ข่าว

"ผญ.นัยนา"หญิงแกร่งแห่ง ม.ห้วยหาด นำภูมิปัญญาชาวบ้าน พลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นคืนสู่ป่าต้นน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ผญ.นัยนา" หญิงแกร่งแห่ง ม.ห้วยหาด เมืองน่าน นำภูมิปัญญาชาวบ้าน พลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นคืนสู่ป่าต้นน้ำแหล่งธรรมชาติสมบูรณ์

ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปิดสัมปทานทำไม้ ป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์กว่า 6 ล้านไร่ในจังหวัดน่าน ก็ถูกแผ้วถางทำลาย เปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พื้นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกทำลายกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ดินเสื่อมคุณภาพ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านสุขภาพร่างกาย เพราะได้รับสารเคมีที่ตกค้างในดิน และแหล่งน้ำ


    

"ผญ.นัยนา"หญิงแกร่งแห่ง ม.ห้วยหาด นำภูมิปัญญาชาวบ้าน พลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นคืนสู่ป่าต้นน้ำ

 

ขณะเดียวกันเมื่อไม่มีหน้าดินก็ได้ทำให้เกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ตามมา ในตอนนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักวิถีการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ แหล่งอาหารในดิน ทั้งผักและปลาเริ่มหมดไป ชาวบ้านมีหนี้สินมากขึ้น จนกระทั่ง ผู้ใหญ่นัยนา ฑีฆาวงศ์ ประธาน ทสม. แกนนำแห่งบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัดสินใจว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
     

ผู้ใหญ่นัยนา ฑีฆาวงศ์ ประธาน ทสม. ตำบลอวน เริ่มชักชวนให้ชาวบ้านหันมาทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง โดยมีการส่งเสริมให้แม่บ้านทอผ้าพื้นเมืองตามแบบฉบับไทลื้อ และให้พ่อบ้านหันไปเลี้ยงหมูพันธุ์เหมยซาน และหาหนทางอื่นในการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้าน และจากการทดลองทำอยู่ 1 ปีก็พบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด จากที่ไม่เคยมีใครคาดคิดเลยว่าเพียงแค่เลี้ยงหมูและทอผ้าจะทำให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีพ ไม่จำเป็นต้องทำไร่ข้าวโพดเลยด้วยซ้ำไป

 

 

 

"ผญ.นัยนา"หญิงแกร่งแห่ง ม.ห้วยหาด นำภูมิปัญญาชาวบ้าน พลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นคืนสู่ป่าต้นน้ำ

 


เมื่อชาวบ้านพอมองเห็นภาพการยังชีพได้ด้วยเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ผู้ใหญ่นัยนาจึงทำประชาคมหมู่บ้าน พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อหาทางลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด แล้วฟื้นฟูผืนป่าที่เสื่อมโทรม
    

หลังจากที่ลดพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวได้แล้ว ผู้ใหญ่นัยนาได้มีการขอความร่วมมือสมาชิกทสม. จิตอาสาครัวเรือนละ 1 คน ช่วยกันทำแนวกันไฟร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีการประสานเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปช่วยดูแลผืนป่า ป้องกันการลักลอบตัดไม้ และจากนั้นได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าของหมู่บ้าน ปลูกต้นไม่เพิ่มในพื้นที่ป่าชุมชน ตอนนี้ป่าชุมชนที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลกว่า 700ไร่ ได้รับการประกาศเป็นป่าชุมชนบ้านห้วยหาด
       

ด้วยบทบาทของ ประธาน ทสม. ได้ประสานการทำงานกับหมู่บ้านข้างเคียงในอำเภอบ่อเกลือ และอำเภอสันติสุข ในการดูแลรักษาป่าไม้ร่วมกันในลักษณะของเครือข่ายความร่วมมือ ประสานกับผู้นำชุมชนข้างเคียงเพื่อขอความช่วยเหลือและแจ้งข่าวในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างกรณีการเกิดไฟป่า และขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์เสียงตามสายขอความร่วมมือชาวบ้านในการลดเผาป่า  มีการขอความร่วมมือจัดกิจกรรมปลูกป่าและออกตรวจลาดตระเวนดับไฟป่าด้วยกัน โดยปัจจุบันนี้บ้านห้วยหาดมีแนวกันไฟในเขตป่าชุมชน รวมระยะทาง 8 กิโลเมตร และยังมีแนวกันไฟที่ทำเชื่อมไปยังหมู่บ้านข้างเคียงด้วย
     

 

 

"ผญ.นัยนา"หญิงแกร่งแห่ง ม.ห้วยหาด นำภูมิปัญญาชาวบ้าน พลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นคืนสู่ป่าต้นน้ำ

 

 

นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ชาวไทลื้อมีพิธีกรรมบูชาผีอารักษ์ ทั้งผีบ้าน ผีเรือน ผีไร่ ผีนา ผีสวน ผีขุนน้ำขุนห้วย โดยเชื่อกันว่าผีอารักษ์จะช่วยปกป้องดูแลป่าไม้ และแหล่งน้ำ ตลอดจนสวน ไร่ นา ของชาวบ้านให้มีผลิตผลงอกงาม ผู้ใหญ่นัยนาจึงได้ผสานภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมและความเชื่อของชาวไทลื้อในชุมชนมาใช้เป็นกุศโลบายในการดูแลสิ่งแวดล้อม
          

ทุกปีชาวบ้านจะเข้าป่าไปเซ่นไหว้ บูชาเจ้าป่าเจ้าเขา ทำพิธีเลี้ยงผีขุนห้วยขุนน้ำ จัดเตรียมเครื่องบูชาไปถวายและบนบานให้ผีอารักษ์ช่วยดูแลผืนป่าและแหล่งน้ำของหมู่บ้าน เป็นความเชื่อที่ชาวบ้านปฏิบัติสืบทอดกันมา นอกจากนี้ยังมีพิธีบวชป่า พิธีสืบชะตาแม่น้ำ เพื่อให้เด็กๆและเยาวชนของหมู่บ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าด้วย
     

 

 

"ผญ.นัยนา"หญิงแกร่งแห่ง ม.ห้วยหาด นำภูมิปัญญาชาวบ้าน พลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นคืนสู่ป่าต้นน้ำ

 

ด้วยวิถีชีวิตการพึ่งพาธรรมชาติของบ้านห้วยหาด ปกป้องผืนป่าไม่ให้ถูกทำลาย ทำให้สิ่งแวดล้อมรอบๆหมู่บ้านเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ความร่วมแรงร่วมใจกัน และการใช้กระบวนการประชมคมหมู่บ้านได้ช่วยเนรมิตดอยข้าวโพด และเขาหัวโล้น ให้กลับคืนเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม ชาวบ้านมีแหล่งอาหาร มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
     

ผู้ใหญ่นัยนา เปิดเผยว่า ปัจจัยหนุนที่มีความสำคัญไม่น้อย ก็คือการทำงานในลักษณะเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง ทสม. ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ไปจนถึงระดับจังหวัด ซึ่งเครือข่าย ทสม. ในระดับพื้นที่ได้ช่วยหนุนเสริมการทำงานของบ้านห้วยหาดเป็นอย่างมาก เช่นเครือข่าย ทสม. จากหมู่บ้านต่างๆเข้ามาช่วยกันป้องกันไฟป่า และการเรียนรู้แนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การเป็นสมาชิก ทสม. ยังช่วยเปิดมุมมองในการอนุรักษ์และพัฒนาให้มากขึ้นด้วย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ