ข่าว

มาศาล... ต้องปลอดภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระยะนี้เกิดเหตุร้ายถี่ขึ้นในบริเวณศาล เช่นเดียวกับในอดีตก็เกิดเหตุมาแล้วหลายครั้ง ทางศาลรับมือขยับการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น อุดช่องหย่อนยาน

     ระยะหลังนี้เกิดเหตุร้ายถี่ขึ้นในบริเวณศาล

      เพิ่งเกิดเหตุไปหมาดๆเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีที่เคยเกิดเหตุผู้ต้องขังคดียาเสพติด 3 คน ได้หนีจากห้องควบคุมในศาลจังหวัดพัทยา โดยใช้อาวุธปืน-มีดที่ลักลอบเข้าไป ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในศาลได้รับบาดเจ็บ

      แล้วล่าสุดวันนี้( 11 ก.ย. )ก็เกิดเหตุขึ้นอีกที่ศาลจันทบุรี โดยคนร้ายได้ใช้อาวุธปืน พกสั้นออโตเมติก กล๊อก 22 ขนาด .40 ก่อเหตุยิงคู่กรณีและทนายความในขณะที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องมรดกที่ดิน ภายในบริเวณบัลลังก์ห้องพิจารณาคดี จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลซึ่งปฎิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีได้ใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงผู้ก่อเหตุ เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นทนายความ 2 คนและผู้ก่อเหตุ 1คน  และบาดเจ็บ 2 คน

     ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดกรณีช็อควงการยุติธรรมมาแล้ว เมื่อผู้พิพากษายิงตัวเองในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดยะลา

      เหตุร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณศาลในอดีตถึงขั้นคนร้ายจี้ตัวผู้พิพากษาเป็นตัวประกันก็เคยมี

    หากจะรวบรวมเหตุการณ์สำคัญๆ เกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นบริเวณศาล มีหลายต่อหลายครั้ง 

     เริ่มตั้งแต่ปี 2522  ได้เกิดเหตุร้ายกับศาลเป็นครั้งแรก โดยเกิดเหตุที่ศาลจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 15  พฤษภาคม 2522 ผู้พิพากษาถูกผู้ต้องขัง 3 คนซึ่งเบิกตัวมาเป็นพยาน ได้จับผู้พิพากษาเป็นตัวประกันและหลบหนีไปจากศาล แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้าหน้าที่สามารถติดตามช่วยเหลือผู้พิพากษาให้รอดพ้นจากการเป็นตัวประกันได้

      หลังจากนั้นแค่อีก 3 วัน ต่อมา คือ วันที่ 18 พ.ค.2522  ที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังควบคุมผู้ต้องขังจำนวน 4 คนในคดีปล้นทรัพย์เข้าห้องพิจารณาคดี เกิดเหตุการณ์มีหญิงคนหนึ่งพยายามส่งถุงกระดาษซึ่งบรรจุอาวุธปืนและกระสุนปืนให้แก่จำเลย จากนั้นจำเลยทั้งสี่ได้วิ่งเข้าไปในห้องพักผู้พิพากษาและจับตัวผู้พิพากษา 2 คน เป็นตัวประกัน  แต่ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสี่หลบหนีไปได้ ก็ปล่อยให้ผู้พิพากษาทั้งสองเป็นอิสระ

     และต่อมาได้เกิดเหตุร้ายขึ้นเป็นระยะๆ คือในปี 2529  ,2531,2532, 2533 และ ปี 2534  รวมเหตุการณ์ทั้งหมด 12 ครั้ง  โดยในบางปีเกิดเหตุร้ายติดต่อกัน 2-3 ครั้ง

     การเกิดเหตุแต่ละครั้งได้สร้างความหวาดกลัว กระทบกระเทือนขวัญประชาชน ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพราะมีทั้งการจับตัวผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน การใช้อาวุธร้ายแรง  ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

   ก่อนหน้านี้ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้พูดถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยหลังเกิดเหตุร้ายที่ศาลจังหวัดพัทยาว่า  ต้องทบทวน โดยในส่วนของมาตรการทางศาลก็มีอยู่พอสมควร แต่อาจมีความหย่อนยานในเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งเมื่อไม่เกิดเหตุขึ้นก็อาจรู้สึกว่าไม่มีอะไร 

      “อย่างไรก็ดีเราก็ต้องมาดูว่ากฎระเบียบในการควบคุมตัวผู้ต้องหา เข้ามายังห้องควบคุมนั้นดีพอหรือยัง เราต้องทบทวน ต้องดูว่าอาวุธเข้ามาได้อย่างไร ซึ่งอาจมีการส่งอาวุธเข้ามาก่อนเกิดเหตุหรืออย่างไร”

       ประธานศาลฎีกา ยังชี้ให้เห็นถึง ปัญหาว่าทางราชทัณฑ์ ก็มีเจ้าหน้าที่ไม่พอ เพราะปัจจุบันก็มีผู้ต้องขังล้นคุกเกิน 2-3 เท่า สัดส่วนของผู้คุมกับนักโทษเกินมาตรฐาน  และประธานศาลฎีกาเห็นว่า วิธีแก้ทางหนึ่ง  ก็คือ การประสานงาน และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยดูว่าใครรับผิดชอบอะไร เข้มงวดตรงไหน

    ส่วน  เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  "สราวุธ เบญจกุล”  บอกว่า การดูแลความเรียบร้อยในศาลมีด้วยกัน 3 ส่วน ส่วนผู้ต้องขังจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จากกรมราชทัณฑ์, เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมดูแลความปลอดภัยบริเวณศาล และในส่วนของศาลเองมีเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่จัดสรรการจ้างมาจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ซึ่งไม่มีอาวุธประจำกายจะดูแลความเรียบร้อยทั่วไปบริเวณศาล ซึ่งมีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด ก็ต้องประสานความร่วมมือทุกส่วนต่อไป

มาศาล... ต้องปลอดภัย

        ขณะที่ในส่วนของศาลนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมก็กำลังพัฒนาระบบเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล (COURT MARSHAL) ซึ่งปัจจุบันนี้มีข้าราชการที่รับโอนมาผ่านการฝึกอบรมพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้วทั้งสิ้น 35 ราย  โดยในการอบรมก็มีทั้งด้านวิชาการ และปฏิบัติ เช่น การใช้อาวุธปืน , การต่อต้านการก่อการร้าย , วิเคราะห์ข่าวกรอง , เทคนิคการสืบสวน , การวางแผนตรวจค้น , ยุทธวิธีการเข้าจับกุม , การอารักขาบุคคลสำคัญ

มาศาล... ต้องปลอดภัย

           สำหรับเจ้าพนักงานตำรวจศาลหรือ คอร์ทมาแชลรุ่นที่ 1 จำนวน 35 คนนั้น เป็นชายทั้งสิ้น 28 คน และหญิง 7 คน ซึ่งการให้มี Court Marshal เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในศาลยุติธรรม เกิดขึ้นหลังจาก พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.2562 ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เม.ย.62 และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ก็ได้เปิดรับโอนข้าราชการ มาดำรงตำแหน่ง Court Narshal ชุดแรก ใน 2 ประเภท คือ

   1.ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ อายุไม่เกิน 45-50 ปี ต้องมียศไม่ต่ำกว่าพันเอก , นาวาเอก , นาวาอากาศเอก , พันตำรวจเอก หรือเทียบเท่า ระดับชำนาญการและระดับปฏิบัติงาน อายุไม่เกิน 35-40 ปี ต้องมียศไม่ต่ำกว่าร้อยโท , เรือโท , เรืออากาศโท , ร้อยตำรวจโท ทั้ง 2 ส่วน ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมาย เคยผ่านงานรักษาความปลอดภัย , ปราบปราม , สืบสวน , สอบสวน , การข่าว มาไม่น้อยกว่า 5 ปี

 2.ประเภททั่วไป (ผู้ปฏิบัติงานระดับต้น) อายุไม่เกิน 35 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่า ปวส. หรือเทียบเท่า ไม่จำกัดสาขา หรือจบโรงเรียนนายสิบตำรวจ , โรงเรียนนายสิบทหารบก , โรงเรียนจ่าอากาศ , โรงเรียนชุมพลทหารเรือ หรือเทียบเท่า เคยผ่านงานรักษาความปลอดภัย , ปราบปราม , สืบสวน , สอบสวน , การข่าว มาไม่น้อยกว่า 5 ปี

     ส่วนในปีหน้า ปี 2563 ทางศาลจะคัดเลือกบุคคลมาเป็น“ คอร์ทมาแชล” ให้ได้อย่างน้อย 300 คนเพื่อที่จะนำอัตรากำลังในส่วนนี้ที่ศาลจัดดำเนินการเอง กระจายไปประจำการยังศาลภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่มีอยู่ 275 แห่ง ซึ่งตั้งเป้าว่าจะจัดกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล ประจำศาลภูมิภาคแต่ละศาล 1-2 นาย ก็จะเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยของศาลต่างๆ ด้วยความเข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น

     โดยที่ผ่านมาก่อนเกิดเหตุต่างๆ ทางศาลได้ทำการตรวจสอบข้อมูล และศึกษาประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ของศาลต่างๆ แล้ว เพื่อเตรียมจะจัดระบบให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล (COURT MARSHAL) ของศาลเอง ไปประจำการตามศาลพื้นที่ต่างๆ ซึ่งระหว่างที่ยังไม่ได้อัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาลครบจำนวน ทางศาลก็จะจัดกำลังเท่าที่มีกระจายไปยังศาลภูมิภาคเท่าที่จำเป็นก่อน โดยภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้จะได้ผลสรุปแล้วต่อไปก็จะทราบว่าจะต้องจัดสรรอัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชลในศาลใดบ้าง จำนวนเท่าใด และจะให้มีการหมุนเวียนประจำการอย่างไรบ้าง

     นอกจากนี้ทางเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ก็ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับผู้อำนวยการศาลต่างๆ ทั่วประเทศ กำชับมาตรการความเข้มงวด รัดกุมในการรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณศาลตามนโยบายประธานศาลฎีกา ที่จะต้องไม่ประมาท หละหลวม ต้องทำการตรวจเข้มด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งได้เน้นย้ำเรื่องการตรวจสอบอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยทุกชนิดที่ติดตั้งไว้ทุกศาลแล้วต้องพร้อมใช้งานทั้งกล้องวงรปิด และเครื่องตรวจอาวุธขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบริเวณทางเข้าศาล และเครื่องตรวจอาวุธชนิดใช้มือถือขนาดเล็ก ทั้งนี้เรื่องมาตรการปลอดภัยบริเวณทางศาลได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงเต็มความสามารถ หากตรวจสอบพบข้อบกพร่องก็จะดำเนินการป้องกันทันที

            ประชาชนมีคดีก็ทุกข์ร้อนพอแล้ว มาศาลจึงต้องปลอดภัย  ไม่ต้องรับเคราะห์กรรมเพิ่มอีก 

อ่านข่าวทีเกี่ยวข้อง : รัว 6 นัดกลางศาล อธิบดีภาค 2 ตรวจราชการพอดี

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ