ข่าว

ผบ.ตร. กำหนดมาตรการแก้ปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จักรทิพย์ กำหนดมาตรการแก้ปัญหา ตร. ฆ่าตัวตาย 3 ระยะ ตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว กำชับผู้บังคับบัญชาสอดส่องดูแล

 

              พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีหนังสือบันทึกข้อความ ที่ 009.331/ ลงวันที่ 26 พพฤศจิกายน เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ใจความว่า

 

 

 

              จากสภาพปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของข้าราชการตำรวจ จนนำไปสู่ความเครียดกระทบต่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของข้าราชการตำรวจ จนเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ตร. จึงมีคำสั่ง ที่ 570/2562 ลง 10 ตุลาคม 2562 แต่งตั้งคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) เพื่อศึกษาสาเหตุ กำหนดวิธีการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ข้าราชการตำรวจเป็นรูปธรรม แล้วเสนอมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) จึงได้กำหนดมาตรการ 3 ระยะ ดังนี้

              1. ระยะเร่งด่วน

              1.1 ให้ผู้บังคับบัญชา ประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีลักษณะกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการสังเกตพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง ดังนี้

 

 

 

              1.1.1 มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เช่น มีความกดดันจากการปฏิบัติหน้าที่ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชา การจริงจังกับชีวิตและการทำงานมากเกินไป ถูกดำเนินการทางวินัยหรืออาญา ถูกกล่าวหาให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นต้น

              1.1.2 มีปัญหาส่วนตัวและครอบครัว เช่น ความสัมพันธ์ ความขัดแย้งภายในครอบครัว ครอบครัวแตกแยก รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ภาระหนี้สินจำนวนมาก มีภาระต้องดูแลครอบครัวมาก ปัญหาชู้สาว เป็นต้น

              1.1.3 มีปัญหาทางบุคลิกลักษณะหรือสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า สิ้นหวัง โดดเดี่ยว ความรู้สึกโกรธที่ไม่แสดงออกได้โดยตรง มีความผิดปกติทางอารมณ์หรือบุคลิกภาพ เป็นต้น

อ่านข่าว - ผบ.ตร. เตือนผู้ต้องหาฆ่าสองผัวเมียครูมอบตัว

 

 

 

              1.1.4 มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ เป็นโรคร้าย เรื้อรัง รักษาไม่หาย เป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการ อาการเจ็บป่วยรุนแรงทรมาน ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ติดสุราเรื้อรังหรือติดสารเสพติด เป็นต้น

              1.1.5 มีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน โดยผู้บังคับบัญชาต้องทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ สอดส่องดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทั้งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและผู้มีความเสี่ยงต่ำ ตลอดจนปฏิบัติการช่วยเหลือยับยั้งได้ทันท่วงที โดยประสานโรงพยาบาลตำรวจ หรือสถานพยาบาลในพื้นที่ ทำการช่วยเหลือและรักษา ทั้งนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาเฝ้าระวัง ติดตาม ตลอดจนการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและการส่งเสริมความเข้มแข็งด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

              กรณีมีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย อันเกิดจากปัญหาความบีบคั้นจากสภาพการปฏิบัติงานหรือปัญหาชีวิตส่วนตัวที่มีต่อข้าราชการตำรวจผู้นั้น หากพบว่าเป็นข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแต่ผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย หรือไม่สอดส่อง กำกับดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จนเกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ให้พิจารณาความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ลง 1 ตุลาคม 2537 เรื่อง มาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ

              1.2 ให้ทุกหน่วยงานในระดับ กก. และระดับสถานีตำรวจ แต่งตั้ง "คณะกรรมการสร้างเสริม คุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว" คณะหนึ่ง ประกอบด้วยข้าราชการตำรวจในสังกัดที่มีความเหมาะสม และอาจมีบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ที่เชื่อถือเข้าร่วมเป็นกรรมการได้ โดยให้มีอำนาจหน้าที่วิคราะห์ ศึกษาสาเหตุ ปัญหา และให้ความช่วยหลือข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างเร่งด่วน โดยประสานโรงพยาบาลตำรวจ หรือสถานพยาบาลในพื้นที่ การขอความร่วมมือกับผู้นำศาสนาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดจนเครือข่ายชุมชนทุกภาคส่วน อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย

 

 

 

              1.3 มอบหมายให้โรงพยาบาลตำรวจ จัดอบรมให้แก่ “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” ที่ทุกหน่วยงานจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ความรู้และทักษะเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย รวมถึงการดูแลจิตใจของผู้พยายามฆ่าตัวตาย เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจของปัจจัยและสาเหตุ วิธีการสังเกตสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายและมีความสามารถในการระงับยับยั้งการพยายามฆ่าตัวตายหรือรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตได้

              1.4 ให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดได้รับทราบในการเข้าถึง บริการทางด้านสุขภาพจิต ติดต่อโรงพยาบาลตำรวจ สายด่วน Depress We Care หมายเลข 081-9320000 ผ่านทาง inbox ของ Facebook Page : Depress We Care และสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323

 

 

 

              1.5 ให้ สท. ประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลตำรวจ ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย แนวทางการเฝ้าระวังและการดูแลเบื้องต้น โดยจัดทำเป็นวีดิทัศน์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ และจัดส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ข้าราชการตำรวจทราบโดยทั่วกัน

              2. ระยะกลาง

              2.1 กำชับให้ทุกหน่วยงานจัดให้มีการตรวจสุขภาพข้าราชการตำรวจประจำปี ซึ่งเป็นการตรวจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภาวะการติดสุราเรื้อรังหรือสารเสพติด และมีนักจิตวิทยาร่วมตรวจด้วย โดยประสานโรงพยาบาลตำรวจ หรือสถานพยาบาลในพื้นที่ แล้วรายงาน ตร. ทราบเป็นประจำทุกปี

              2.2 ให้ บช.ศ. , รร.นรต. และศูนย์ฝึกอบรมประจำหน่วยงาน สอดแทรกเนื้อหาการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งมิใช่หลักสูตรการฝึกทางยุทธวิธีตำรวจ ตามความเหมาะสมกับระยะเวลของหลักสูตร เพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินและป้องกันปัญหาการมีหนี้สินล้นพ้นตัว

 

 

 

              2.3 ให้ จต. ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ของทุกหน่วยงานในการตรวจราชการประจำปี

              3. ระยะยาว

              มอบให้โรงพยาบาลตำรวจจัดตั้งศูนย์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) โดยจัดทำรายละเอียดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และแนวทางการดำเนินงานนำเสนอ ตร. พิจารณาต่อไป

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ