
การเลี้ยงปลาในหน้าหนาว
คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก [email protected]
สวัสดีครับ วันนี้เรามาคุยกันต่อเรื่องการเลี้ยงปลาในหน้าหนาวนะครับ
หลายท่านสงสัยว่าหน้าหนาวส่งผลอย่างไรต่อปลา และปลาน่าจะมีการปรับตัวที่ดีต่ออุณหภูมิของน้ำ ไม่อย่างนั้นหนาวทีปลาในธรรมชาติไม่ตายหมดหรือ ความจริงคืออากาศหนาวมีผลกระทบต่อการป่วยเป็นโรค และการตายของปลาอย่างชัดเจนครับ และอย่างที่เราได้คุยกันคือบางโรคก็ยังไม่มียารักษา จึงจำเป็นที่เราควรเตรียมการป้องกันหากทำได้
ในหน้าหนาวปลาจะมีความแข็งแรงและความต้านทานโรคลดลง ปลาจะเครียด ไม่กินอาหาร จึงเป็นช่วงที่ต้องระวังไม่ให้ปลาที่เลี้ยงเป็นโรคระบาดปลา ไม่ว่าจะเป็นโรคจุดขาวในปลาดุก ปลาสวาย โรคหนอนสมอในปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ โรคเห็บปลา ในปลาที่มีเกล็ด ปลาที่มีหนัง เป็นต้น หน้าหนาวทีไรเกษตรกรที่เลี้ยงปลาจะหวั่นใจมาก ยิ่งถ้าปีไหนที่อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้ปลาป่วยตาย เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกร
แต่โชคดีที่กรมประมงดูแลและให้คำปรึกษา รวมถึงให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ทำให้ความเสียหายไม่มากตามสภาพอากาศ
วันนี้หมอจะนำคำแนะนำในการดูแลและป้องกันโรคปลาในช่วงหน้าหนาวของกรมประมงมาแบ่งปัน เพื่อให้คนรักปลาและเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานำไปใช้ โดยเฉพาะคนเลี้ยงปลามือใหม่น่าจะได้ประโยชน์มากครับ
1.ลดปริมาณอาหารปลาให้น้อยลง เพราะในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิในตัวปลาจะลดต่ำลง การเผาผลาญอาหารก็จะต่ำลงไปด้วย
2.พยายามงดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อ และไม่นำน้ำจากธรรมชาติเข้ามาในบ่อ เช่น น้ำในคลอง เพราะอาจมีเชื้อโรคปะปนเข้ามา ถ้าต้องการเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ควรมั่นใจว่าน้ำที่จะเปลี่ยนนั้นสะอาดจริงๆ ถ้าเป็นปลาเลี้ยงในบ่อควรมีการเช็กคุณภาพน้ำให้มั่นใจว่าปลอดภัยเหมาะสมกับปลาที่เราเลี้ยง
3.สำหรับปลาที่เลี้ยงในบ่อดินควรรักษาสภาพน้ำให้อยู่ในสภาพดี โดยสาดปูนขาวลงในบ่อ
4.ในกรณีที่มีแก๊สผุดขึ้นมาจากพื้นก้นบ่อ ให้สาดเกลือบริเวณที่มีแก๊ส
5.สำหรับปลาที่เลี้ยงในกระชังบริเวณน้ำตื้น ควรย้ายไปอยู่บริเวณน้ำลึกซึ่งจะเป็นการปรับอุณหภูมิของน้ำเพราะอุณหภูมิน้ำลึกจะสูงกว่า
6.ช้อนปลาที่ตายหรือป่วยใกล้ตายออกเท่าที่จะทำได้ และทำลายโดยการฝังดินหรือเผาทิ้ง
7.ใช้ยาปฏิชีวนะผสมอาหาร
8.ใช้ด่างทับทิม เพื่อไล่เชื้อปรสิต
เป็นความรู้ในการเลี้ยงปลาหน้าหนาวนะครับ หมอขอย้ำว่าหากต้องมีการใช้ยาหรือสารต่างๆ ควรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ สิ่งที่สำคัญคือการสังเกตและความละเอียดของเราเองครับที่ทำให้มีประสิทธิภาพ