ข่าว

ภูมิศาสตร์3เหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยา

ลักษณะโดยธรรมชาติของสภาพภูมิศาสตร์สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา : โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

          หากเข้าใจลักษณะโดยธรรมชาติของภูมิศาสตร์แบบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและการจัดการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่โดยเน้นการปลูกข้าวเพื่อส่งออกเป็นหลัก ก็จะเข้าใจว่าที่ราบลุ่มภาคกลางถูกเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างไร ฝืนสภาพโดยธรรมชาติอย่างไร หากต้องการฝืนให้หนักขึ้นจนควบคุมให้ได้ ก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่วิจัยเรื่องชลประทานเรื่องน้ำกันอย่างจริงจังกว่านี้อีกมาก

          ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหรือ DELTA คือแผ่นดินที่ราบต่ำซึ่งกำเนิดที่ปากแม่น้ำทั้งใหญ่หรือเล็ก บริเวณปลายสุดของลำน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล จึงเป็นบริเวณที่มีการสะสมของโคลนตะกอนเกิดเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ลักษณะทางกายภาพเป็นรูปพัดเพราะมีลำน้ำสาขาของลำน้ำใหญ่แผ่กระจาย และกลายเป็นพื้นที่ซึ่งแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกตั้งอยู่แทบทุกแห่ง

          คำว่า DELTA มาจากชื่อเรียกอักษรกรีกลำดับที่สี่ และปรากฏใช้เรียกพื้นที่รูปสามเหลี่ยมซึ่งเป็นที่ตกตะกอนของผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ปากแม่น้ำไนล์เป็นครั้งแรกเมื่อราว ๔๕๐ ปีก่อนคริสตกาลโดยนักประวัติศาสตร์กรีก “เฮโรโดตัส“

          ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสำคัญๆ มักจะเป็นที่ตั้งของบ้านเมืองสำคัญและมีพัฒนาการคล้ายคลึงและร่วมสมัยกับบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงในเวียดนามตอนเหนือ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีในพม่า

          สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา [Chao Phraya Delta] เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ แต่การใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวอย่างมากมายเช่นนี้ก็เกิดขึ้นเพียงกว่าร้อยห้าสิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคูคลองเพื่อการชลประทานต่างๆ พื้นที่ภายในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยานี้กลายเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่แห่งแรกๆ ในโลกที่สามารถผลิตข้าวเพื่อการส่งออกได้

          แต่ก่อนหน้านั้น มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แม้จะมีหลักฐานว่ามีการอยู่อาศัยอยู่น้อยเต็มที จนกระทั่งเริ่มมีการสร้างบ้านเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณชุมทางน้ำสำคัญที่กรุงศรีอยุธยาในลักษณะของการเป็นสังคมแบบลุ่มน้ำ [Riverine Society] ซึ่งใช้พื้นที่สูงบริเวณริมแม่น้ำสำหรับการตั้งบ้านเรือนถิ่นฐาน และใช้การคมนาคมทางน้ำสำหรับการเดินทางติดต่อ และเพาะปลูกโดยคัดเลือกพันธ์ข้าวที่หนีน้ำสูงเร็วในพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เพราะตะกอนน้ำพัดพาในช่วงหน้าน้ำ ที่น้ำหลากท่วมในดินดอนสามเหลี่ยมนี้เป็นเวลาหลายเดือน

          ทำให้เห็นว่ามีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม กำหนดรูปแบบการอยู่อาศัยและดำรงชีวิตปรับเปลี่ยนรูปแบบทางสังคมวัฒนธรรมโดยการเรียนรู้เพื่อให้เข้ากับธรรมชาติ และตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (ราวสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ มาจนถึงราวรัชกาลที่ ๔-๕) นักเดินทางชาวตะวันตกบันทึกความทรงจำไว้ว่า ริมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเรือกสวนซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลไม้ที่สำคัญ โดยเฉพาะจากสวนฝั่งธนบุรี เมืองบางกอกจนถึงเมืองนนทบุรี ส่วนพื้นที่ภายในก็ใช้สำหรับปลูกข้าว

          การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในยุคต่อมา เป็นผลมาจากการขยายตัวของการปลูกข้าวและการค้าข้าว เศรษฐกิจการค้าแบบเสรีที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออกที่เน้นหนักตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศของเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมาก โดยมีการขุดคูคลองเพิ่มขึ้นเพื่อการชลประทานเพาะปลูกข้าวและการขนส่งเดินทาง โดยเหตุผลมากกว่าเพื่อการยุทธศาสตร์อย่างแต่ก่อน 
 

          แต่เมื่อเวลาผ่านไปและเริ่มเข้าสู่ยุคของการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ การคมนาคมและการสร้างถนนหนทางกลายเป็นปัจจัยพื้นฐาน [Infrastructure] ของประเทศ จึงมีการระดมสร้างถนนจนละเลยคูคลองที่เคยใช้งาน ประกอบกับระบบชลประทานที่เป็นโครงข่ายราวใยแมงมุมของคลองส่งน้ำสายต่างๆ สร้างเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งสภาพแวดล้อมของพื้นที่ยังคงเป็นแบบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทั่วไปที่พื้นที่ราบลุ่มและมีระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อถึงหน้าฝน ปริมาณน้ำจำนวนมากยังคงมีอยู่ การปลูกบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของการอยู่อาศัย และการแก้ปัญหาในเรื่องระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งแหล่งอุตสาหกรรมที่ไม่มีระบบป้องกันน้ำเสียแก่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ในปัจจุบัน สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเผชิญปัญหาในระดับโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ยังไม่สามารถเห็นความพยายามยกระดับปัญหาโดยภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณชายฝั่งทะเลและชุมชนในเขตใกล้ปากแม่น้ำ ดังกรุงเทพมหานครที่ต้องพบกับวิกฤตเรื่องการจัดการน้ำเป็นเวลานานและปัจจุบันมีแต่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

          จากสภาพแวดล้อมของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำซึ่งเป็นพื้นที่ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ [Wasteland] ในยุคสมัยหนึ่ง กลับเปลี่ยนมาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำซึ่งส่งผลให้เกิดบ้านเมืองและชุมชนขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้กับปากแม่น้ำเริ่มแรกเมื่อตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เป็นต้นมา จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อทำการปลูกข้าวจนกลายเป็นพื้นที่เพื่อปลูกข้าวส่งออกอันกว้างใหญ่ที่สุดของโลกแห่งหนึ่งเมื่อกว่าร้อยห้าสิบปีที่ผ่านมา 


          บริเวณตลิ่งชันซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบริเวณนี้ จึงต้องทำความเข้าใจในลักษณะภูมิประเทศ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนการเมืองและเศรษฐกิจว่ามีพัฒนาการและความเป็นมาอย่างไรของบ้านเมืองในเขตนี้แต่แรกเริ่ม จึงจะเข้าใจความสำคัญของพื้นที่ทางวัฒนธรรมในบริเวณตลิ่งชันได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

 

สภาพภูมิศาสตร์ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา


           พื้นที่ในเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยานอกจากจะมีลำน้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายหลักแล้ว ยังมีลำน้ำอีกสองสายขนาบข้าง คือลำน้ำแม่กลองทางด้านตะวันตกและลำน้ำบางปะกงทางด้านตะวันออก ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาทั้งสองฝั่ง จากปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลมาจากที่สูงภายในเมื่อรวมกับน้ำฝนในช่วงฤดูฝน จึงส่งผลให้พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมีปริมาณน้ำมหาศาลและปกคลุม พื้นที่เป็นเวลาหลายเดือนก่อนจะไหลลงทะเล

          สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยส่วนฐานซึ่งกว้างกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ความสูงเฉลี่ยเพียง ๒.๕ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เช่นบริเวณจังหวัดอยุธยาซึ่งอยู่ห่างจากปากน้ำเข้ามากว่า ๑๐๐ กิโลเมตร ก็สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง ๒ เมตรเท่านั้น และเนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีการยกตัวของแผ่นดินค่อนข้างต่ำ พื้นที่จึงลาดลงสู่ทะเลทีละน้อย ทำให้ลำน้ำไหลเอื่อยและไหลคดเคี้ยวกว่าบริเวณต้นน้ำที่สูง จึงเกิดเป็นเกาะกลางน้ำหรือสันดอนซึ่งเป็นจุดกำเนิดสาขาแยกของแม่น้ำออกเป็น หลายสายก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย
 

          สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในแถบพาดผ่านมรสุมเขตร้อน [Tropical Monsoon Belt] ในระหว่างช่วงปีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมากนัก ฤดูฝนเริ่มจากเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ในฤดูฝนสภาพแวดล้อมจึงเต็มไปด้วยน้ำ ทำให้น้ำฝนรวมกับน้ำเหนือที่ไหลหลากทำให้มีผืนน้ำปกคลุมพื้นที่ดินดอนสาม เหลี่ยมสูงราว ๕๐ เซนติเมตรถึงหนึ่งเมตรเป็นเวลาหลายเดือนเพราะไม่สามารถระบายน้ำลงทะเลได้ อย่างรวดเร็วเนื่องภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม

          แต่เมื่อถึงหน้าแล้ง น้ำจะค่อยๆ แห้งหายไป จนถึงแล้งจัดๆ พื้นดินก็แตกระแหงราวกับทะเลทราย และนับเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับมนุษย์ที่จะตั้งถิ่นฐานในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เพราะเมื่อถึงฤดูฝนก็แทบไม่มีแผ่นดินที่ดอนหรือที่สูงน้ำท่วมเต็มไปด้วยหนอง บึง แต่เมื่อคราวถึงหน้าแล้งก็หาน้ำดื่มแทบไม่ได้ สภาพภูมิประเทศมีแต่ทุ่งหญ้าและป่าที่ลุ่มชื้นซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของช้าง และจระเข้ ดังที่พบกระดูกช้างและกะโหลกจระเข้ในบริเวณป่าชายเลนแถบชายทะเลของ จังหวัดสมุทรสงครามแลเพชรบุรีจำนวนมาก และกะโหลกจระเข้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าแบบจีนของชาวบ้านแถบชาย ฝั่งบริเวณนี้

          ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเดินทางชาวฝรั่งเศส คือ อองรี มูโอต์ บันทึกข้อสังเกตสภาพภูมิศาสตร์ของสามเหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อราว พ.ศ.๒๔๐๔ ไว้อย่างเห็นชัดถึงสภาพแวดล้อมที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติในแบบพื้นที่ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำดังที่พรรณนาไว้ข้างต้น ดังนี้ 
 

          “ระดับน้ำในแม่น้ำจะเริ่มขึ้นสูงในราวเดือนมิถุนายนและถึงเดือนสิงหาคม กระแสน้ำจะไหลบ่าไปปะทะกับละลอกคลื่นในมหาสมุทรและถูกหนุนขึ้นมาล้นฝั่ง พื้นที่ราบตอนกลางอันกว้างใหญ่ไพศาลจึงได้รับประโยชน์จากการกระทำของ ธรรมชาติมากที่สุด ส่วนบริเวณที่อยู่เหนือขึ้นไปจะถูกล้อมรอบด้วยภูเขา

…”
 

          จนเมื่อการค้าทางทะเลเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ซึ่งเป็นการเดินทางค้าขายในท้องถิ่นน่านน้ำทะเลจีนใต้ นับเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการบุกเบิกพื้นที่สำหรับเพาะปลูกข้าวในท้อง ทุ่งอันกว้างใหญ่ ทั้งมนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีในการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัย รวมทั้งธรรมชาติของสภาพแวดล้อมเช่นนี้นำพาเอาตะกอนธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ จากต้นน้ำลงมาด้วย บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาจึงกลายเป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองในเวลา ต่อมา

          อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนพื้นที่บางแห่งให้เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยตามเมืองต่างๆ คือการปรับตัวของมนุษย์เพื่ออยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมแบบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ แต่ลักษณะตามธรรมชาติยังคงส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนบ่อยๆ

 

โครงสร้างทางกายภาพของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา


          สำหรับโครงสร้างทางกายภาพของสภาพภูมิศาสตร์บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้า พระยาประกอบด้วยพื้นที่ซึ่งแบ่งออกตามสภาพทางภูมิศาสตร์หลายส่วน ดังนี้

          ๑. ชายฝั่งทะเล [Coastal Zone] อยู่ใกล้ชายทะเลในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ มีลำน้ำสายเล็กๆ อยู่มากมาย ซึ่งกระแสน้ำขึ้นลงตามอิทธิพลของน้ำทะเล ในช่วงหน้าน้ำน้ำก็จะท่วมพื้นดินไปทั่วซึ่งเป็นดินเค็ม บริเวณนี้มีป่าไม้ที่เรียกว่า ป่าชายเลน [Mangrove] ในช่วงหน้าแล้งก็จะแห้งและน้ำจืดจากแผ่นดินภายในจะมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำทะเลจะหนุนเข้ามาภายในแผ่นดิน
 

           ๒. สามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ [Young Delta] ได้แก่สภาพภูมิประเทศแบบที่ได้กล่าวถึงข้างต้น คือพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นส่วนฐานซึ่งกว้างกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ความสูงเฉลี่ยเพียง ๒.๕ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

          ๓. สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า [Old Delta] อยู่ในบริเวณใกล้กับยอดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งมีอายุทางธรณีราว ๑๐,๐๐๐ ปี เมื่อเปรียบเทียบกับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ พื้นที่นี้จะมีระดับสูงกว่า และพื้นที่มีระดับแตกต่างกันมากกว่า ทำให้มีพืชพรรณเป็นป่าไม้ในที่ดอนและหนองน้ำในที่ลุ่ม ความสูงต่างจากพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงราว ๔-๕ เมตร ทำให้ในหน้าน้ำน้ำจะไม่ท่วม และเขตที่เป็นรอยต่อระหว่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่และเก่าคือบริเวณเกาะ เมืองอยุธยา

          ๔. ที่ราบน้ำท่วมถึง [Floodplain] คือบริเวณพื้นที่ระหว่างเชิงเขา ซึ่งมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน พื้นที่ขนานกับลำน้ำทั้งสองฝั่งขนาดราวสิบถึงยี่สิบกิโลเมตร คือบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง เมื่อมีน้ำท่วมใหญ่ในช่วงฤดูฝนก็จะท่วมล้นเข้ามาในพื้นที่นี้

          ๕. ภูเขาและแนวเชิงเขา [Mountain and Foothill] เป็นส่วนขอบปีกทั้งสองด้านของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ แม้จะไม่ใช่เป็นบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโดยตรง แต่ก็เป็นพื้นที่ซึ่งกระแสน้ำได้ไหลพัดพาเอาตะกอนมาทับถมในบริเวณดังกล่าว
 

พัฒนาการของการปรับเปลี่ยนสภาพภูมิศาสตร์ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา


          สำหรับพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เจ้าพระยาเกิดขึ้นเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในเขตนี้ ซึ่งกล่าวได้ว่านับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา การขุดคลองลัด คลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำ คูคลองขนาดเล็กที่ไม่มีการจดบันทึกเอาไว้มีอยู่มากมาย

          การปรับเปลี่ยนสภาพภูมิศาสตร์โดยฝีมือของมนุษย์ในระยะแรกนั้น เป็นเพียงการปรับตัวเพื่อสะดวกแก่การทำมาหากินและดำรงชีวิตแบบยังชีพ และพยายามกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมแบบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ แต่ต่อมาเมื่อมีการค้าทางทะเลและเกิดบ้านเมืองที่กลายเป็นศูนย์กลางดึงดูด ให้ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และการปกครอง สภาพแวดล้อมดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความเหมาะสมแก่เกษตรกรรมขนาด ใหญ่และรองรับการขยายตัวของประชากรจำนวนมากโดยการขุดคลองขยับขยายพื้นที่ เพาะปลูกไปทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีการขยายโครงข่ายคลองชลประทานจนเต็มพื้นที่ มีการปลูกพืชชนิดเดียว เช่น ข้าว ในปริมาณมาก มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างมโหฬารโดยขัดขืน บังคับ และควบคุมธรรมชาติ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของสังคมที่เคยกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมแบบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่คุ้นเคยกับสภาพน้ำท่วม น้ำหลาก เขตมรสุม ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง และทำให้เกิดปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกติดตามมาหลายประการ

          สมัยกรุงศรีอยุธยา ตำแหน่งของพระนครเป็นเมืองท่าภายในที่เหมาะสม เพราะอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้ามาภายในแผ่นดินตามลำแม่น้ำสายใหญ่ แม้จะมีน้ำท่วมน้ำหลากในช่วงหน้าน้ำแต่ในหน้าแล้งน้ำก็ลดจึงเป็นพื้นที่ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเพราะน้ำเค็มขึ้นเข้ามาไม่ถึง และยังเป็นจุดเชื่อมกับชุมชนในผืนแผ่นดินภายในที่จะนำทรัพยากรจากป่าเข้ามา ค้าขายโดยใช้เส้นทางน้ำต่างๆ อันเป็นระบบการคมนาคมที่สำคัญ

          การขุดคลองในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อความสะดวกในการคมนาคม ติดต่อกับหัวเมืองต่างๆ ในพระราชอาณาเขต เป็นเหตุผลในเชิงยุทธศาสตร์และการค้าภายในเป็นหลัก แต่ไม่ใช่เพื่อการชลประทานแต่อย่างใด ส่วนการขุดคลองลัดก็สามารถย่นระยะทางของลำน้ำตามธรรมชาติที่ลักษณะคดโค้งตาม รูปแบบของเส้นทางน้ำในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เพราะพื้นดินมีความลาดเทน้อยกระแสน้ำไหลเอื่อยและถูกปะทะกับน้ำทะเลที่ปาก แม่น้ำจึงมีความคดโค้งมาก เมื่อขุดคลองลัดกระแสน้ำพุ่งแรงคลองลัดเหล่านั้นจึงกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไป และวิธีการขุดคลองคือการเกณฑ์แรงงานซึ่งน่าจะใช้แรงงานไพร่เกณฑ์จำนวนมาก

          สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เราอาจจะแบ่งกลุ่มของการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่โดยการขุดคลอง ซึ่งเห็นได้ชัดถึงวัตถุประสงค์เพื่อการเปิดพื้นที่ภายในที่ห่างไกลไปจากลำ แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการเกษตรกรรมและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่มีประชากร ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะแรกคงใช้แรงงานเกณฑ์ แต่ต่อมีมีการจ้างชาวจีนเป็นแรงงานหลักในการขุด แล้วจึงมีการให้สัมปทานที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ขุนนางผู้ใหญ่รวมถึง ขุนนางในท้องถิ่นหลายคน การขุดคลองต่างๆ ในสมัยนี้แบ่งออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่

          ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อทำสนธิสัญญาเบาริ่ง พ.ศ.๒๓๙๘ ซึ่งยังคงดำเนินการเพื่อขุดคูคลองในการเสริมความมั่นคงในการป้องกันพระนคร และขยายพื้นที่การอยู่อาศัยออกไปตามแนวลำน้ำเป็นหลัก หลังจากได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ก่อนหน้าที่จะมีการขุดคลองในระบบการชลประทานแบบสมัยใหม่

          สมัยหลังจากทำสนธิสัญญาที่มีผลทำให้เกิดการขยายพื้นที่ทำนาปลูกข้าวเพื่อการ ส่งออกแล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อตั้งกรมคลองเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒

          การขุดคลองทั้งสองช่วงเวลานี้นับเป็นภารกิจของพระมหากษัตริย์หรือขุนนางชั้น ผู้ใหญ่ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต เพราะจะต้องเกณฑ์แรงงานไพร่หรือจ้างแรงงานจีนในการขุดคลอง ซึ่งเป็นธรรมเนียมเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยามาแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ๆ และลำคลองเพื่อการคมนาคมในยุคนี้เป็นการลงทุนของราชวงศ์และขุนนางชั้น ผู้ใหญ่โดยตรง ไม่ใช่เพื่อการรองรับการขยายตัวของประชากรและโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยน แปลงไปแต่อย่างใด

          การพัฒนาพื้นที่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อขยายการเพาะปลูกข้าวจึง กลายเป็นภารกิจของรัฐบาลโดยกรมคลองอย่างสมบูรณ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

          การขุดคลองเพื่อขยายพื้นที่ทำนาปลูกข้าวโดยเอกชนเช่นคลองบางพลีใหญ่ที่ขุดใน ระยะนั้น (พ.ศ.๒๔๔๕) จึงกลายเป็นคลองสุดท้ายที่ขุดกันในระบบเดิม

          มีการพัฒนาระบบชลประทานเรื่อยมา เปลี่ยนชื่อจาก "กรมทดน้ำ" ซึ่งเป็นภาษาโบราณเป็น “กรมชลประทาน” ทำหน้าที่รับผิดชอบงานการขุดคลอง การทดน้ำ การส่งน้ำ และการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกแก่เกษตรกร การจัดสร้างโครงการชลประทานป่าสักใต้ สร้างเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ คือเขื่อนพระรามหก ที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย จากนั้นเป็นต้นมาจึงมีโครงการก่อสร้างระบบชลประทานกระจายไปทั่วทุกภาคของ ประเทศเป็นการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและเพื่อการอุปโภคบริโภค

          และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นยุคที่การจัดการน้ำหรือการชลประทานมีความสำคัญอย่างยิ่ง นับถึงปัจจุบันทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำทั่ว ประเทศแล้วกว่าสองพันโครงการ 

 

.......................

 

(หมายเหตุที่มา:ลักกษณะโดยธรรมชาติของสภาพภูมิศาสตร์สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เจ้าพระยา : โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ  มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)