็นตัวควบคุมและส่งสัญญาณ ทำให้ลูกระเบิดเกิดการระเบิดสามารถสังหารชีวิตและทำลายทรัพย์สินให้เสียหาย โดยจำเลยทั้งสองเตรียมการแล้วร่วมกันนำลูกระเบิดซุกซ่อนไว้ในช่องเก็บของท้ายรถยนต์ที่ใกล้กับจุดที่มีถังแก๊สแอลพีจี ซึ่งรถดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของนางสุดใจ ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำวงจรรถวิทยุที่ใช้ส่งสัญญาณไปวางไว้ที่หน้าบ้านของโจทก์ร่วม และเมื่อรถยนต์มาถึงบริเวณหน้าบ้านของโจทก์ร่วม วงจรรถวิทยุจึงทำให้เกิดการระเบิดที่น่าจะเป็นอันตราย ต่อโจทก์ร่วม , ร.อ.ทรงศักดิ์ ประเสริฐโสภณ ผู้เสียหายที่ 2 และนายหมอน กลิ่นหอม คนขับรถ ผู้เสียหายที่ 3 ที่นั่งโดยสารมาในรถยนต์ดังกล่าว และ น.ส.อารียา ใจดี ผู้เสียหายที่ 4 ที่ยืนอยู่บริเวณหน้าบ้าน โดยการกระทำของจำเลยทั้งสอง มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ ให้ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล โดยเพียงสะเก็ดระเบิดทำให้ น.ส.อารียา ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลบริเวณหน้าอกและต้นขา นอกจากนี้การกระทำให้เกิดระเบิดดังกล่าว ยังทำให้รถและกระจกของบ้านผู้เสียหายได้รับความเสียหายด้วย เหตุเกิดที่แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กทม. และตำบลบางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี  
 
                           คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 53 ว่า จำเลยมีความผิดตาม ม.289 (4) , 221 และ 222 ประกอบ ม.218 (1) และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 38 , 55 , 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ม.289 (4) ซึ่งเป็นบทหนักสุด และให้ยึดวงจรรถวิทยุบังคับและเศษชิ้นส่วนของโลหะวัตถุระเบิดของกลาง ขณะที่ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 55 พิพากษายืน ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งสอง
 
                           โดยจำเลยทั้งสองยื่นฎีกา ต่อสู้ว่าไม่ใช่ผู้กระทำผิด และอาวุธระเบิดไม่มีความร้ายแรง ตามที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษกระทำผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78
 
                           ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว ฎีกาของจำเลยประเด็นที่ว่าอาวุธระเบิดไม่มีความร้ายแรงที่จะลงโทษ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ นั้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวอ้างมาก่อนในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ขณะที่ข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นประเด็นในข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจรับฎีกาไว้วินิจฉัย
 
                           ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่กระทำผิดในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ชั้นพิจารณา นางสุดใจ โจทก์ร่วม เบิกความว่า รู้จักกับจำเลยที่ 2 ช่วงปี 48 - 49 โดยเข้าใจว่า จำเลยที่ 2 มีฐานะดี เพราะใช้ของที่มียี่ห้อ และโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็เคยตกลงซื้อขายเครื่องอัญมณีของโจทก์ร่วมหลายครั้ง และเมื่อโจทก์ร่วมเคยเสนอขายที่ดินประมาณ 41 ไร่ ในราคา 22 ล้านบาท จำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า อีกไม่นานจะได้รับมรดกจากบิดาชาวญี่ปุ่น จำนวน 250 ล้านบาท และก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 บอกว่า บิดาชาวญี่ปุ่นจะเดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 27 เม.ย. 52 ซึ่งจะมีการจัดเลี้ยงอาหารทะเลที่บ้านจำเลยที่ 2 ขณะที่เมื่อมีการซื้อขายอัญมณีของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 ยังคงค้างชำระเงินอยู่ เมื่อทวงถามจำเลยที่ 2 ได้ส่งคืนอัญมณีบางส่วน แต่ยังค้างชำระเงินอีก 3.8 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 26 เม.ย. 52 จำเลยที่ 2 ก็ได้เชิญชวนให้ไปยังบ้านพักเพื่อเตรียมงานเลี้ยงรับบิดาของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ร่วมได้เดินทางไปพร้อมกับผู้เสียหายที่ 2 - 3 เมื่อถึงบ้านของจำเลยที่ 2 ในเวลา 18.00 น. ก็ได้มีการพูดคุยสนทนากัน ระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำอาหารทะเลไปใส่ไว้ในท้ายรถของโจทก์ร่วม ซึ่งมีผู้เสียหายที่ 3 จอดรออยู่ข้างบ้านของจำเลยที่ 2 ห่างกันประมาณ 10 เมตร กระทั่งเวลา 21.00 น. โจทก์ร่วมและผู้เสียหายอื่นได้กลับมาถึงบ้านพัก จากนั้นก็ได้เกิดการระเบิดขึ้นจนทำให้ได้รับบาดเจ็บ
 
                           นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายที่ 2 - 3 เบิกความอีกว่า ระหว่างอยู่บ้านของจำเลยที่ 2 ก็เห็นจำเลยที่ 1 เดินเข้าออกไปมาภายในบ้านอยู่หลายครั้ง โดยนายหมอน คนขับรถ ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความว่า ระหว่างรออยู่ในรถ พบเห็นจำเลยที่ 1 เดินมาที่รถและให้เปิดกระโปรงท้ายรถเพื่อนำอาหารทะเลใส่ไว้ในท้ายรถ
 
                           ขณะเดียวกันโจทก์ ยังมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจวัตถุระเบิด เบิกความถึงลักษณะการระเบิดอีกด้วย ซึ่งแม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่า เป็นทหารราบ แต่ไม่มีความรู้เรื่องการประกอบวัตถุระเบิด แต่จำเลยที่ 1 ก็ระบุว่า จบจากโรงเรียนนายสิบ ซึ่งจะต้องมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับลักษณะของระเบิด จึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีพื้นฐานความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวัตถุระเบิดอยู่บ้าง และขณะเกิดเหตุยังปรากฏว่า บุตรชายซึ่งเป็นลูกติดของจำเลยที่ 2 มีอายุเพียงขวบเศษ ก็ไม่น่าที่จะแยกชิ้นส่วนรถบังคับวิทยุได้ อีกทั้งในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ก็พยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถามของพนักงานสอบสวน เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่หลีกเลี่ยงการตอบคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับบิดา มารดา และสัญชาติ ทั้งที่จำเลยที่ 2 ได้เคยโอ้อวดกับโจทก์ร่วมไว้ว่า บิดาเป็นชาวญี่ปุ่น และมีทรัพย์สินมาก ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสอง จึงทำให้มีข้อพิรุธสงสัย นอกจากนี้จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานก็ยังพบว่า เทปกาวสองหน้ารวมทั้งถ่ายไฟฉายขนาด 3A ซึ่งเป็นของกลางที่พบในห้องพักของจำเลยทั้งสอง มีลักษณะตรงกับอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับวัตถุระเบิดแสวงเครื่องด้วย จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งของที่ซื้อมาพร้อมกัน
 
                           แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ว่าจำเลยประกอบระเบิดและนำวัตถุระเบิดไปใส่ไว้ในรถ แต่จากคำเบิกความและพฤติการณ์แวดล้อมทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นคนร้าย ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาสู้อ้างว่าคดีไม่มีเหตุจูงใจให้กระทำผิดนั้น ศาลเห็นว่า ในการกระทำดังกล่าวหากโจทก์ร่วมเสียชีวิต ก็จะทำให้ทายาทไม่อาจทราบเหตุ หรือติดตามการทวงหนี้สินจากจำเลยทั้งสองได้ ประกอบกับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายต่างก็รู้จักกับจำเลยทั้งสองเป็นอย่างดี และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงเชื่อว่า ไม่น่าจะมีเหตุปรักปรำใส่ร้ายจำเลย เพื่อให้ได้รับโทษ อย่างไรก็ดี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3
 
                           จึงพิพากษาแก้ ให้จำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 33 ปี 4 เดือน โดยยกฟ้องข้อหาทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สิน ตาม ม.222
 
                           ภายหลังฟังคำพิพากษา ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ จำเลยที่ 1 ก็ยังคงยืนยันว่า ไม่ใช่ผู้กระทำผิด โดยบุตรสาวและหลานสาว ได้ร่ำไห้ พร้อมเข้ากอดให้กำลังใจ ขณะที่วันนี้มีญาติของจำเลย มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย