ข่าว

วิกฤติ!ขยะล้นเมืองปัญหา..วาระแห่งชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤติ!ขยะล้นเมืองปัญหา..วาระแห่งชาติ : พัฐอร พิจารณ์โสภณ : เรื่อง สมศักดิ์ เนตรทอง : ภาพ

               "ป่วยกันมาเรื่อยเดี๋ยวคนนั้นเป็นคนนี้หาย มันเหม็นจนปวดหัว พอฝนตกน้ำท่วม ไปไหนไม่ได้ น้ำมันกัดเท้ากัดมือเดินไม่ได้ กลางคืนมีกลิ่นเหม็นลอยมากับลม ไฟไหม้ก็กลัว สารพัดปัญหา"
           
               เสียงสะท้อนเล็กๆ ของผู้พักอาศัยอยู่ในชุมชน ใกล้บ่อขยะแพรกษาซอย 8 ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ไปเมื่อกว่า 8 เดือนที่ผ่านมา แต่จนถึงทุกวันนี้ปัญหาขยะที่นี่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขยะที่มีอยู่เดิมจำนวนมากยังไม่ได้รับการกำจัด ซึ่งเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวอากาศที่แห้งเกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย ชาวชุมชนที่นี่จึงหวาดวิตกว่าในเร็วๆ นี้อาจเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะซ้ำ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเดือดร้อนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนอีกครั้ง

               นอกจากบ่อขยะแพรกษาซอย 8 แล้ว ในละแวกนี้ยังมีบ่อขยะที่อยู่ไม่ห่างจากกันมากนักอีก 2 แห่ง คือบ่อขยะบางปลา และบ่อขยะแพรกษาใหม่ โดยเฉพาะบ่อขยะแพรกษาใหม่ที่ยังคงเปิดรับขยะใหม่ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน จนปัจจุบันบ่อขยะแห่งนี้มีปริมาณขยะกว่า 1,600,000 ตัน วางทับถมกันจนสูงคล้ายภูเขาขนาดย่อมๆ และหากรวมปริมาณขยะของบ่อขยะทั้ง 3 แห่งในละแวกนี้แล้วมีปริมาณขยะรวมกันกว่า 10 ล้านตัน สร้างความรำคาญให้ประชาชนในย่านนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยเฉพาะระบบหายใจ ซึ่งชาวชุมชนที่นี่หลายรายต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดขยะให้หมดไปจากพื้นที่

               โดยบ่อขยะแพรกษา และบ่อขยะบางปลา จ.สมุทรปราการ มีคำสั่งให้ปิดบ่อขยะ และให้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของบ่อขยะเร่งจัดทำแผนกำจัดขยะทั้งหมดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ส่วนบ่อขยะแพรกษาใหม่ เจ้าของรายใหม่มีแผนที่จะสร้างโรงผลิตไฟฟ้าซึ่งใช้พลังงานจากการเผาขยะ ท่ามกลางความคาดหวังว่าขยะที่นี้จะถูกกำจัดไปได้ทั้งหมดในเร็ววัน

               ไม่ต่างจากชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้บ่อขยะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันเมืองหลวงแห่งนี้มีปริมาณขยะเฉลี่ยวันละ 9,700 ตันต่อวัน ขยะจำนวนมหาศาลถูกส่งมากำจัดตามบ่อขยะต่างๆ ซึ่งศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เป็น 1 ใน 3 แห่ง ที่มีการนำขยะจากทั่วกรุงเทพมหานครมารวมไว้ที่นี้

               "ตุลยา จุ่นบุญ" ครูพี่เลี้ยง ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอ่อนนุช ชุมชนเกาะมุสลิม เปิดเผยว่า มีเด็กในความรับผิดชอบหลายรายป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และตาแดง เป็นประจำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากขยะจำนวนมหาศาลที่ถูกส่งมากำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และยิ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกกลิ่นของขยะที่คลุ้งขึ้นมาในอากาศจะยิ่งทวีความรุนแรง รบกวนผู้พักอาศัยในละแวกนี้อย่างมาก

               ความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับศูนย์กำจัดขยะ ทำให้กรุงเทพมหานครต้องเร่งกำจัดขยะให้หมดไปวันต่อวัน โดยปัจจุบันวิธีกำจัดขยะจะมี 2 วิธี คือ จ้างเหมาเอกชนนำไปฝังกลบในพื้นที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา อีกวิธีคือนำไปหมักทำปุ๋ยอินทรีย์

               "กลางปี 2558 กทม. มีแผนจะเปิดใช้โครงการต้นแบบ เตาเผาขยะที่สามารถนำความร้อนไปใช้ผลิตเป็นไฟฟ้า เป็นเตาเผาขนาด 300 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม  เตาเผาขยะนี้เป็นเตาเผาที่ใช้ความร้อนสูง มีระบบป้องกันมลพิษทางอากาศ และป้องกันน้ำเสียอย่างดี คาดว่าจะกำจัดขยะได้ในปริมาณมาก" สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าว

               นอกจาก จ.สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีอีก 9 จังหวัดทั่วประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติขยะล้นเมืองเช่นกัน คือ สงขลา กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนกำจัดขยะภายใต้ชื่อโรดแม็พ "การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย" และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติไปแล้วเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 นำมาสู่การกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ

               "ปัจจุบันคนไทยผลิตขยะออกมาไม่น้อยกว่าวันละ 73,355 ตัน หรือราว 1.15 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งจะถูกส่งไปกำจัดที่ในสถานที่กำจัดขยะ 2,490 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 466 แห่ง ที่กำจัดขยะอย่างถูกต้อง ที่เหลือกำจัดไม่ถูกวิธี คือนำขยะจากเมืองไปทิ้งในพื้นที่ป่า ทำให้ปัจจุบันมีขยะตกค้างในไทยกว่า 28 ล้านตัน" วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

               สำหรับ โรดแม็พ "การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย" ได้เสนอแผนการกำจัดขยะเป็น 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วน 6 เดือน ให้เร่งกำจัดขยะเก่าสะสมใน 6 จังหวัด คือ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี โดยให้เร่งทำการฝังกลบ รวมถึงนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า อีก 5 จังหวัดคือ นนทบุรี กทม. ภูเก็ต เชียงราย และสงขลา ให้เริ่มโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าลักษณะนี้ให้แล้วเสร็จ 15 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยกรมควบคุมมลพิษ

               ขณะที่โครงการระยะปานกลาง 20 จังหวัด กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง นครศรีธรรมราช ชลบุรี ชุมพร เพชรบุรี นครราชสีมา ยะลา สุราษฎร์ธานี ลำปาง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี แพร่ กระบี่ ขอนแก่น ชัยนาท สมุทรสาคร ปราจีนบุรี และเพชรบูรณ์ ตั้งเป้าให้มีการแก้ปัญหาขยะตกค้าง โดยการตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายชุมชนอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง หลังจากนั้นเป็นแผนระยะยาวที่จะขายพื้นที่ออกไปอีก 46 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทุกจังหวัดจะต้องจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม เพื่อจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสานและสามารถแปรรูปขยะมูลฝอยรวมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 35 พื้นที่ และศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายครอบคลุมทุกจังหวัด

               "การนำขยะไปแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงแล้ว 2 แห่ง คือที่ จ.ภูเก็ต และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และมีแผนที่จะดำเนินการเพิ่มอีก 13 แห่งทั่วประเทศภายในเดือนสิงหาคมปีหน้า จะเป็นความหวังที่จะช่วยลดปริมาณขยะตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

               มีการคาดหวังว่า หลังรัฐบาลประกาศวาระแห่งชาติ ในการแก้ปัญหาวิกฤติขยะล้นเมือง ขยะจำนวนมหาศาลที่ตกค้างอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงขยะใหม่ที่เกิดขึ้น จะได้รับการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรม ภูเขาขยะที่มีให้เห็นในหลายจังหวัดในปัจจุบันน่าจะถูกกำจัดไปในเร็ววัน

---------------------------------

(หมายเหตุ : วิกฤติ!ขยะล้นเมืองปัญหา..วาระแห่งชาติ :  พัฐอร พิจารณ์โสภณ : เรื่อง สมศักดิ์ เนตรทอง : ภาพ)

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ