ข่าว

ทุก 40 วินาที มีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทุก 40 วินาที มีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 


 


          องค์การอนามัยโลก หรือ ฮู ได้กำหนดวันที่ 10 กันยายน ของทุกปีให้เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day)” และมีรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2562 ที่สำรวจและพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ โดยพบว่าทุก 40 วินาที มีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และ “ประเทศไทย” มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน

 

 

          สถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทยในปี 2561-2562 หากเปรียบเทียบตัวเลขรอบ 6 เดือน พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในปี 2561 รอบ 6 เดือนแรกมีสัดส่วน 3.14% ต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนรอบ 6 เดือนหลัง 3.18% ต่อประชากร 1 แสนคน และในปี 2562 รอบ 6 เดือนแรก อยู่ที่ 3.08% ต่อประชากร 1 แสนคน เฉลี่ยประมาณ 11-12 รายต่อวัน และส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ปี โดยเป็นเพศชาย 80.4% ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ในปี 2561-2562 พบเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ 53.04%, ปัญหาจากสุรา 29%, โรคทางกาย 25.7, ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 19%, โรคทางจิต 12% และโรคซึมเศร้า 7.8% โดยการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในบ้านเรามีมากมายหลายเหตุการณ์ อาทิ รมควัน โดดที่สูง ยิงตัวเอง ผูกคอ ฯลฯ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวให้เห็นแทบทุกวัน


          ทว่าเมื่อวันที่ 25 กันายน ที่ผ่านมา ข่าวการฆ่าตัวตายของ “เหม” ภูมิภาฑิต นิตยารส ดารา-นักแสดงอิสระคนดังในวงการบันเทิงที่ผูกคอตัวเองในคอนโดแห่งหนึ่งย่านบางเขน ถูกนำเสนอเป็นข่าวใหญ่คึกโครม หลังจากนั้นหลายฝ่ายได้หยิบยกให้เป็นกรณีศึกษา โดยเฉพาะ กรมสุขภาพจิต มีความเป็นห่วงผู้ที่มีความเสี่ยงอยากฆ่าตัวตาย


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า ตามที่มีการเสนอข่าวระบุก่อน “เหม” เสียชีวิต ได้มีการโพสต์ข้อความเป็นลางบอกเหตุในโลกโซเชียล ด้วยเหตุนี้ทางกรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงผู้ที่มีความเสี่ยงอยากฆ่าตัวตายโดยการส่งสัญญาณเตือนผ่านการเขียนระบายในรูปแบบของข้อความหรือการโพสต์ลงในสื่อโซเชียล จึงขอแนะนำให้คนใกล้ชิด ครอบครัว หรือคนรอบข้าง ให้ช่วยกันสังเกต 5 สัญญาณเตือน การเสี่ยงฆ่าตัวตายในโลกโซเชียล เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในสังคมไทย คือ 1.การโพสต์ข้อความสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน 2. โพสต์ข้อความพูดถึงความตาย หรือไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว 3.โพสต์ข้อความว่า ตนเองรู้สึกผิด รู้สึกตนเองล้มเหลว รู้สึกหมดหวังในชีวิต 4.โพสต์ข้อความพูดถึงความเจ็บปวด และ 5.โพสต์ข้อความว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น




          “การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ดังนั้นเมื่อเห็นสัญญาณเตือนเหล่านั้น สิ่งที่เราทุกคนควรปฏิบัติ คือ 1.แสดงความเต็มใจช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ 2.ยอมรับว่าสิ่งที่โพสต์นั้นเป็นปัญหาของเขาจริงๆ 3.ให้กำลังใจ สร้างความหวัง ให้เห็นว่าปัญหาสามารถแก้ไขและผ่านไปได้ 4.พิมพ์ข้อความให้คำปรึกษา ปลอบใจให้มีสติค่อยๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา 5.ชักชวนให้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอก อย่าให้อยู่ลำพังคนเดียว 6.ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ให้บอกญาติเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด 7.แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา และ 8.ติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่เท่าที่จะทำได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบาย


          นพ.เกียรติภูมิ บอกด้วยว่า สำหรับวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยทั่วไปขอให้คอยสังเกตสัญญาณเตือนคนรอบข้าง หากพบว่ามีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ มีความคิดอยากตาย หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง เพียงแค่เรารับฟังกันและกันอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน ให้ได้พูดคุยระบายความรู้สึกคลายความทุกข์ในใจจะทำให้เกิดกำลังใจ ความสบายใจ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะการรับฟังนั้นเป็นพลังที่ดีที่สุด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ