ข่าว

มนัญญา เตรียมงัดกฎเหล็กคุมสารพิษ อุดช่องจ่ายใต้โต๊ะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มนัญญา เตรียมงัดกฎเหล็กคุมสารพิษ ยกขึ้นบนดินอุดช่องจ่ายใต้โต๊ะ จัดระเบียบทุกเม็ด ตั้งแต่โรงงานผลิตสารเคมีเกษตร  ถึงร้านค้า  พร้อมกำชับทุกร้านค้าต้องแยกส่วนขายให

 

21 ธันวาคม 2562 มนัญญา เตรียมงัดกฎเหล็กคุมสารพิษ ยกขึ้นบนดินอุดช่องจ่ายใต้โต๊ะ จัดระเบียบทุกเม็ด ตั้งแต่โรงงานผลิตสารเคมีเกษตร  ถึงร้านค้า พร้อมกำชับทุกร้านค้าต้องแยกส่วนขายให้ชัด  ลั่นต่อไป1 ทะเบียน ต่อ 1 ชื่อการค้าจะได้รู้ว่าใครผลิตอะไร   หลังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ไม่แบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ 

 

 

น.ส.มนัญญา  ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรฯ 3 ฉบับ  เพี่อรองรับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ  27 พ.ย. 2562  ที่จะออกมา เพื่อดูแลเกษตรกรและประชาชน จากผลกระทบของสารเคมีดังกล่าว รวมถึงเกษตรกรที่จะต้องได้ซื้อสินค้าที่มีการผลิตมีมาตรฐานและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้  จากนี้ไปจะปฏิรูปกรมวิชาการเกษตรในเรื่องการอนุญาตนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ใต้โต๊ะ ใต้ดินกันอีกต่อไป

 

ทั้งนี้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย เรื่องกำหนดให้โรงงานที่จะผลิตสารเคมีหรือวัสดุปัจจัยทางการเกษตร ต้องมีมาตรฐานไอเอสโอ9001 ในเรื่องของขั้นตอนการผลิต และเรื่องบริษัทหรือโรงงานที่จะผลิตสารเคมี ต้องมีไอเอสโอ14001 ซึ่งเป็นมาตรฐานเรื่องการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย และโรงงานต้องมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

 

สำหรับตรวจสอบสารเคมีมาตรฐานไอเอสโอ 17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตต้องมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจสอบสารเคมีที่บริษัทผลิตจำหน่าย ถึงสารตกค้าง โดยทั้ง3ฉบับ เป็นไปตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ขณะนี้ร่างดังกล่าว ยกร่างเสร็จแล้ว เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน โดยจะนัดประชุมในเดือนนี้เพื่อทราบ และประกาศลงราชกิจจาฯ  


“ซึ่งความต้องการของดิฉันคือแบนทั้ง 3 สาร แต่เมื่อคณะกรรมการมีมติออกมา ก็ต้องเคารพ แต่เพื่อคุ้มครองประชาชน ดิฉันก็เห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดระเบียบโรงงานผลิตสารเคมีเหล่านี้ให้มีมาตรฐาน ประกาศทั้ง3ฉบับจะมีผลทำให้ทุกบริษัทที่มีการผลิตปุ๋ย หรือสารเคมีเกษตร ต้องมีการผลิตที่มีมาตรฐาน จะทำแบบเดิมไม่ได้ ที่นำเข้ามาขายแล้ว มีคนมาซื้อจะนำไปผลิตในยี่ห้อต่างๆตามใจชอบไม่ได้  เช่นสารพาราควอต ไปผสมเป็น3-4ยี่ห้อ ได้มาตรฐานหรือไม่ก็ไม่ทราบ  ดังนั้นต่อไปบริษัทต้นทางจะต้องปฏิบัติตามประกาศ3ฉบับ และต้องรับผิดชอบ”รมช.เกษตรฯกล่าว


น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า สำหรับร้านจำหน่ายสารเคมี จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย 23 พ.ค. 62  มีผลบังคับเมื่อ  20 พ.ย. 62 แล้ว ว่าจำกัดการใช้  ดังนั้นจะต้องมีการแยกมุมจำหน่าย 3 สาร ออกจากสารเคมีทั่วไปให้ชัดเจน ฉลากต้องตัวใหญ่ต้องแสดงให้ประชาชนได้เห็น ผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตการซื้อที่ถูกต้อง และต่อไปการอนุญาตจำหน่ายจะกำหนดให้  1 ทะเบียนต่อ  1 ชื่อการค้าเท่านั้นจะไม่ปล่อยให้ทำกัน 2-3 ชื่ออีก เมื่อมีปัญหาจะได้มีเอกชนรับผิดชอบถูกตัว  ประชาชนจะได้รู้ว่ายี่ห้อที่ประชาชนซื้อมาใช้ ผลิตโดยบริษัทอะไร  

 

นอกจากนั้นเพื่อแก้ปัญหาข้อครหาในเรื่องรับผลประโยชน์ในการขึ้นทะเบียน การต่ออายุสาร และการตรวจเช็คสารเคมีทั่วประเทศ รมช.เกษตรฯ จะกำหนดให้มีการทำทะเบียนร้านค้า ที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 1.4หมื่นร้านค้า  โดยให้แยกทำทะเบียนรายชื่อเอกชนผู้จำหน่ายสารเคมีเกษตร เป็นรายภาค และแต่ละภาค แยกทำเป็นรายจังหวัด เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าแต่ละจังหวัด มีร้านจำหน่ายสารเคมี ทั้งหมดกี่ร้าน

 

แต่ละร้าน มีการจำหน่ายสารเคมี อะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ และยอดจำหน่ายให้ส่งตัวเลขเป็นรายเดือนเพื่อให้หน่วยตรวจสอบที่มีหน้าที่ สามารถเข้าไปตรวจทะเบียนได้ อย่างรวดเร็วและเป็นการนำเอาทะเบียนการค้าขึ้นมาบนดินจะโปร่งใส ไม่มีข้อครหาจ่ายใต้โต๊ะ“โดยเฉพาะกรณี 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ให้กรมวิชาการเกษตร ทุกพื้นที่ จัดทำทะเบียนร้านค้าที่มีสาร 3 ตัวจำหน่าย แยกออกให้ชัดเจน เพื่อคุมปริมาณสต็อก และร้านค้า จำนวนสารที่มีในครอบครอง เพราะเป้าหมาย  1 มิ.ย. 2563  ต้องไม่มีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส   

 

มติกก.วัตถุอันตราย เดือนพ.ค.2562 จำกัดการใช้ ดังนั้นต้องเข้มงวดการจำหน่ายให้กับเกษตรกร ผู้ผ่านการอบรม อบรมการพ่นสาร  โดยให้รายงานจำนวนเป็นระยะ เพื่อคุมสต็อกให้เป็นปัจจุบัน ไม่ให้มีสต็อกเกินกว่าการรายงานไว้ 2.3หมื่นตัน  และสามารถติดตามเส้นทางการใช้สารทั้งระบบ และสำหรับไกลโฟเซต หากต่อไปจะมีการขอนำเข้า ขอให้มีการรายงานต่อรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้วย

 

รมช.เกษตรฯกล่าวต่อว่า   เพื่อให้มีการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในอนาคต ให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วย หน่วยราชการ เอกชน ผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย ผู้ทรงวุฒิ มาศึกษาว่าใน300 สารที่อนุญาต จะมีกี่ชนิด กี่ตัว ที่ควรยกเลิกการใช้และหรือ ให้มีการจำกัดการใช้ เนื่องจากเทคโนโลยีตรวจพิษ มีมากขึ้น และเพื่อรักษาประโยชน์ และสุขภาพประชาชน  โดยให้คณะทำงานให้แล้วเสร็จในเวลา 90วัน หาข้อสรุปให้ได้ว่าจะต้องยกเลิกสารอะไรเป็นตัวต่อไป 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ