ข่าว

บทเรียนจากวิกฤติ"อีสานแล้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทเรียนจากวิกฤติ"อีสานแล้ง"  อีกแรงขับเคลื่อน"โขง เลย ชี มูล"

              จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่าปีนี้อาจแล้งยาว  ทำให้ฤดูฝนล่าช้ายาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ส่งผลให้วิกฤตภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ดังนั้นการวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุน จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ และปฏิบัติให้ได้ตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ครอบคลุมเกิดทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน

บทเรียนจากวิกฤติ"อีสานแล้ง" ผังโครงการโขง เลย ชี มูล
 

            โดยเฉพาะภาคอีสานที่ปีนี้ต้องเผชิญกับทั้งภาวะน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา และภาวะภัยแล้งยาวในขณะนี้ ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งมีปริมาณน้ำน้อยมาก โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำโขงชีมูลอยู่ในขั้นวิกฤติ ทั้ปริมาณน้ำที่ใช้งาน ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ติดลบไป -195 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ของปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ ต้องงดการปลูกพืชฤดูแล้งทุกชนิด จัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น 
           สำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนของภาคอีสาน ค่อนข้างจะยากกว่าภูมิภาคอื่น    เนื่องด้วยลักษณะภูมิ ประเทศเป็นที่ราบสูง ทำให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำมีน้อย พื้นที่ที่เหมาะสมจะอยู่บริเวณต้นน้ำด้านทิศตะวันตก แต่กลับเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกน้อย และยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงค่อนข้างนานอีกด้วย ในขณะที่ด้านทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำโขงเป็นที่ราบลุ่มมีฝนตกชุก แต่กลับมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อยมาก และมักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำอย่างเช่นในฤดูฝนที่ผ่านมา เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่จ.อุบลราชธานี
               แต่ใช่ว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอีสานจะไม่สามารถทำได้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งหลายโครงการ ทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขง ล่าสุดได้มีการสำรวจพื้นที่ที่พัฒนาโครงการขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นฝาย แก้มลิง ประตูระบายน้ำ กระจายตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ในลักษณะคล้าย ๆ ถาดขนมครก 
อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการขนาดเล็กจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในพื้นที่แคบ ๆ เท่านั้น และถ้าปีไหนฝนตกน้อย หรือฝนทิ้งช่วงนาน ๆ ปริมาณที่กักเก็บไว้จะไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่มารองรับด้วย
             ภัยแล้งปีนี้ มีเสียงจากคนอีสานพูดว่า....ถ้าโครงการโขง-เลย-ชี-มูล เป็นจริง ปัญหาภัยขาดแคลนน้ำในภาคอีสานจะไม่วิกฤตอย่างแน่นอน เพราะถ้าหากสามารถที่จะนำน้ำโขงเข้ามาใช้ประโยชน์จะแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอีสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทเรียนจากวิกฤติ"อีสานแล้ง"

                             เฉลิมเกียรติ คงวิชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน
                 “กรมชลประทานพร้อมที่จะบูรณาการร่วมกับสทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนิน โครงการโขง-เลย-ชี-มูล ให้เป็นจริง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันภาคอีสานมีพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 13.61 ของพื้นที่การเกษตร ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทานต่ำกว่าผลผลิตของพื้นที่ชลประทานถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังประสบปัญหาดินเค็มถึง 10.48 ล้านไร่อีกด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเร่งขยายพื้นที่ชลประทาน เพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ ซึ่งหากมีความเพียงพอแล้ว รายได้ของคนอีสานก็จะเพิ่มขึ้นสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”
               เฉลิมเกียรติ คงวิชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวยืนยันถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูลว่าขณะนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำลังดำเนินการการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระยะที่ 1 
                 อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้กรมชลปะทานได้ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการในระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาและบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแรงโน้มถ่วง
                 สำหรับ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ที่จ.เลย เนื่องจากมีค่าลงทุนสูงมาก จึงต้องแบ่งออกเป็น 5 ระยะ โครงการระยะที่ 1 ที่กรมชลประทานได้ศึกษา มีเป้าหมายเพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่บางส่วนของโขงอีสานและชี และเติมน้ำลงเขื่อนอุบลรัตน์ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.69 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัด 27 อำเภอ ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ มูลค่าลงทุนประมาณ 157,045 ล้านบาท ระยะเตรียมการ 3 ปี ก่อสร้าง 6 ปี รวม 9 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
               “เขื่อนอุบลรัตน์ ปีนี้น้ำแห้งขอดมีปริมาณน้ำเหลือเพียงแค่ 450 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำที่ติดก้นอ่างฯเท่านั้นเอง ทั้งๆที่เขื่อนแห่งนี้มีความจุในระดับกักเก็บถึง 2,431 ล้าน ลบ.ม. และมีความจุสูงสุด 4,640 ล้าน ลบ.ม. จึงยังมีพื้นว่างที่จะเติมน้ำได้อีกจำนวนมาก หากสามารถน้ำจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลากมาเติมไว้ ปัญหาขาดแคลนน้ำก็จะไม่เกิดขึ้น และยังจะมีน้ำไปเติมเต็มให้กับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่รัฐบาลได้เร่งสำรวจเพื่อดำเนินการก่อสร้างอีกด้วย ซึ่งจะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ได้ตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน”
                 กระนั้นก็ตามสำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล หากจะพัฒนาให้เต็มศักยภาพก็จะมีการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำ สายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,273 กม. สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในลุ่มน้ำโดยการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาได้ถึง 29,881 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จะทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมถึง 20 จังหวัด 281 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานฤดูฝนได้ 33.57 ล้านไร่
                   โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 21.73 ล้านไร่ และพื้นที่ส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำอีก 11.84 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ชลประทานฤดูแล้งสามารถส่งน้ำให้ได้ 11.15 ล้านไร่ มีผู้ได้รับประโยชน์ในภาคการเกษตร 1.44 ล้านครัวเรือนหรือ 5.71 ล้านคน สร้างรายได้ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 85,672 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ลดความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง สามารถส่งน้ำให้พื้นที่วิกฤตแห้งแล้งและส่งน้ำยากได้อย่างทั่วถึง
                “ผลประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาตามโครงการนี้จะทำให้ภาคอีสานมีคลองชลประทานขนาดใหญ่เพิ่มอีกหกสายที่วางตัวอยู่บนขอบเนินที่สูง มีน้ำไหลตลอดปี และเป็นการฟื้นชีวิตลำน้ำธรรมชาติเกือบทุกสายในภาคอีสาน โดยเฉพาะลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และพื้นที่ลุ่มน้ำเลยจุดเริ่มต้นของโครงการ”รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวทิ้งท้าย

สร้าง"ฝายชะลอลำน้ำชุมชน”แก้แล้งอีสานยั่งยืน 
 
         ภาคภูมิ ปุผมาศ ผู้ทรงคุณวุฒิจ.อุดรธานีและกรรมการลุ่มน้ำโขงอีสานกล่าวเห็นด้วยในการก่อสร้างโครงการโขงเลยชีมูล เนื่องจากเป็นการดึงน้ำมาจากแม่น้ำโขงเพื่อมาเติมเต็มในเขื่อนต่าง ๆ ภาคอีสานเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำรองไว้ในฤดูแล้ง เหตุเพราะว่าประเทศไทยไม่มีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง การดึงน้ำมาใช้จึงเป็นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เส้นทางน้ำไหลผ่านจะต้องได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวด้วย
         "ที่จริงโครงการนี้มีมานานแล้วและเป็นโครงการที่คนอีสานอยากได้มาก ๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นรัฐต้องให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการก่อสร้าง ถามว่ามีการต่อต้านไม๊คงไม่มี เรพาะทุกคนอยากได้ อยากให้เกิดโดยเร็ว แต่สิ่งที่เขาเป้นห่วงเมื่อเกิดแล้ว ประชาชนที่อยู่ในเส้นทางผ่านจะต้องได้รับผลประโยชน์จากน้ำดังกล่าวด้วย ไม่ใช่ใกล้เกลือกินด่าง ชาวบ้านบริเวณนั้นไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการแต่อย่างใด"
          เขากล่าวต่อว่าโขงเลยชีมูลนั้นถือเป็นโครงการระยะยาวที่มาช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน แต่ในระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการสร้างฝายขนาดเล็กกั้นลำน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน โดยมีระยะห่าง1-2 กิดลเมตรต่อหนึ่งฝายเก็บกักน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและสร้างความชุ่มชื่นให้แก่ผืนดิน ซึ่งชาวบ้านก็ใช้วิธีการนี้มานานแล้ว โดยการจัดการกันเองของคนในชุมชนหรือหมู่บ้านไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือดูแลแต่อย่างใด
        ส่วนการขุดบ่อขนมครกตามชุมชน หมู่บ้านหรือริมลำน้ำก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการเก็บกักน้ำ แต่ก็มีปัญหาในการบางพื้นที่ก็เป็นดินเค็มหรือบางพืน้ที่ก็เก็บกักน้ำไม่อยู่ทำให้เกิดปัญหาต้องเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนตัวยังเชื่อว่าการใช้วิธีจากภูมิปัญญาที่มีมาเป็นร้อย ๆ ปีของชาวบ้านด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำตามลำน้ำธรรมชาติต่าง ๆ จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดและใช้งบประมาณไม่มากด้วย ที่สำคัญต้องให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วม บริหารจัดการกันเองภายในชุมชน จึงจะเป็นการแก้ปัญหาน้ำแล้งในภาคอีสานที่ยั่งยืน
        "โครงการใหญ่ ๆ โครงการตามนโยบายในระยะยาวของรัฐบาลก็ให้รีบลงมา แต่โครงการเฉพาะหน้า สร้างฝายกั้นลำน้ำเป็นระยะ ๆ ประมาณ 1-2 กิโลเมตรต่อหนึ่งฝายน่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาน้ำที่ดีที่สุดในภาคอีสาน เพราะวิธีนี้ชาวบ้านเขาทำกันมานานเป็นร้อยๆ ปีแล้วก็ได้ผลนะ"กรรมการลุ่มน้ำโขงอีสานกล่าวย้ำ 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ