ข่าว

ชุดเรื่องเล่าข้างเชิงตะกอน จากสัปเหร่อรุ่นบรมครู (๑)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชุดเรื่องเล่าข้างเชิงตะกอน จากสัปเหร่อรุ่นบรมครู (๑) คอลัมน์ ตามรอยตำนานแผ่นดิน โดย... เอก อัคคี FB:Akeakkee ake

 

          ว่าด้วยเรื่อง "การมัดตราสัง"
          ปริศนาธรรมที่คนตายฝากให้คนเป็น
.............

          หนึ่งในคำสอนของพ่อครูเทียม ซิวใจเอื้อ สัปเหร่อจอมขมังเวทแห่งวัดศาลาครืน ฝั่งธนบุรี วัดที่ผมเองก็เพิ่งจะรู้ว่า วัดแห่งนี้ในสมัยโบราณขึ้นชื่อลือชาว่า ผีดุที่สุดวัดหนึ่งในเมืองหลวงของประเทศนี้


          วัดแห่งนี้ เป็นวัดโบราณมาตั้งแต่สมัยกรงศรีอยุธยา สมัยก่อนถือว่า ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ลึกเข้าไปในสวน ลือกันว่า ผีดุมาก และผีที่ว่านี้มักวิ่งเล่นกันที่ศาลาท่าน้ำทุกค่ำคืน จนศาลามีเสียงดังครืนๆ กลายเป็นที่มาของชื่อวัดศาลาครืน

 

อ่านข่าว...   ป้องกันภูตผีด้วย.... "ท้าวเวสสุวรรณ ชินบัญชรมหาปราบ"
 


ชุดเรื่องเล่าข้างเชิงตะกอน จากสัปเหร่อรุ่นบรมครู (๑)

 


          แต่บางกระแสก็ว่า เหตุที่ชื่อศาลาครืน เพราะช่างจากวัดจอมทอง (วัดราชโอรส) ที่มาบูรณะวัดจอมทองในสมัยรัชกาลที่ ๒ พากันไปนอนพักกันอยู่ที่วัดศาลาครืนแห่งนี้ พอค่ำๆก็ร่ำสุราสนุกสนานครึกครื้น กลายเป็นที่มาชื่อวัดศาลาครื้น แล้วเพียนเป็น ศาลาครืนจนถึงปัจจุบัน


          เอาเป็นว่า ว่างๆจะมาเล่าให้ฟัง
          เรื่องที่มาของฉายาวัดผีดุแห่งนี้
          เพราะสมัยก่อนเขาพูดกันว่า 


          "ถ้าอยากเจอนักเลงจั๋งๆ ให้มาเที่ยววัดหนัง 
          ถ้าอยากเจอผีบ้างจังให้มาวัดศาลาครืน"


          ในอดีตนั้นย่านนี้ ย่านตลาดพูล ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ปลูกพลูปลูกหมากเป็นบ้านสวนวัดหนัง วัดศาสครืนอยู่ริมคลองกลางสวนลึก ใครใจไม่ถึงก็อย่ามาให้ชาวบ้านเขาหัวเราะเล่น
........


          กลับมาเรื่องปริศนาธรรมคำสอนที่คนตายฝากให้คนเป็นกันก่อนดีกว่า พ่อครูเทียมบอกว่า ทุกอย่างในงานพิธีกรรมเกี่ยวกับศพล้วนแล้วแต่เป็น ธรรมะ เป็นหลักคิดในชีวิตทั้งสิ้น

 

 

 

ชุดเรื่องเล่าข้างเชิงตะกอน จากสัปเหร่อรุ่นบรมครู (๑)

"อ.เทียม ซิวใจเอื้อ" สัปเหรอผู้เรืองเวท


          อย่างการมัดตราสังก็เหมือนกัน เป็นธรรมะสำคัญทีเดียวเชียว
          คำว่า "สัง" ในความหมาย "ตราสัง" นั้น นักปราชญ์บางคนสันนิษฐานว่ามาจากคำ "สังขาร" แต่พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำ "สาง" ซึ่งแปลว่า ผี หรือซากศพ มากกว่า


          สำหรับคำว่า "ดอยใน" นั้น "ดอย" เป็นกริยา มีความหมายว่า ผูก มัด ตอก ชก ตี ปา หรือทอย "ดอยใน" จึงหมายความว่า เป็นการผูกหรือมัดอยู่ข้างใน


          การตราสังศพนี้ สันนิษฐานว่า
          "...เห็นจะเป็นประเพณีเก่าแก่สืบมาแต่โบราณ ดังมีกล่าวถึงในเรื่องลิลิตพระลอแห่งหนึ่งว่า 'ธ ให้สามกษัตริย์ จัดสรรภูษา ตราสังทั้งสามองค์ ผจงโลงทองหนึ่งใหญ่ ใส่สามกษัตริย์แล้วไสร้'"
          แต่ความโบราณเช่นว่านี้
          จะโบราณเพียงไรไม่อาจทราบได้

          ในหนังสือ "ประเพณีทำศพ" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ 
          มีเนื้อหาว่าไว้ดังต่อไปนี้

.......


          เมื่อได้จัดการแต่งตัวศพเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นศพผู้ดี จะทำถุงผ้าขาวสวมศีรษะใบหนึ่ง สวมมือทั้งสองข้างซึ่งอยู่ในรูปประนมถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนใบหนึ่ง และสวมเท้าอีกใบหนึ่ง จากนั้น เอาด้ายดิบ กล่าวคือ ด้ายที่ยังไม่ได้ฟอกสี เส้นขนาดนิ้วก้อย ทำเป็นบ่วงสวมคอบ่วงหนึ่ง มัดรอบหัวแม่มือและข้อมือทั้งสองข้างให้ติดกันอีกบ่วงหนึ่ง และรัดรอบหัวแม่เท้ากับข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกันอีกบ่วงหนึ่ง เรียกว่า "ตราสัง" หรือ "ดอยใน"


          เมื่อเสร็จแล้ว จะห่อศพด้วยผ้าขาวยาวสองทบ ชายผ้าทั้งสองอยู่ทางศีรษะและขมวดเป็นปมก้นหอย แล้วใช้ด้ายดิบขนาดนิ้วมือผูกจากเท้าขึ้นมาเป็นเปลาะ ๆ มารัดกับชายผ้าที่เป็นปมก้นหอยนั้นให้แน่น เหลือชายด้ายดิบไว้พอสมควรเพื่อเป็นสายยาวปล่อยออกมานอกโลงได้ แล้วยกศพที่มัดนั้นวางลงในโลงศพแล้วจัดท่าร่างให้นอนตะแคง


          พ่อครูเทียม สัปเหร่อระดับตำนานที่สืบสานวิชามาจากพ่อหลวง บิดาของท่าน ผู้เป็นสัปเหร่อเก่าของวัดศาลาครืนและเป็นสัปเหร่อในสมัยรัชกาลที่ ๖ และเป็นสัปเหร่อที่ถวายงานให้สมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ในวัง จะเรียกว่าเป็นสัปเหร่อหลวงก็ไม่ผิดบาป ท่านได้รับถ่ายทอดวิชามาทั้งหมด
ท่านบอกว่า


          เวลามัดตราสังศพ จะต้องสายสิญจ์มาทำบ่วงสวมคอ มือ และเท้ามัดร่างไร้วิญญานในห่อผ้า  สัปเหร่อผู้มัดตราสังจะต้องท่องคาถาไปด้วยว่า "ปุตฺโต คีเว ธนํปาเท ภริยาหตฺเถ" หรือ "ถ้าภาษาที่อ่านง่ายๆคือ ปุตตัง คีเว  ธนัง ปาเท ภริยาหัตเถ


          ท่านถาม รู้ความหมายไหม? 
          ผมยิ้มเจื่อนๆพลางหัวเราะแหะๆท่านยิ้มแล้วว่า  


          "ถ้าจะอธิบายไปทางปริศนาธรรมก็จะได้ความว่า ห่วงทั้งสามนี้ย่อมผูกมัดสัตว์โลกให้จมอยู่ในห้วงแห่งวัฏสงสารไม่ให้หลุดพ้นไปได้ ต่อเมื่อตัดบ่วงนี้ขาดจึงจะพ้นทุกข์ได้ 
          ปุตตัง คีเว  คือ ลูกก็เปรียบเสมือนบ่วงผูกคอทำให้เกิดความห่วงหาอาทร มันเป็นทุกข์ เอาไปด้วยก็ไม่ได้  
          ธนัง ปาเท  ทรัพย์สินสมบัติทั้งหลายที่มีมากมายตอนยังไม่ตายก็เป็นทุกข์ เอาไปด้วยไม่ได้  


          ภริยาหัตเถ เมียรักของเรา พอเราตายก็ไม่สามารถไปอยู่ด้วยกันได้ สมัยก่อนเขาบอกว่า ลงบันไดสามขั้นไปแล้วมันมีสิทธิ์เป็นคนอื่นกันได้ทั้งนั่น นี่มันก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า ให้ทำใจเสีย ให้ปล่อยวางเสียบ้าง อย่าไปยึกติดมาก เพราะเวลาตายไปทุกอย่างมันก็เอาไปไม่ได้ "


          ผมฟังคำอธิบายจากท่านแล้วก็ กลับมานั่งขบคิดต่อและชวนให้ไปค้นคว้าในในโคลงโลกนิติ ที่เขียนเอาไว้ว่า
          มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว            พันคอ
          ทรัพย์ผูกบาทาคลอ           หน่วงไว้
          ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ          รึงรัด มือนา
          สามบ่วงใครพ้นได้              จึ่งพ้นสงสาร
..............


          สัปเหร่อจุดเทียนเป็นคู่ๆ ตั้งแต่ด้านปลายเท้าไปด้านศีรษะแล้วตั้งต้นทำน้ำมนต์ธรณีสาร ใช้สำหรับประพรมแก้เสนียดจัญไรแล้วว่าคาถา
          สิโรเม พุทธเทวญจ
          นลาเฏ พรหมเทวตา
          หทย นรายกญเจว
          เทวหตปรเม สุราฯ
          ปาเท วิสสณุกญเจว 
          สพพกมมา ปสิทธิ เม

          เป็นการเชิญ พระพุทธ พระธรรม พระนารายณ์พระปรเมศวร พระวิศวกรรม มาเข้าสิงกายให้ทำพิธีกรรมต่างๆ สำเร็จ บทตั้งแต่ สิทธิกิจจเป็นบทให้พระเจ้าเรือน มีดังนี้
         สิทธิกิจจสิทธิกมม
          สิทธการิย ตถาคโต
          สิทธิลาโภนิรนตร
          สิทธิเตโช ชโย นจจ
          สิทธิกมม ปสิทธิเม
          สพพสิทธิ ภวนตุ เม


          เสร็จแล้วสัปเหร่อจะนำน้ำมนต์ลูบหน้าเสยผม ๓ ครั้งประพรมโลง ๓ หน หยิบเทียนที่ติดปากโลงมาจุดด้ายสายสิญจน์ที่วงรอบโลงจุดเทียนเป็นคู่ๆ จากปลายเท้าให้ไหม้ขาดทุกช่อง เว้นช่องด้านสกัดที่จะใช้เป็นหัวโลงเอามีดหมอ กดด้ายสายสิญจน์ที่กลางหัวโลงเสกคาถาว่าพุทธปจจกขามิ ธมม หจจกขามิ สงฆ ปจจกุขามิ๓  คาบ


          การมัดศพในการตราสังนั้น ก็เพื่อไม่ให้ศพพองขึ้นจนดันโลงแตกเมื่อตอนขึ้นอืด จึงต้องมีการมัดให้แน่น และจัดให้ศพนอนตะแคงในโลง ส่วนการโยงสายสิญจ์ไปผูกกับสายสิญจ์ที่มัดตราสังออกมานอกโลงนั้น ก็เพื่อผูกผ้าโยงให้พระบังสุกุล บุญจะได้แล่นเข้าถึงร่างไร้วิญญาน ไร้ลมหายใจที่เรียกว่า ศพ


          แต่พอไปอ่านที่ราชบัณฑิตยสถานอธิบายไว้ว่า "...การตราสังนั้นก็เพราะกลัวผีจะมารังควาน จึงมัดเสียแน่นหนา ไม่ต้องการให้ผีเดินมาได้..."


          อืม...ผมล่ะอยากจะเห็นหน้าราชบัณฑิตคนที่เขียนข้อความนี้จริงๆ-ผ่าสิ!!

 

..............................
เอก อัคคี
บันทึกไว้กันลืม
๑๐๐๕๖๓
เรือนดาหลา

* ผู้ใดคัดลอกบทความไปเผยแพร่ 
กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาด้วยครับ-ขอบคุณ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ