ข่าว

16 ปีไฟใต้..เมื่อกลไกสภาขึงขัง ระวังเป็น จุดตาย รัฐบาลลุงตู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

16 ปีไฟใต้...เมื่อกลไกสภาขึงขัง ระวังเป็น จุดตาย รัฐบาลลุงตู่

 

          วิกฤติการณ์ไฟใต้เดินทางมาครบ 16 ปีเต็มเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์ไฟใต้รอบใหม่ เพราะวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารจำนวน 413 กระบอก จากค่ายทหารใน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส 

 

          นับจากนั้นก็มีการก่อเหตุรุนแรงรายวันรูปแบบต่างๆ ในลักษณะ อาชญากรรมความไม่สงบ ทั้งยิง ทั้งเผา ทั้งระเบิด ทั้งก่อกวน ผสมโรงกับความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดอยู่แล้วในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์และปัญหาการเมืองท้องถิ่น


          16 ปีไฟใต้ เกิดเหตุความไม่สงบมาแล้ว 10,119 เหตุการณ์ มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิต 4,083 ราย บาดเจ็บ 10,818 ราย 


          ที่น่าตกใจคือกว่าครึ่งของทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์


          ยิ่งไปกว่านั้นผลกระทบจากความรุนแรงทำให้มี “เด็กกำพร้า” จำนวนมากมายในพื้นที่โดยหากนับเฉพาะเด็กที่สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่จากสถานการณ์ความไม่สงบ และในวันเกิดเหตุอายุไม่เกิน 25 ปี พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,297 คน แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 2,657 คน ยะลา 1,914 คน นราธิวาส 2,513 คน และสงขลา 213 คน


          16 ปีไฟใต้ ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท 


          งบประมาณปีล่าสุด 2563 เฉพาะงบแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ที่ 10,865.5 ล้านบาท เกิดคำถามว่าการจัดการปัญหาสัมฤทธิ์ผลหรือไม่เพียงใด เพราะไฟใต้ยังไม่ดับมอดลงเสียที


          ไล่ดูสถิติเหตุรุนแรงตลอดปี 2562 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบทุกรูปแบบ จำนวน 121 เหตุการณ์ ลดลงกว่าปีก่อนหน้า โดยในปี 2561 มีเหตุรุนแรงทุกประเภทอยู่ที่ 161 เหตุการณ์ และยังลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 ที่มีเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 178 เหตุการณ์

 



          แต่ปัญหาก็คือความรุนแรงที่ยังดำรงอยู่ทำให้เกิดความสูญเสียทุกสาขาอาชีพ หนักที่สุดคือประชาชนทั่วไป ไม่เว้นแม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ หนำซ้ำในปี 2562 มีผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจนต้องสูญเสียชีวิตจำนวน 72 ราย สูงกว่าปีก่อนหน้าที่มีผู้เสียชีวิต 62 ราย และในจำนวน 72 รายนี้ มีพระสงฆ์มรณภาพไป 2 รูป จากเหตุการณ์คนร้ายบุกยิงพระถึงในวัดรัตนานุภาพ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส


          นอกจากนั้นยังมีเหตุโจมตีป้อม ชรบ.ที่ตำบลลำพะยา จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวถึง 15 คน ซึ่งนับว่ามากที่สุดหากเทียบกับเหตุโจมตีป้อม จุดตรวจ และฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา


          จากตัวเลขที่เห็นและเป็นอยู่จึงยังสรุปไม่ได้ว่าไฟใต้มีทิศทางที่ดีขึ้นจริง 

          ยิ่งไปกว่านั้นในปี “หนูทอง” 2563 ยังมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะปัญหาไฟใต้จะถูกนำไปพูดถึงในที่ประชุมสภามากกว่าเดิม เนื่องจากส.ส.ชายแดนใต้ 11 คน เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านมากกว่าครึ่ง หนำซ้ำทั้งหมดยัง “แพ็ก” กันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้แยกขั้วแยกฝ่าย เห็นได้จากเวลาที่มีการอภิปรายประเด็นกฎหมายพิเศษ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และงบประมาณดับไฟใต้


          นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา


          ปฏิเสธไม่ได้ว่า 16 ปีไฟใต้ ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาอยู่ในมือของกองทัพ ผ่านหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว กอ.รมน.ก็คือกองทัพบก ควบคุมทั้งงานความมั่นคง และงานพัฒนา ฉะนั้นความบกพร่องผิดพลาดในภารกิจดับไฟใต้จึงถูกโยนให้เป็นความรับผิดชอบของกองทัพ


          ด้วยเหตุนี้ปี “หนูทอง” ที่การเมืองไทยคุกรุ่นตั้งแต่เปิดศักราช กับประเด็น 6 ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ควรทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา จึงคาดการณ์ได้เลยว่าไฟใต้อาจกลายเป็นจุดตายของรัฐบาลที่ถูกฝ่ายค้านนำมาถล่มเพื่อยืนยันความล้มเหลวของรัฐบาลทหารซ่อนรูปที่มีผู้นำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้มานานถึง 12 ปี ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 1 ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี!

 

 

          ละลาย 3 แสนล้าน - กังขาซุกงบ
          ตลอด 16 ปีไฟใต้ 17 ปีงบประมาณ ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท โดยตัวเลขงบประมาณปีล่าสุดคือปี 2563 ที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เฉพาะงบแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งไว้ที่ 10,865.5 ล้านบาท รวมตัวเลขทั้งสิ้น 313,792.4 ล้านบาท


          ไล่ดูงบดับไฟใต้แต่ละปีงบประมาณ สรุปได้ดังนี้
          ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท  ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท  ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท  ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท  ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท  ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท 


          ส่วนปี 2560-2563 เฉพาะแผนงานบูรณาการ แบ่งเป็น ปี 2560 - 12,692 ล้านบาท  ปี 2561 - 13,255.7 ล้านบาท ปี 2562 - 12,025.3 ล้านบาท  และ ปี 2563 - 10,865.5 ล้านบาท

          รวมทั้งสิ้น 313,792.4 ล้านบาท


          เป็นที่น่าสังเกตว่างบดับไฟใต้ในยุคที่ คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ามาเป็นรัฐบาล และจัดทำงบเอง มีทิศทางลดน้อยลงอย่างมาก คือลดลงกว่ายอดเฉลี่ยปีก่อนๆ ที่เคยตั้งไว้ถึงกว่า 50% ทำให้เกิดคำถามว่ามีการ “ซุกงบ” หรือไม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้ตัวเลขดูดี และกองทัพไม่ตกเป็นเป้าวิจารณ์มากนัก เนื่องจากกองทัพคือหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ผ่านองค์กร กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร


          ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 คือปีล่าสุดในวาระแรก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคน โดยเฉพาะ ส.ส.จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นนี้ โดยกล่าวหาว่ายังมีงบประมาณนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกถึงกว่า 30,000 ล้านบาทที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ฉะนั้นตัวเลขงบประมาณที่ใช้จริงในภารกิจดับไฟใต้ต่อปี น่าจะสูงถึงราวๆ 30,000-40,000 ล้านบาท


          แต่ประเด็นนี้ฝ่ายความมั่นคงอธิบายว่าการจัดทำงบประมาณดับไฟใต้เป็น “แผนงานบูรณาการ” นั้น ดำเนินการมานานหลายปีแล้ว แต่สาเหตุที่ยุคก่อน คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองมีการตั้งงบเอาไว้สูง ก็เพราะส่วนราชการต่างๆ มักเสนอโครงการที่ต้องการรับการสนับสนุนงบประมาณเข้ามาในแผนบูรณาการดับไฟใต้ เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาอนุมัติ เนื่องจากเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ทุกฝ่ายอยากให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปโดยเร็ว จึงไม่มีการตรวจสอบเข้มงวดมากนัก ทั้งๆ ที่งบบางรายการไม่ได้เกี่ยวข้องกับภารกิจดับไฟใต้โดยตรง เช่น การจัดซื้ออาวุธปืนของหน่วยราชการบางหน่วยที่ใช้ทั้งในภารกิจปกติ และอ้างว่าใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย อย่างนี้เป็นต้น


          ต่อมาเมื่อ คสช.เข้ามาจัดทำงบประมาณและมองเห็นปัญหา จึงมีการคัดกรองงบประมาณโครงการที่จะเข้าสู่แผนบูรณาการดับไฟใต้ โดยจะต้องมีการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยและมีตัวชี้วัดชัดเจน ตลอดจนมีการติดตามตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและองค์กรอิสระอื่นๆ ทำให้มีการกรองโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจำนวนมาก กระทั่งเหลืองบที่เสนอและมีตัวชี้วัดจริงๆ ราวๆ 10,000-13,000 ล้านบาทเท่านั้น


          ส่วนงบปกติของส่วนราชการต่างๆ ที่ต้องมีโครงการพัฒนาตามแผนงานปกติเหมือนพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรง ก็ต้องแยกไปตั้งงบของหน่วยงานตัวเอง เช่นเดียวกับตัวเลขงบประมาณนอกแผนบูรณาการที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอ้างถึง ซึ่งก็เป็นงบที่ตั้งไว้ของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี เช่น งบสร้างอาคาร งบสร้างทาง เป็นต้น เหล่านี้ไม่นับรวมอยู่ในแผนบูรณาการ


          ไม่ว่าคำชี้แจงจากรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงจะฟังขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือปัญหาไฟใต้ในยุคนี้ถูกตรวจสอบในสภามากขึ้น โดยเฉพาะจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่มีจำนวนที่นั่งเกินครึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นโอกาสที่รัฐบาลจะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นย่อมมีสูง โดยเฉพาะเมื่อภารกิจดับไฟใต้อยู่ในกำมือของกองทัพ...


          และเป็นกองทัพที่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.โดยตำแหน่ง และมีผู้บังคับบัญชาเป็นอดีตผู้นำกองทัพซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ