ข่าว

ชป.มุ่งมั่นพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากโครงการอย่างเต็มประสิทธิภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลประทานดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (2561-2580) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 18ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บอีกกว่า 13,000 ล้าน ลบ.ม.สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล  

กรมชลประทานดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (2561-2580) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 18ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บอีกกว่า 13,000 ล้าน ลบ.ม. สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล  ทั้งนี้เป้าหมายคือแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัย รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เร่งรัดงานพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ โดยกำชับให้ทุกโครงการแล้วเสร็จภายในกรอบงบประมาณและระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัยศรีอ่อน และอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ เร่งรัดในการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมควบคู่กับการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่

ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 60 ล้านไร่ ปัจจุบันพัฒนาพื้นที่ชลประทานไปแล้วกว่า 33 ล้านไร่ ยังคงเหลือประมาณ 27 ล้านไร่ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งกรมชลประทานมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 18 ล้านไร่ ในส่วนของปริมาณน้ำท่า มีเฉลี่ยปีละ 280,000 ล้านลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม.) สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 82,000 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 37 กรมชลประทานจึงต้องหาแนวทางเก็บกักน้ำให้ได้เพิ่มขึ้น

เป้าหมายใน 20 ปีข้างหน้าคือเพิ่มปริมาณน้ำให้ได้ 13,000 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของคนทั้งประเทศในอนาคต

นายประพิศ ย้ำว่า “4 ภารกิจสำคัญกรมชลประทาน คือ จัดหา จัดเก็บ จัดสรร และจัดการ” ในทุกขบวนการกรมชลประทานได้ให้ความสำคัญในขบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และยึดมั่นในหลักการทรงงานตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา  จากแนวพระราชดำรัส การรับฟังข้อเสนอของประชาชน เพื่อนำมาหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ได้แนวทางเหมาะสมที่สุดกับประชาชน หลายโครงการจึงเดินหน้าได้สำหรับโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ที่ให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการ หลายโครงการสามารถเริ่มเก็บกักน้ำได้ และ พร้อมส่งน้ำให้ราษฎรในพื้นที่ต่างๆได้แล้ว และมีหลายโครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ อาทิ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์ , โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ , โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (คลองระพีพัฒน์)พื้นที่ภาคตะวันออก มีการประเมินเบื้องต้นโดยหน่วยงานต่างๆ ในความต้องการใช้น้ำ

พบว่า ด้านอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 350 ล้าน ลบ.ม./ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 820 และ 1,050 ล้านลบ.ม./ปี ในระยะ 10 และ 20 ปี ข้างหน้าตามลำดับ กรมชลฯ ได้ดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและโครงข่ายน้ำในภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางด้านผลไม้ของไทย  อาทิก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด และอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว รวมถึงสำรวจลำน้ำสาขา เพื่อพิจารณาดำเนินการปรับปรุงขยายคลอง สร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.) ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาดที่ประสบปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มกระทบต่อการผลิตระบบประปา กรมชลฯได้มีเตรียมแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติให้กรมชลฯดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 8 ก.ค.63 และรมว.เกษตรฯ ได้ให้กรมชลฯเร่งรัดเสนอโครงการอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง และอ่างเก็บน้ำคลองกระพง เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำในภูมิภาค และใช้ประโยชน์จากน้ำให้ได้มากที่สุด

ในพื้นที่ภาคใต้ได้เร่งดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี ,ชุมพร , นครศรีธรรมราช , ตรัง และ สงขลา โดยการดำเนินงานมีความคืบหน้าไปมาก บางโครงการคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 70-80 ของแผนงาน ปัจจุบันสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้แล้ว และทุกโครงการได้ก่อสร้างปตร.น้ำบริเวณปลายคลองเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีโครงการอ่างเก็บน้ำยะรม อ.เบตง จ.ยะลา สามารถเก็บกักน้ำได้ 12 ล้าน ลบ.ม. พร้อมจะรองรับการขยายตัวของเมืองเบตง และพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจในอนาคต (ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)

อีกปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนน้ำจืด ทำให้น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรรอบทะเลสาบสงขลา กรมชลประทาน ได้มีโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา เบื้องต้นได้เร่งรัดจัดหาแหล่งน้ำจืดให้กับประชาชน ด้วยการจัดหาพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ ตระพังรอบพื้นที่ โดยการขุดขยายคลองเดิมและสร้างปตร.เพื่อเก็บกักน้ำและสามารถสำรองน้ำไว้ใช้ในพื้นที่

ทั้งนี้จะเห็นว่า กรมชลประทาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนเพื่อให้การดำเนินงานโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎรในพื้นที่ โดยการสร้างขบวนการรับรู้ การมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนรวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำซึ่งเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จของกรมชลประทานที่ช่วยกันหนุนและนำการบริหารน้ำของกรมชลประทานผ่านพ้นวิกฤติแล้งและท่วมมาด้วยกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ