ข่าว

ดูวิธีแปรรูป"กุหลาบพันปี"ส่งขายญี่ปุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ท่องโลกเกษตรพบพระ"รับวาเลนไทน์(2) ดูวิธีแปรรูป"กุหลาบพันปี"ส่งขายญี่ปุ่น

ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

คราวที่แล้วได้รับฟังข้อมูลภาพรวมพื้นที่ภาคการเกษตรใน อ.พบพระจาก “อรพินทร์ แสงมณี” เกษตรอำเภอพบพระ ซึ่งมีทั้งไม้ดอกอย่างกุหลาบ ทุเรียน อโวคาโด และแมคคาเดเมียนัท  ก่อนมอบภารกิจลงพื้นที่จริงแก่ "สุระวิทย์ ปัญญา" นักวิชาการส่งเสริมเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอพบพระ พาพวกเราลุยสวนเกษตร โดยที่แรกเป็นไร่ปฐมเพชรของ “ภราดร กานดา” ตั้งอยู่เลขที่ 15/1 หมู่ 6 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก บนเนื้อที่กว่า 200 ไร่ จากเดิมที่เป็นแปลงกุหลาบทั้งหมด จนปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสานที่มีทั้งไม้ดอก ไม้ผล พืชผักสมุนไพรปลูกในพื้นที่เดียวกันขณะนี้

ดูวิธีแปรรูป"กุหลาบพันปี"ส่งขายญี่ปุ่น

 

“ผมเป็นคนนครปฐม ส่วนภรรยาเป็นคนเพชรบุรี ก็เอาชื่อมารวมกันเป็นไร่ปฐมเพชร” ภราดรเผยที่มาชื่อไร่ ก่อนแจงรายละเอียดความเป็นมาของไร่ปฐมเพชรจากอดีตจนปัจจุบัน โดยเขาบอกว่าแต่เดิมปลูกกุหลาบอยู่ที่ อ.สามพราน จนครปฐม แต่ด้วยพื้นที่ค่อนข้างจำกัด จึงได้ย้ายมาที่ อ.พบพระ เมื่อปี 2538 เริ่มต้นเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ โดยนำกิ่งดอกกุหลาบพันธุ์ขาวมะลิ และสีแสด กว่า 5,000 ต้น มาจาก อ.สามพราน มาปลูก เมื่อเห็นว่าปลูกกุหลาบได้ผลผลิตดี จากนั้นปี 2540 เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกและกุหลาบใน อ.สามพราน ก็ได้ย้ายตามมากันเกือบทั้งหมด

“ตอนนั้นพบพระปลูกกุหลาบกันเยอะมาก มีพื้นที่ปลูกประมาณ 5 พันกว่าไร่ พอปลูกเยอะ ผลผลิตออกมาเยอะ ราคาก็ตกต่ำ ตอนนั้นตลาดหลักอยู่ที่ปากคลองตลาด ช่วงหลังกุหลาบนอกเข้ามาตีตลาด ของเขาสีสดกว่า ดอกใหญ่กว่า ราคาก็ถูกกว่า คนก็นิยมกุหลาบนอกมากกว่าก็เลยคิดหาทางออกมาแปรรูปเป็นกุหลาบอบแห้งแทน เพราะนอกจากเพิ่มมูลค่าให้กับดอกกุหลาบแล้วยังเก็บไว้ได้นานอีกด้วยจะต่างจากกุหลาบสดอยู่ได้ไม่เกิน 5-7 วันก็เหี่ยว ตอนนี้ตลาดหลักเราทำส่งญี่ปุ่น” ภราดรเผย 

ดูวิธีแปรรูป"กุหลาบพันปี"ส่งขายญี่ปุ่น

เขายอมรับว่ากุหลาบที่ปลูกใน อ.พบพระ สามารถตัดดอกเพื่อส่งขายได้ภายใน 45 วัน ต่างจากการปลูกที่ อ.สามพราน ที่ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน โดยเฉพาะในช่วงเดือนแห่งความรัก กุมภาพันธ์ ในแต่ละวันดอกกุหลาบจาก อ.พบพระ ที่เก็บเกี่ยวมากกว่า 1 ล้านดอก ถูกส่งไปยังตลาดต่างๆ โดยมีปากคลองตลาดเป็นแหล่งรับซื้อใหญ่ที่สุดประมาณ 80-90% ของผลผลิตต่อวัน 

แม้ว่าการปลูกดอกกุหลาบจะสร้างรายได้มหาศาล แต่ปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบต้องประสบคือต้นทุนการดูแลสูง การใช้สารเคมีที่ค่อนข้างเยอะ อายุดอกค่อนข้างสั้นแค่ 5-7 วัน ยิ่งเมื่อเจอกับปัญหาราคาดอกกุหลาบตกต่ำ เขาจึงหันมาพัฒนาการแปรรูปเป็นกุหลาบอบแห้งบรรจุขวดแก้ว โดยร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นในการสร้างนวัตกรรมแปลกใหม่ในวงการเกษตร

“ข้อดีของดอกกุหลาบสด ตัดดอกขายเลยแล้วก็ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ อย่างวันวาเลนไทน์หน้าสวนส่งดอกละ 6-8 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและสี แต่ปีหนึ่งมีแค่วันเดียว ถ้าวันปกติดอกไม่ถึงบาท ดังนั้นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจึงเป็นทางออกดีที่สุด เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่าตัว บ้างก็ว่ากุหลาบพันปี บ้างก็เรียกกุหลาบมหัศจรรย์ เพราะมันเก็บไว้ได้นาน"

สำหรับขั้นตอนการแปรรูป ภราดร อธิบายว่า เริ่มจากการนำดอกกุหลาบที่ตัดก้านแล้วมาแช่น้ำเพื่อให้ดอกกุหลาบบานได้ที่และคงความสด จากนั้นทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการเขี่ยดอก หรือเรียกว่าตกแต่ง ด้วยการใช้ซิลิก้าทราย ซึ่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โรยลงไปในดอกกุหลาบแล้วเคาะออก เพื่อให้ทรายดูดน้ำและความชื้นจากกลีบกุหลาบให้แห้งสนิท 

จากนั้นนำดอกกุหลาบบรรจุในภาชนะที่รองด้วยซิลิก้าทราย โดยตั้งดอกกุหลาบขึ้น แล้วใช้ซิลิก้าทรายกลบดอกกุหลาบจนมิด ปิดฝาภาชนะให้สนิท นำเข้าตู้อบที่อุณหภูมิประมาณ 45 องศาเซลเซียส นาน 1-2 สัปดาห์ จึงนำดอกกุหลาบมาเคาะทรายออก แล้วตกแต่งบรรจุลงในขวดรูปทรงต่างๆ ส่วนราคาจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับจำนวนดอกกุหลาบและขนาดโหลแก้วที่บรรจุ โดยเริ่มตั้งแต่ราคา 100-2,500 บาท หรือตามจำนวนดอกกุหลาบที่สั่งทำ นอกจากยังผลิตเฉพาะดอกกุหลาบอบแห้งที่ไม่ได้รับการตกแต่งใส่ขวดโหลส่งให้แก่บริษัทผู้รับซื้อราว 20,000 ดอกต่อเดือนอีกด้วย 

 

และระหว่าง 7-9 กุมภาพันธ์นี้ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) จัดทริปพิเศษชมกุหลาบมหัศจรรย์ ไร่ปฐมเพชร และอีกหลายแห่งในโครงการ “ท่องโลกเกษตรพบพระรับวันวาเลนไทน์” สนใจสอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่สมาคม โทร.0-2940-5425-6, 06-4652-6499 ในวันและเวลาราชการ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ