ข่าว

เปิดร่างกฎหมายการุณยฆาตนิวซีแลนด์ผ่านสภาแล้วรอประชามติปีหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใกล้ได้บทสรุป การุณยฆาต จะผ่านออกมาเป็นกฎหมายที่นิวซีแลนด์หรือไม่ขึ้นอยู่กับการลงประชามติของประชาชนในปีหน้า 

 

ร่างกฎหมายการุณยฆาต ที่มีชื่อทางการ ร่างกฎหมายเลือกจบชีวิต ( End of Life Choice Bill  ) ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรนิวซีแลนด์ เมื่อวาน ( 13 พ.ย.) ด้วยคะแนนสนับสนุน 69 คัดค้าน 51 เหลือการลงประชามติรับรองอีกขั้นตอนเดียวที่จะตัดสินว่า กฎหมายอ่อนไหวที่ผ่านการถกเถียงดุเดือดมานาน 2 ปี จะบังคับใช้ได้หรือไม่ 

 

เดวิด เซย์เมอร์ ส.ส.หัวเสรีนิยมหนึ่งเดียวจากพรรค เอซีที ในสภา 120 ที่นั่งและเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายการุณยฆาต กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่นิวซีแลนด์สามารถถกเถียงประเด็นนี้กันได้ ซึ่งหมายถึงความก้าวหน้าอย่างแท้จริง กลายเป็นสังคมที่เสรี และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น 


พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เสียงแตก  ขณะที่นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ออกเสียงสนับสนุน แต่เธอเคยแสดงความเห็นไว้เมื่อเดือนมกราคมว่า กฎหมายผ่านจากสภาก็น่าจะเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องจัดลงประชามติ เพราะเสียงของชาวนิวซีแลนด์สะท้อนผ่านผู้แทนของพวกเขาในสภาอยู่แล้ว แต่ฝ่ายไม่เห็นด้วยระบุว่า ประชาชาติเลือก ส.ส. แต่ไม่ได้เลือกมโนธรรมของ ส.ส. 

 

เป็นที่คาดว่า การลงประชามติน่าจัดไปพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 

 

ร่างกฎหมายเลือกจบชีวิต  

 

-อนุญาตให้กระทำการุณยฆาตได้เฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ไม่มีทางรักษาให้หาย เผชิญความเจ็บปวดทรมานทนไม่ไหว และประเมินว่ามีชีวิตอยู่ไม่ถึง 6 เดือนเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับการุณยฆาตได้  

 

-ผู้ป่วยจะต้องร้องขอจบชีวิตด้วยตนเองเท่านั้น ห้ามหมอหรือพยาบาลเป็นคนเริ่มจุดประเด็นขึ้นมา แพทย์ 2 คน โดยคนหนึ่ง มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องรับรองว่าผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะ และผ่านกระบวนการคัดกรองตรวจสอบ  

 

- เมื่อผ่านทุกเกณฑ์แล้ว ผู้ป่วยจะต้องส่งแบบฟอร์ม แจ้งเวลา สถานที่และวิธีการที่ต้องการจบชีวิต พวกเขามีเวลา 6 เดือนที่จะใช้วิธีการนี้ หากพ้นแล้วยังไม่มีการุณยฆาตเกิดขึ้น ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ตามขั้นตอน 

 

-ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่า ขอรับยาทางสาย ทางปาก หรือทางสายยาง และเลือกได้ว่าจะเป็นคนเริ่มทำเอง หรือมีหมอหรือพยาบาลช่วยทำให้ในสถานที่ที่คนไข้เลือก รวมถึงที่บ้าน

 

-อนุญาตให้บุคลากรการแพทย์เลือกได้ว่าจะมีส่วนร่วมกับขั้นตอนการุณยฆาตได้หรือไม่ โดยไม่มีการลงโทษหากเลือกไม่ขอมีส่วนร่วม

 

- ผู้ป่วยมีสิทธิเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา 

( ที่มา nzherald ) 

 

สำหรับข้อวิตกที่หยิบยกขึ้นมาถกมากที่สุดก็คือ เรื่องการขู่เข็ญ  ฝ่ายต่อต้านระบุว่า ร่างกฎหมายยังไม่มีมาตรการเหมาะสมป้องกันกลุ่มคนเปราะบาง จากแรงกดดันให้เลือกตายแบบได้รับความช่วยเหลือ การมีกฎหมายอาจเป็นแรงกดดันโดยนัยต่อผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระ แม้กฎหมายระบุว่าแพทย์จะต้องวางมือทันทีหากสงสัยว่ามีการบังคับขู่เข็ญเกิดขึ้น แต่ฝ่ายวิจารณ์ก็แย้งว่าหมออาจไม่รู้จักคนไข้ดีพอ หรือไม่ได้ผ่านการอบอรมมามากพอที่จะตัดสินได้ 
 

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคมพบว่า ชาวนิวซีแลนด์ราว 72%  เห็นด้วยกับการุณยฆาตหรือการจบชีวิตตนเองแบบได้รับการช่วยเหลือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ฝ่ายต่อต้านยังมีความหวังว่าจะมีโอกาสพลิกกระแสได้ปีหน้า 

 

ปัจจุบัน ประเทศที่มีกฎหมายการุณยฆาต ได้แก่ เบลเยี่ยม แคนาดา โคลอมเบีย ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ