ข่าว

หยุดยั้งสถิติ ฆ่าตัวตาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หยุดยั้งสถิติ ฆ่าตัวตาย บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2562

 

 


          กรมสุขภาพจิตเปิดเผยสถิติภาพรวมอัตราการ “ฆ่าตัวตาย” ล่าสุดในประเทศไทย พบว่าปี 2561 อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากร 100,000 คน มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน โดยเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 4 เท่า และพบว่าวัยแรงงานช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด ร้อยละ 74.7 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.1 และวัยเด็กอายุ 10-24 ปี ร้อยละ 3.2 นอกจากนี้ยังพบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 345 คนต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 คน สาเหตุส่วนใหญ่จากปัญหาความสัมพันธ์ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด โดยพบร้อยละ 48.7 ส่วนปัญหาความรัก ร้อยละ 22.9 และพบมีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 7.45 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54

อ่านข่าว...  วันนี้ในอดีต 10 ก.ย."วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก"

 

          องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก หรือ World Suicide Prevention Day โดยสถิติเกี่ยวกับสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทยปี 2561-2562 โดยมีรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกประจำปี 2562 โดย World Population Review ที่สำรวจและพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่าประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน อีกทั้งองค์การอนามัยโลกระบุด้วยว่ามีคนเสียชีวิตจากฆ่าตัวตายทุก 40 วินาที และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุเสียชีวิตของวัยรุ่นอายุ 15-29 ปีมากที่สุด รองลงมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ประเทศทั่วโลกจะเพิ่มมาตรการป้องกันแต่ก็ยังไม่สามารถลดตัวเลขได้


          มีแพทย์วิจัยศึกษาเจาะลึกถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตายได้ให้ความเห็นเชิงวิชาการไว้ว่าปัจจัยทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ ป่วยเรื้อรัง โรคทางจิต หรือแม้แต่ภาวะทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปัจจัยเพียงด้านเดียวหรือสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเท่านั้นที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย แต่มาจากปัจจัยอันสลับซับซ้อนและมีปัจจัยด้านอื่นมาทับซ้อนและร่วมด้วยเสมอนั่นเป็นข้อเท็จจริงจากการเก็บข้อมูลซึ่งสิ่งที่น่ากังวลน่าจะเป็นเรื่องการลอกเลียนแบบที่ถือว่ามีนัยสำคัญโดยมีหลายปรากฏการณ์ในปี 2561-2562 มีเหตุการณ์นักศึกษาฆ่าตัวตาย จากนั้นก็จะมีการกระทำในวิธีการและลักษณะใกล้เคียงกันตามมา หรือที่พบอีกวิธีการคือการใช้เตาถ่านในการรมควันเสียชีวิตที่เริ่มเกิดถี่มากขึ้น ซึ่งรายล่าสุดเกิดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งสามีและภรรยาตัดสินใจรมควันเสียชีวิตทั้งคู่ภายในรถยนต์ยิ่งสะท้อนว่าปัญหานี้นับวันรุนแรงมากขึ้น




          เมื่อพิจารณาปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่เกิดจากหลายปัจจัยทับซ้อนกัน เช่น สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และเรื่องการเจ็บป่วย ดังนั้นคงไม่ใช่ปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างเดียว และไม่ใช่หน่วยงานรัฐหน่วยงานใดจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบแก้ไขปัญหานี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาและยังรวมไปถึงหน่วยอื่นๆ ในสังคม ทั้งสถานศึกษา ครอบครัว และยิ่งลงลึกไปถึงใกล้ชิดกับกลุ่มผู้เสี่ยงคือบรรดาเพื่อนแล้ว ย่อมมีโอกาสในการเข้าไปช่วยเหลือปรับสภาพก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นโดยเฉพาะผู้คิดฆ่าตัวตายมักสังเกตถึงพฤติกรรมเบื้องต้นที่มองตนเองว่าเป็นคนไร้ค่าและมองสังคมรอบตัวว่าขาดความเป็นธรรมรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังเศร้าใจและทุกข์ใจเป็นอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกองคาพยพในสังคมต้องเตรียมรับมือปัญหานี้ในปี 2563 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ