ข่าว

ธ.ก.ส.ยกชุมชนบ้านไร่ต้นแบบโครงการ459

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธ.ก.ส.นำร่องชุมชนต้นแบบ459 ยก"บ้านไร่"ศูนย์เรียนรู้วิถีพอเพียงครบวงจร                   

             “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กินอยู่อย่างพอเพียง” ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำมาประยุกต์ใช้กับชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้โครงการเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459  ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หวังฟื้นชีวิตลูกค้าสมาชิก ธ.ก.ส. ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

                 ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านไร่ ต.บ้านไร่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ถือเป็นหนึ่งในชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้โครงการดังกล่าวส่งผลให้คนในชุมชน นอกจากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วยังมีสุขภาพร่างกายดีขึ้นด้วย หลังมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีเศษเท่านั้น

ธ.ก.ส.ยกชุมชนบ้านไร่ต้นแบบโครงการ459

ประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธ.ก.ส.

       

        มเนศ จันดา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านไร่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ในฐานะประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านไร่ ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการนำพาชาวบ้านหันมาทำเป็นเกษตรอินทรีย์ผ่านโครงการ 459 ของ ธ.ก.ส. โดยเริ่มจากปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ด้วยการลดเลิกใช้สารเคมีการเกษตรทุกชนิดกับพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือน ผ่านศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 ชุมชนบ้านไร่ ภายใต้การสนับสนุนของ ธ.ก.ส. 

          ศูนย์แห่งนี้เริ่มตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 หลังชาวบ้านในชุมชนจัดให้มีการตรวจสารพิษตกค้างในร่างกาย ปรากฏว่าช าวบ้านหมู่ 1 กว่าร้อยละ 90 พบว่ามีสารพิษตกค้างในร่างกายอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐานและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ 

          จากนั้นชุมชนจึงได้รณรงค์ให้ลดเลิกการใช้สารเคมีและให้มีการปลูกผักอินทรีย์ไว้บริโภคเองภายในครัวเรือน พร้อมจัดให้มีตลาดธนาคารผักปลอดภัยเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนพืชผักอินทรีย์หรือผักสวนครัวรั้วกินได้อื่นๆ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากวัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนเป็นจุดตลาดซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและผลผลิตในทุกวันพุธและศุกร์

           ต่อมาในปี 2560 ธ.ก.ส.ได้จัดอบรมโครงการทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนเมืองกลางวิทยาคม ตามโครงการเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 พร้อมลงมือปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่ไว้บริโภคในโรงเรียน โดยโครงการอบรมดังกล่าว ธ.ก.ส.ได้เชิญชุมชนบ้านไร่เข้ารับการอบรมด้วย หลังการอบรมทางชุมชนบ้านไร่เห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์และเป็นแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่ชุมชนกำลังสนับสนุนให้ชาวบ้านลดเลิกการใช้สารเคมี และมีโอกาสให้ชาวบ้านได้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย

             มเนศเผยต่อว่าในปี 2561 ชุมชนบ้านไร่ได้เชิญทีมวิทยากรจาก ธ.ก.ส. มาอบรมให้ความรู้และขยายผลแก่ชาวบ้านในชุมชนตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ 459 หลังการอบรมชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะต้องลงมือปฏิบัติในแต่ละครัวเรือน โดยยึดหลักร่วมกันเรียนรู้แล้วแยกกันลงมือทำ ซึ่งแนวทางเกษตรอินทรีย์ 459 นั้นจะต้องมีการทำแปลงผักหมักดิน ให้ปุ๋ยอินทรีย์ก่อนปลูกพืชผัก ให้มีการทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพไว้บำรุงพืชและไล่แมลง เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ เป็นโปรตีนไว้บริโภคและอาจมีการเพาะเห็ดต่างๆ ด้วย 

             “ความหมายของคำว่า 459 ในที่นี้หมายถึงเดินออกจากบ้าน 4 5 9 ก็มีพืชผักอินทรีย์ปลอดภัยไว้บริโภค ลดค่าใช้จ่าย พืชผัก ไข่ ปลา เหลือจากการบริโภค ก็อาจนำไปขายได้เงินมาใช้จ่ายหรือเก็บออมได้อีกด้วย ส่วนอีกความหมายคือปลูกพืชผักสมุนไพรที่มีอายุ 45 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวได้  ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง” ประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านไร่เผยกับ “คม ชัด ลึก”

              ปัจจุบันชุมชนบ้านไร่มีทั้งหมด 208 ครัวเรือน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 จำนวน 50 ครัวเรือน ส่วนอีก 100 ครัวเรือนได้ปรับเปลี่ยนทำการผลิตแบบเกษตรปลอดภัย หรือ จีเอพี หรือการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย และอีก 58 ครัวเรือนอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน นอกจากนั้นชุมชนบ้านไร่ยังจัดชุมชนให้เป็นท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พร้อมจัดบ้านสมาชิกที่มีความพร้อม 41 ครัวเรือนให้เป็นโฮมสเตย์ เป็นที่พักไว้สำหรับต้อนรับผู้มาศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยวทั่วไปอีกด้วย

               ด้าน ประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธ.ก.ส. กล่าวถึงความเป็นมาโครงการ 459 โดยเผยว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย ระหว่างที่รอการทำเกษตรในฤดูกาลต่อไปต้องใช้เวลานานหลายเดือน เกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในครอบครัว ธ.ก.ส.จึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรและจัดทำโครงการสร้างความเข้มแข็งระดับครัวเรือน หรือโครงการเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 ซึ่งตัวเลข 459 มีความหมายว่าเดินออกจากบ้าน 4-5 ก้าวก็มีอาหารปลอดภัยให้บริโภค เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ผลผลิตเหลือจากการบริโภคสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว

       

                 “ตอนนี้โครงการ 459 ได้เริ่มนำร่องไปแล้วใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง รวม 27 ชุมชน บางชุมชนที่เข้มแข็งก็ได้นำผลผลิตไปจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดกันบ้างแล้ว และทาง ธ.ก.ส.ก็ยังสนับสนุนการดำเนินงานและขยายผลโครงการ 459 อย่างต่อเนื่อง”

                อย่างไรก็ตาม ชุมชนบ้านไร่ ถือเป็นต้นแบบการสร้างความเข้มแข็งระดับครัวเรือน เป็นสถานที่ฝึกอบรม ศึกษาดูงานของเกษตรกรลูกค้าธ.ก.ส.และประชาชนทั่วไป  โดยแบ่งฐานเรียนรู้ออกเป็น 5 ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้น้ำหมักชีวภาพ  ฐานเรียนรู้ปุ๋ยหมักชีวภาพ  ฐานเรียนรู้เกษตรอินทรีย์  ฐานเรียนรู้แปรรูปและผลิตของใช้ในครัวเรือน และฐานเรียนรู้การรวบรวมและเชื่อมโยงตลาด  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ