ข่าว

ยูเอ็น จับตาวาทกรรม "กัญชาเสรี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หวั่นรัฐไทยเดินนโยบายยาเสพติดผิด ประธาน INCB ย้ำชัดไม่ควรนำกฎหมายในประเทศไปตีความกฎหมายระหว่างประเทศ ถึงชั้นศาลเสี่ยงนำพาประเทศโดนแซงชั่น

 

หวั่นรัฐไทยเดินนโยบายยาเสพติดผิด ประธาน INCB ย้ำชัดไม่ควรนำกฎหมายในประเทศไปตีความกฎหมายระหว่างประเทศ ถึงชั้นศาลเสี่ยงนำพาประเทศโดนแซงชั่น ระบุอนุสัญญาไม่ห้ามใช้พืชเสพติดเป็นยาทางการแพทย์ แต่รัฐต้องควบคุม พร้อมรายงานผลต่อยูเอ็นทุกปี แนวคิดผลิตยาเสพติดแจกผู้เสพ - สู้แก๊งค้ายาทำไม่ได้

 

          วันที่ 10 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในการประชุมวิชาการเรื่องสารเสพติดระดับชาติ จัดโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ ประธานคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) กล่าวบรรยายในหัวข้อกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องกัญชาและการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ว่า อนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 ระหว่างรัฐภาคีถือเป็นฉันทามติร่วมกัน การเอากฎหมายในประเทศไปตีความกฎหมายระหว่างประเทศจะทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมาย หากมีการนำขึ้นสู่ศาลกฎหมายที่เป็น International Law จะอยู่เหนือ National Law ดังนั้นเมื่อประเทศใดเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ จะต้องเคารพข้อตกลงตามกฎหมาย หากละเมิดข้อตกลงตามกฎหมายจะถูกตักเตือนหรือขึ้นบัญชี และการฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างประเทศจะทำให้ไม่สามารถนำเข้ายาที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาฯ ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสหประชาชาติได้ติดตามสถานการณ์กัญชาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยมีการใช้วาทกรรมปลูกกัญชาเสรีจึงรู้สึกกังวลและเป็นห่วง เพราะหากเดินนโยบายผิดจะเกิดปัญหาตามมามากมาย
 

          นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้ไม่ได้มีฉบับเดียว แต่ยังมีอนุสัญญาอีก 2 ฉบับคือ อนุสัญญา ค.ศ. 1971 ว่าด้วยสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เหมือนกัญชา การจัดระเบียบและอนุสัญญา ค.ศ. 1988 ว่าด้วยเรื่อง การป้องกันการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ ดังนั้นการจะออกนโยบายใดๆของรัฐจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดและรัดกุมให้เป็นไปตามนิยามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทุกประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาจะมีพันธกรณีผูกพันตามกฎหมาย ทุกประเทศในกลุ่มรัฐภาคีจะต้องให้ความร่วมมือระหว่างกัน

 

          “ยาต่างๆที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาจะนำเข้าหรือผลิตขึ้นมาใช้ จะต้องควบคุมให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น จะผลิตหรือแจกเพื่อสู้กับแก๊งค้ายาเสพติดไม่ได้จะถือว่าอยู่นอกเหนือกรอบของสนธิสัญญา รัฐบาลจึงต้องประมาณการปริมาณของกัญชาที่จะนำไปใช้ในการผลิตยาแพทย์แผนไทยด้วย เพราะในไทยมียาเสพติดประเภท 3 ที่ขึ้นทะเบียนกับอย.เพื่อนำมาใช้รักษาโรคอยู่แล้ว เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ที่มีส่วนผสมของ ทิงเจอร์ ฝิ่น การะบูน หรือยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่ขึ้นทะเบียนยาตำรับหลวง หรือการผลิตยาแผนไทย 16 ตำรับ ภายใน 1 ปีจะผลิตเท่าไร ใช้สารสกัดจากกัญชาจำนวนเท่าไร ซึ่งต้องรายงานให้ยูเอ็นรับทราบด้วย" ประธานฯควบคุมสารเสพติด กล่าว


          นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการควบคุมการปลูกพืชเสพติดเพื่อนำมาใช้ปรุงยา ตามสนธิสัญญา Single Convention on Nacrotic Drug 1961 ระบุว่า ถ้ารัฐภาคีฯอนุญาตให้ปลูกจะต้องระบุชัดถึง ภูมิภาค จำนวนพื้นที่ปลูก และจำนวนต้นที่ปลูก จะสกัดน้ำมันกัญชาได้ในปริมาณเท่าไร รวมถึงการปลูกเพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำใบกัญชาออกไปใช้ภายนอก โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตปลูกจะต้องส่งมอบผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดให้นำไปสกัดเป็นยา ขณะเดียวกันรัฐจะต้องประมาณการจำนวนผู้ป่วย ปริมาณและความจำเป็นในการกัญชาทางการแพทย์ และความต้องการใช้ยาของประเทศต่อยูเอ็น พร้อมส่งรายงานให้ INCB รับทราบทุกปี รวมทั้งรายงานข้อมูลการนำเข้า การคงเหลือของยากัญชาในสถานประกอบการโดยมีการเก็บข้อมูลอย่างน้อย 3 ปี


          “สนธิสัญญาฯกำหนดให้รัฐภาคีออกใบอนุญาตควบคุมการผลิตยากัญชา ให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพที่จะใช้กับผู้คนในรัฐภายใต้การควบคุมของแพทย์ มีระบบการขึ้นทะเบียนยา โดยเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง การผลิตและการใช้สารสกัดจากกัญชาจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐเท่านั้น การสูบกัญชาจึงไม่ใช่การใช้ยาทางการแพทย์ และไม่ควรนำไปอ้างว่าการสูบกัญชาในลักษณะเป็นบ้องเพื่อรักษาโรคไซนัส” นายวิโรจน์ กล่าว.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ