ข่าว

 เจาะลึกกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เจาะลึกกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ปรับทัพหน่วยงานร่วม"สู้ภัยแล้ง" 

         ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศให้ “ภัยแล้ง” เป็นวาระแห่งชาติในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา  หลังสถานการณ์เริ่มลุกลามในหลายพื้นที่   การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบแผนปฏิบัติงานการแก้ไขภัยแล้งจาก “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” (สทนช.) 2562/2563 พร้อมอนุมัติงบกลางจำนวน 3,079,472,482 บาท ดำเนินการภายใน 120 วัน โดยได้สรุปแผนช่วยเหลือ 2 ด้าน ประกอบด้วย ด้านอุปโภคและบริโภคและด้านการเกษตร พร้อมให้จัดตั้ง “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อให้มีการจัดการบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที  

 

        สำหรับกรอบโครงสร้าง “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 เพื่ออำนวยการ บูรณาการ และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนในการควบคุมวิกฤติน้ำในภาวะรุนแรงหรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง (ระดับ 2) โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้อยู่ในวงจำกัด ให้หน่วยงานด้านปฏิบัติในพื้นที่สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด 

       โดยได้แบ่งการทำงานออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มคาดการณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ กลุ่มแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ รวมถึงการเข้าให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบมีความเป็นเอกภาพ ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างทันต่อสถานการณ์  โดยสรุปรายงานต่อรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะๆ

       ขณะเดียวกันกองอำนวยการน้ำแห่งชาติยังทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้หากมีเกณฑ์เสี่ยงที่คาดว่าจะเข้าขั้นวิกฤติก็จะต้องพิจารณาเสนอการกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง หรือระดับความรุนแรง สถานการณ์ภาวะวิกฤติน้ำ (ระดับ 3) ให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศตามมาตรา 58 หรือคำสั่งจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามมาตร 24 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 หากเกิดกรณีวิกฤติตามลำดับต่อไป

       ที่สำคัญหากกรณีมีพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวนาปรังมากกว่าแผน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย ต้องหามาตรการลดผลกระทบ ชดเชยหรือเยียวยา โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง

        อย่างไรก็ตาม “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จะมีการติดตาม ประเมินผล ผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ และใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจะได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรมไปตลอดแล้งนี้ และในช่วงฤดูฝนถัดไปด้วย

     

  บูรณาการหน่วยงานน้ำแบบไร้รอยต่อ     

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยกับ “คมชัดลึก” ถึงการจัดตั้ง “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา ว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับปกติ ระดับรุนแรง หรือคาดว่ารุ่นและระดับวิกฤติ โดยระดับปกติจะมีเลขาธิการ สทนช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ 

           ส่วนระดับรุนแรงหรือคาดว่ารุนแรงมีรองนายรัฐมนตรีในฐานะรองประธาน กนช. มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งและระดับวิกฤติจะมีนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กนช. โดยตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนการทำงานจะมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างให้ดำเนินการไปแนวทางเดียวกัน โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งทำงานอยู่ที่สทนช.

           “กองอำนวยการน้ำแห่งชาตินั้น ตามกฎกระทรวงเราสามารถเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมแก้ปัญหาได้ การทำงานจะเข้มข้น มีเจ้าหน้าที่ประจำการเชื่อมโยงกับผู้บริหารจากส่วนต่างๆ เพื่อทำให้การทำงานมีการเชื่อมต่อลงมาที่รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน  ส่วนรองประธานจะประกอบปลัดกระทรวง 5 หน่วยงานหลักก็คือ สทนช. กลาโหม มหาดไทย เกษตรและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีรองเลขาธิการ สทนช. และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาธารณภัยเป็นเลขานุการร่วมเพื่อให้การทำงานครั้งนี้มีการเชื่อมต่อและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ