ข่าว

เข้ม!จับปรับ'ไฟตัดหมอก-ซีนอน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผบก.จร. ย้ำ เปิดไฟตัดหมอกพร่ำเพรื่อ-ติดไฟส่องสว่างแสงจ้ากว่าปกติ ผิดก.ม. เป็นอันตรายต่อผู้อื่นที่ใช้รถร่วมถนน สั่งจนท.ตร.เข้มงวดกวดขันจับกุม

 
                         19 ก.ย. 57  พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) แจ้งเตือนผู้ขับขี่รถยนต์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟตัดหมอก และติดตั้งไฟส่องสว่างแสงจ้ากว่าปกติ (Xenon - ซีนอน) ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลร้องเรียนสายตรง หมายเลข 1997 ปัญหาการจราจรที่ผ่านมา พบว่า มีการร้องเรียนเรื่องผู้ขับขี่ใช้ไฟตัดหมอก และไฟส่องสว่างที่มีการดัดแปลงให้แสงจ้ามากกว่าปกติที่มากับตัวรถ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายจราจรตามประกาศกรมการขนส่งทางบกปี 2555 
 
                         กรณีไฟตัดหมอก ตามกฎหมายอนุญาตเปิดได้ในกรณีที่มีหมอกหนาเท่านั้น หรือกรณีทัศนวิสัยไม่ดี หากเปิดพร่ำเพรื่อ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ส่วนกรณีการดัดแปลงไฟส่องสว่างด้านหน้ารถให้สว่าง หรือนำไฟซีนอน มาติด หรือปรับแต่งทิศทางไฟส่องสว่างให้สูงขึ้นจากปกติ ถือว่ามีความผิดเช่นกัน ตำรวจจะกวดขันจับกุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงกลางคืน ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
 
                         ผบก.จร. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ได้ประสานไปยังตำรวจจราจร บก.จร. และจราจรท้องที่ ให้เข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมา มีการจับกุมต่อเนื่องอยู่แล้ว และได้เน้นย้ำให้กวดขันจับกุมอย่างเข้มงวดมากขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนเข้ามามาก ว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน จึงขอเตือนให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย รวมถึงการตกแต่งไฟเบรก ไฟวูบวาบบริเวณหน้ารถ ไฟท้าย และไฟเลี้ยว ที่ไม่ใช่สีขาวด้วย ถือเป็นความผิดทั้งสิ้นตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ระบุว่า ให้ใช้ไฟสีขาว หรือสีเหลืองเท่านั้น หากไปใช้ไฟสีอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ก็ถือว่าผิดกฎหมาย ในขณะที่ไฟเลี้ยวหน้า กำหนดให้ใช้สีขาว หรือสีเหลืองทั้งสองข้าง ซ้ายและขวาต้องเป็นสีเดียวกัน ส่วนไฟเลี้ยวด้านท้ายรถ กำหนดให้ใช้ไฟสีเหลือง หรือสีแดงก็ได้ แต่ห้ามใช้สีขาวอย่างเด็ดขาด 
 
                         จากการตรวจสอบผู้ขับขี่บนท้องถนนเส้นทางต่างๆ ช่วงเวลากลางคืน พบว่า การใช้หลอดไฟซีนอน ที่มีแสงสีขาว รวมถึงไฟสปอทไลท์ เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ขับขี่วัยรุ่น และกลุ่มนักแต่งรถทั่วไป มีจำหน่ายตามร้านประดับยนต์ และแหล่งอุปกรณ์ตกแต่งรถย่านคลองถมบ้านหม้อ นำมาใส่แทนไฟหน้ารถปกติที่ติดมากับตัวรถ โดยเฉพาะไฟสปอทไลท์ (SPOTLIGHT) เป็นไฟที่เหมาะกับการส่องสว่างในการแข่งขันกีฬา และทำกิจกรรมกลางแจ้งตอนกลางคืน ลักษณะลำแสงจะพุ่งไกล และรวมตัวกันเป็นจุด เพื่อเน้นความสว่างที่ระยะไกลในยามที่ไม่ใช่การใช้งานปกติ ฉะนั้นควรนำมาใช้งานให้ถูกประเภท
 
                         "ไฟซีนอน (Xenon) หรือที่เรียกว่า HID (HYPER INTENSITY DISCHARGE) มีความสว่างมาก ก่อให้เกิดอันตรายกับรถที่วิ่งสวนไปมา เนื่องจากแสงไฟซีนอน กระทบกับผู้ขับขี่ในระดับสายตา มีค่าส่องสว่างเกินมาตรฐาน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้ที่ใช้ทางร่วมกันในยามค่ำคืน และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อลำแสงที่ส่องออกจากไฟแต่งที่แรงเกินเหตุพุ่งเป็นลำสาดส่องเข้าไปแยงสายตาของรถยนต์ที่แล่นสวนทางมา ในขณะที่ผู้ขับขี่เอง มีความเข้าใจว่า การติดตั้งไฟ Xenon หรือ HID (High Intensive Discharge) ช่วยให้ทัศนวิสัยการขับขี่ในยามค่ำคืนดีขึ้น เนื่องจากลำแสงพุ่งทะยานไปไกล เพราะมุมของการส่องสว่างที่สูงทำให้มองเห็นชัดเจน ในทางกลับกัน ลำแสงที่ออกมาไปกระทบสายตาผู้ขับขี่ที่ขับสวนมา จนมองไม่เห็นทาง เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในเส้นทางรถวิ่งสวนทางไปมา 2 ช่องทาง"
 
                         ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก กำหนดให้ไฟหน้าของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทุกชนิดที่ใช้งานบนท้องถนน จะต้องมีแสงสีขาว หรือเหลืองอ่อน (ค่า K ไม่เกิน 12,000 K เต็มที่) ติดตั้งสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร ซึ่งความสว่างของแสงไฟสามารถส่องทางด้านหน้าได้อย่างชัดเจน และไม่เอียงไปทางขวาจนรบกวนสายตาผู้อื่น ส่วนการดัดแปลงไฟหน้ารถให้เป็นแสงสีอื่น หรือทำให้มีความสว่างจ้ามากจนเกินไป เมื่อนำไปใช้งานบนท้องถนน จะสะท้อนเข้ากระจกมองข้าง หรือกระจกมองหลังของผู้ขับขี่ที่อยู่ด้านหน้า หรือส่องเข้าตา ผู้ขับขี่ที่ขับสวนทางมา ทำให้สายตาพร่ามัว จนอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้จากแสงไฟที่แรงเกินค่ามาตรฐานของทางการ ซึ่งผู้ที่ใช้รถที่เพิ่มส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าไปจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรือจิตใจของผู้อื่น มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
 
                         กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) ออกตามความ พ.ร.บ.จราจรฯ
 
                         ข้อ 1 รถทุกชนิดที่อยู่ในความควบคุมของกฎหมาย ว่าด้วยการขนส่งทางบกต้องมีโคมไฟตามประเภทและลักษณะที่กำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
 
                         ข้อ 2 รถยนต์ต้องมีโคมไฟหน้ารถและโคมไฟท้ายรถ ดังต่อไปนี้
 
                         (1) โคมไฟหน้ารถมี 3 ประเภท คือ
 
                         (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวงสูงจากพื้นทางราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร ศูนย์รวมแสงต้องไม่สูงกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบ และไม่เฉไปทางขวา ในกรณีที่เป็นรถยนต์สามล้อให้ใช้โคมไฟประเภทนี้เพียงดวงเดียวโดยติดไว้ที่กลางหน้ารถ
 
                         (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวง สูงจากพื้นทางราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะ 7.50 เมตร และไม่เฉไปทางขวา ในกรณีที่เป็นรถยนต์สามล้อให้ใช้โคมไฟประเภทนี้เพียงดวงเดียว โดยติดไว้ที่กลางหน้ารถ
 
                         (ค) โคมไฟเล็ก ให้ติดหน้ารถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โดยให้อยู่ด้านริมสุดแต่จะล้ำเข้ามาได้ไม่เกิน 0.40 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวหรือแสงเหลือง มีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 10 วัตต์ และต้องมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกล โคมไฟแสงพุ่งต่ำ และโคมไฟเล็ก จะรวมอยู่ในดวงเดียวกันก็ได้
 
                         (2) โคมไฟท้ายรถ มี 3 ประเภท คือ
 
                         (ก)โคมไฟท้าย ให้ติดท้ายรถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงแดดมีกำลังไฟเท่ากัน และมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร
 
                         (ข) โคมไฟหยุด ให้ติดท้ายรถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงแดดมีกำลังไฟเท่ากัน และมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร
 
                         (ค) โคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถ ให้ติดท้ายรถ ใช้ไฟแสงขาวส่องที่ป้ายทะเบียนรถ มีแสงสว่างสามารถมองเห็นเครื่องหมายหรือตัวอักษรและตัวเลขได้ชัดเจน จากระยะไม่น้อยกว่า 20 เมตร แต่ต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถโคมไฟท้าย โคมไฟหยุด และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถต้องส่องแสงสว่างพร้อมกับโคมไฟหน้ารถ แต่โคมไฟหยุดต้องส่องแสงสว่าง เมื่อใช้ห้ามล้อเท้า
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ