ข่าว

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการตามพระราชดำริ เร่ง 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำชีตอนบน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลฯ เดินหน้าขับเคลื่อน 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน จ.ชัยภูมิ  แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้กว่า 100,000 ไร่  และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย  มั่นใจปี 2567 แล้วเสร็จทุกโครงการ 

นายสนฑ์ จินดาสงวน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 13 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ 3 โครงการ ได้แก่  โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  โครงการอ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตามกระแสพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ทรงพระราชทานเกี่ยวกับงานชลประทาน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ความตอนหนึ่งว่า 
“..เขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชีในเขตอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งกรมชลประทานวางโครงการจะก่อสร้างนั้น ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมาก จึงควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของลำน้ำชี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีเดิม  ให้สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย..” 
 

                 กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการตามพระราชดำริ เร่ง 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำชีตอนบน

ทั้งนี้ลุ่มน้ำชีตอนบนมีพื้นที่ลุ่มน้ำ ตารางกิโลเมตร มีลำน้ำชีเป็นลำน้ำสายหลักมีความยาวจากต้นน้ำถึงจุดบรรจบลำน้ำพอง 765 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีประมาณ 786 ล้านลูกบาศก์เมตร การพัฒนาแหล่งน้ำในปัจจุบันยังไม่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ มีเพียงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก สระเก็บน้ำขนาดเล็กเท่านั้น  ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมใช้น้ำอื่นๆ ในช่วงฤดูแล้ง ในขณะที่ฤดูฝนก็เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันมาอย่างต่อเนื่อง

                                     กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการตามพระราชดำริ เร่ง 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำชีตอนบน

                       สนฑ์ จินดาสงวน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 13

 สำหรับอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรืออ่างเก็บน้ำยางนาดีเดิม  มีความจุ 70.21 ล้านลบ.ม. หัวงานเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน สันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ความยาว 1,580 เมตร สูง 24 เมตร อาคารระบายน้ำล้นชนิดบานระบายแบบบานโค้งขนาดกว้าง 12.5 เมตร สูง 7.5 เมตร จำนวน 7 ช่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ โดยในปีงบประมาณ 2562 ได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างถนนทางเข้าหัวงาน  อาคารบ้านพักชั่วคราว  อาคารที่ทำการถาวร และงานเตรียมความพร้อมเพื่อการก่อสร้าง จะเริ่มก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบในปีงบประมาณ 2563 วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 939 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลำน้ำชีตั้งแต่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำตามลลำน้ำชี ในเขตชัยภูมิ นครราชสีมา และ จังหวัดขอนแก่น  มีพื้นที่เกษตรสองฝั่งลำน้ำชีได้รับประโยชน์ฤดูฝน 75,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 30,000 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 27 หมู่บ้าน กว่า 22,000 คนในพื้นที่ อ.หนองบัวระเหว อ.บ้านเขว้า และ อ.เมืองชัยภูมิ  อีกทั้งสนับสนุนการใช้น้ำตามลำน้ำชีตอนบนให้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดปี อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนแหล่งน้ำเพื่อการทำประมง ช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงด้านล่างเร็วเกินไป บรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำลำเจียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีความจุ 45.17 ล้านลบ.ม พื้นที่รับประโยชน์ 30,000 ไร่ เขื่อนหัวงานสร้างปิดกั้นลำเจียงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำชี ในท้องที่ อ.ภักดีชุมพล และ อ.หนองบัวแดง.บรรจุเข้าแผนงานก่อสร้างในปี พ.ศ. 2564 คาดว่าจะแล้งเสร็จในปี 2567  นอกจากนี้ยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุ 48 ล้านลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 30,000 ไร่ เขื่อนหัวงานก่อสร้างปิดกั้นลำสะพุง ในท้องที่ อ.หนองบัวแดง เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2562 การก่อสร้างมีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2567
“ปัจจุบันราษฎรเห็นคุณค่าของแหล่งน้ำ ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น การพัฒนาแหล่งน้ำต้นในลุ่มน้ำชีตอนบนครั้งนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มหรือต่อยอดคุณภาพชีวิตของราษฎรได้เป็นอย่างดี กรมชลประทานจึงได้สืบสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาและบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งลำน้ำชีเกิดผลประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 13  กล่าวในตอนท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ